สิ่งแวดล้อมวันนี้ มีเพียงจิตสำนึกบนริมฝีปาก

โดย โสภิดา วีรกุลเทวัญ
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

"เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนพูดกับกำแพง พูดแล้วกระเด้งใส่หน้าตัวเอง ถ้าไปบรรยายที่ไหนแล้วแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไป สมมุติมีคนฟัง 50 คน เหมือนมีพลาสติกหรือกระจกกั้นอยู่แล้วสะท้อนเข้าหาตัวผมคนฟังรู้สึกเหมือนผมพูดเรื่องอะไรไม่รู้"

ณ วันนี้ ธงชัย พรรณสวัสดิ์ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหา-วิทยาลัย น่าจะดีใจที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกคนรับรู้และพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง เขากลับไม่ค่อยแน่ใจนักเปรียบเทียบได้กับคำสอนในศาสนาคริสต์ที่บอกว่า... ห้ามเอ่ยนามพระผู้เป็นเจ้าโดยปราศจากความเคารพ... ฝรั่งพูดคำว่า GOD ทุกวัน จนกลายเป็นคำอุทานที่หาความหมายใดๆ ไม่ได้หรือว่าสิ่งเดียวกันนี้กำลังเกิดขึ้นกับคำว่า "สิ่งแวดล้อม"...???

กรุงเทพมหานคร พุทธศักราช 2537 การสัมผัสได้ถึงปัญหาจากสภาพความเป็นอยู่รอบตัวทำให้ยาจกที่นั่งขอเศษเงินอยู่ริมถนนธุรกิจสายสำคัญตลอดจนถึงนายกรัฐมนตรีที่รับรู้ว่า เราทุกคนกำลังถูกรมควันพิษในเมืองแห่งนี้ โดยไม่ต้องรอให้หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า กรุงเทพมหานครติดอันดับต้นๆ ในสิบอันดับแรกของเมืองที่มีอากาศเสียรุนแรงที่สุดในโลก

งานวิจัยที่ยังไม่เสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัยมหิดลได้ทำการศึกษาเรื่องคุณภาพชีวิตของ คนเมืองหลวงกับปัญหาสภาพแวดล้อมในกรุงเทพฯ ในทัศนะคนเมืองหลวงไม่ว่าจะเป็นเขตเมืองชั้นในชั้นกลางหรือชั้นนอก ห้าอันดับแรกคือปัญหาการจราจร ตามด้วยปัญหาอากาศเสียและควันพิษ ความเน่าเสียของนํ้าความแออัดของชุมชน และปัญหาขยะซึ่งก็ตรงกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่จัดอันดับไว้ในใจ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าสื่อต่างๆ ทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างบรรจุเรื่องราวที่เป็นความสนใจของผู้คนในสังคม การประชาสัมพันธ์รณรงค์ผ่านสื่อเหล่านี้สร้างความตื่นตัวให้กับคนทุกสาขาอาชีพตั้งแต่นักเรียนนักศึกษา ดารานักร้อง ตลอดจนนักธุรกิจระดับเล็กถึงระดับใหญ่

กิจกรรมของกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมีปรากฏให้เห็นแทบทุกวันในหน้าหนังสือ-พิมพ์ ในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิเช่น พลเอกวิมล วงศ์วานิช ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานร่วมใจรักษาสิ่งแวดล้อมโดยให้นักศึกษาวิชาทหารทำความสะอาด เก็บขยะ ตามเกาะรัตนโกสินทร์ 25 แห่ง ร่วมใจกำจัดผักตบชวาในคลองทวีพัฒนา

คุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุย แห่งดุสิตธานี ในฐานะประธานคณะกรรมการสาขาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและป้องกัยมลภาวะ หอการค้าไทยจัดงานรณรงค์ให้เยาวชนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษโดยการจัด ประกวดคำขวัญ

มล.ตรีทศยุทธ เทวกุล ก่อตั้งสโมสรคนรักแม่นํ้าเจ้าพระยาเพื่อร่วมสร้างสรรค์และฟื้นฟูแม่นํ้าเจ้า- พระ ยาโดยจัดงานแสดงศิลปะ "สานนํ้าไท" เป็นต้น ในภาคธุรกิจบริษัทเอกชนหลายแห่งมีแนวคิดในเรื่องสิ่งแวดล้อม ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลรณรงค์เรื่องการประหยัดนํ้า และมีการนำถุงพลาสติกย่อยสลายด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และกระบวนการทางชีวภาพมาใช้

ห้างแมคโครหันมาใช้พลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้แทนการใช้ถาดโฟมบรรจุอาหาร ห้างโรบินสันรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะประเภทต่างๆ ก่อนทิ้งลงถัง

สภาทนายความเสนอให้แก้ปัญหาระดับนโยบายในเรื่องอากาศเสีย โดยเรียกร้องให้รัฐบังคับใช้นํ้ามัน ไร้สารตะกั่วและไม่อนุญาตให้ผลิตรถจักรยานยนต์ 2 จังหวะที่ก่อให้เกิดปัญหาควันขาว

วันต้นไม้แห่งชาติ นายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย มีนโยบายเน้นเป็นพิเศษให้ปลูกต้นไม้เพื่อแก้ปัญหา สิ่งแวดล้อม

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้นที่พอจะให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า ทุกกลุ่มคนในสังคมต่างมีความตื่นตัวและอยากทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมกันแทบทั้งนั้น ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการบ่นสนทนาถึงปัญหาเหล่านี้กันในแทบทุกวงการ

แกรมมี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของบริษัทเอกชนที่สอดแทรกในการเสนอเรื่องราวด้านสิ่งแวดล้อม ระยะ หนึ่งอัลบั้มเกือบทุกชุดของศิลปินนักร้องในค่ายแกรมมี่จะมีเพลงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่นเพลงโลกเราสวยงาม ในอัลบั้มของนูโวชุดบุญคุณ ปูดำ เพลงนํ้าเสีย นํ้าใสของนรินทร ณ บางช้าง ในชุดอย่างแรง ที่ส่งผลให้วัยรุ่น ร้องเพลงที่สอดแทรกสาระอยู่บ้าง นอกเหนือจากเพลงรักหวานจ๋อยหรือเพลงอกหักเสียเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่รวมถึงรายการโทรทัศน์โลกสวยด้วยมือเรา รายการวิทยุกรีนเวฟที่ดีดีเจจะพูดคุยถึงปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทายปัญหากับแฟนรายการทางบ้าน เช่น ขยะในกรุงเทพฯ มีส่วนประกอบของอะไรมากที่สุด แฟนรายการที่ตั้งอกตั้งใจฟังอยู่ทางบ้านตอบคำถามถูกต้องจะได้รับรางวัลเป็นถุงผ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

หากยกตัวอย่างต่อไปอีกคงยืดยาวมากเสียจนใครหลายคนปรายตามองด้วยความเบื่อหน่ายแล้วทิ้งท้ายไว้ก่อนเดินจากไปว่า ...ชีวิตไม่ได้มีแต่สิ่งแวดล้อมนะจะบอกให้...

การประชาสัมพันธ์ในเรื่องสิ่งแวดล้อมและมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย แม้จะมีเสียงเล็ดลอดอยู่บ้างว่าเป็นเรื่องที่เห่อตามแฟชั่น แต่ก็คงไม่มีใครปฏิเสธถ้าจะบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่ดีหากถามต่อไปว่าแล้วทำให้อะไรดีขึ้นบ้าง ใครที่จะเป็นคนตอบคงต้องหยุดคิดชั่วอึดใจหนึ่ง ก่อนที่จะตอบแบบไม่อยากคิดว่า "ก็ดีกว่าไม่ทำอะไร" ขยะ ...เรื่องไม่เล็กของคนกรุง

"เราสร้างจิตสำนึกขึ้นมาถึงระดับหนึ่ง คิดว่าคุณภาพเยาวชนคงจะดีขึ้นในความคิดความอ่านสื่อมวล- ชนเขียนคอลัมน์ต่างๆ ประชาชนให้ความสนใจ แต่ละคนเริ่มทำอะไรมากขึ้น อย่างเรื่องขยะเราก็รักษาความสะอาดในบ้านหน้าบ้าน คนที่ทำแล้วเริ่มดูว่าข้างบ้านทำมั้ย เทศบาลทำมั้ย ความรู้สึกของคนขยับมาถึงขั้นที่มีความคาดหวังกับคนอื่น กับหน่วยงานรัฐมากขึ้นซึ่งภาครัฐจะต้องมาสอดรับต่อให้ได้ ถ้าทำไม่ได้สิ่งที่เราทำ มาก็ล้มเหลว"

คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช นายกสมาคมสร้างสรรค์ไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" สมาคมสร้างสรรค์ไทย หรือชื่อเล่นที่คุ้นหูมากกว่าว่า "ตาวิเศษ" เป็นองค์กรเอกชนที่รณรงค์ปัญหาสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ โดยเน้นเรื่องขยะอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2527

งานชิ้นแรกที่ติดหูติดตาคนกรุงมาจนทุกวันนี้คือโฆษณาชุด อ๊ะ...อ๊ะ..อย่าทิ้งขยะ ตาวิเศษเห็นนะ คุณหญิงชดช้อยได้ไอเดียจากลูกๆ ที่ชอบดูการ์ตูนเป็นสื่อโดยหวังให้เด็กๆ เป็นตำรวจช่วยตรวจตราในเรื่องการ รักษาความสะอาด

ตาวิเศษในยุคแรกเริ่มด้วยสายสัมพันธ์ของคุณหญิงชดช้อยซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ ทำให้สามารถดึงเพื่อน ฝูงที่อยู่ในวงการธุรกิจหลายคนมาร่วมระดมความคิดและใช้กลยุทธ์ทางการตลาดให้ "ตาวิเศษ" เป็นเสมือน สินค้าตัวหนึ่ง และยังมีบริษัทโฆษณาใหญ่อย่างลินตาสมาช่วยในเรื่องการตลาดอีกด้วยงานของสมาคมจึงประสบความสำเร็จอย่างเยี่ยมยอด ในแง่การประชาสัมพันธ์รณรงค์เรื่องขยะส่งผลให้ในระยะหลังบริษัทต่างๆ ที่ต้องการมีภาพพจน์ในงานด้านนี้เสนอตัวเข้าร่วมโครงการรณรงค์ต่างๆ ของสมาคมจำนวนไม่น้อย

ประเด็นที่คุณหญิงชดช้อยเห็นว่ากำลังเป็นปัญหาในเรื่องขยะคือ หลังจากที่รณรงค์ให้ประชาชนทิ้งขยะให้เป็นที่ รักษาความสะอาดแล้ว การจัดเก็บขยะซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของสำนักงานเขต และสำนักงานรักษาความสะอาดของกรุงเทพมหานครไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างสมบูรณ์ ทำให้หลายคนที่เริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตปฏิบัติในทางที่ถูต้องหมดกำลังใจมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะทำเพียงลำพัง

"ที่น่าเป็นห่วงคือปัญหาเพิ่มมากขึ้นทุกวัน การจัดเก็บไม่เป็นระบบอย่างจริงจังจะเป็นกี่ร้อยกี่พันเอ็นจีโอก็ทำไม่ไหว คนเขาจะลืมไปแล้วนะว่าหน้าที่ของเราไม่ใช่ไปเก็บขยะไปแยกแล้วนำไปรีไซเคิล เรายอมรับว่าการเข้าถึงประชาชนเรามีวิธีการต่างๆ ที่ดีกว่า แต่ในเวลาเดียวกันกับที่เราทำ รัฐต้องรองรับเราด้วย เราเป็นแค่หน่วยงานที่จะไปรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ความรู้ ช่วย กทม. เขากำลังจะลืมไปแล้วนะว่าการปฏิบัติงานทำงานอย่างจริงจังเพื่อแก้ปัญหาเป็นหน้าที่ของรัฐ" คุณหญิงชดช้อยระบายความอึดอัดใจที่มีต่อหน่วยงานของรัฐ

การแยกขยะที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้นั้นเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงว่าเป็นทางออกหนึ่งในการลดขยะของคนกรุง คุณหญิงเห็นว่าการรณรงค์ที่ผ่านมาในเรื่องการรักษาความสะอาดและทิ้งขยะในภาชนะที่รองรับนั้นเข้ากับสถานการณ์ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ระยะหลังขยะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจึงได้ขยับมารณรงค์ใน เรื่องการแยกขยะประเภทต่างๆ ก่อนทิ้งลงถังเพื่อที่จะได้ง่ายต่อการนำขยะส่วนที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ออก จากขยะที่จะส่งต่อไปกำจัด

ปัจจุบันนี้การทำถังขยะแยกประเภทเป็นที่แพร่หลาย เริ่มจากสำนักรักษาความสะอาดได้จัดทำถังขยะสามประเภทคือถังสำหรับขยะเปียก ขยะแห้งและเศษกระดาษ ทางสมาคมสร้างสรรค์ไทยร่วมกับห้างสรรพ- สินค้าโรบินสันจัดทำถังขยะสามประเภท คือถังสำหรับใส่ขยะทั่วไป ถังใส่พลาสติก แก้วและโลหะ และถังใส่กระดาษ ทางเซ็นทรัลเองก็ได้จัดทำถังขยะแยกประเภทด้วยเช่นกัน โดยจัดทำเป็นห้าประเภทแยกถังใส่พลาสติกออกจากโฟม

สำนักรักษาความสะอาดได้จัดทำโครงการขยะแยกถังมาได้ราวสองปีเศษ ชุมพร พลรักษ์ ผู้อำนวยเขตปทุมวันได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งว่า ทางเขตปทุมวันได้นำถังไปวางตามจุดทิ้งขยะบน ถนนหลายสาย พบว่าค่อนข้างประสบความล้มเหลวเพราะทั้งขยะเปียกและขยะแห้งยังคงปะปนกัน

"ตอนที่เราเริ่มเรื่องการรีไซเคิล เราก็พยายามติดต่อบริษัทที่รับสิ่งเหล่านี้กลับไปผลิตได้ ร่วมกับทางกทม. เชิญผู้ผลิตสินค้าที่ใช้วัตถุดิบเหล่านี้มาให้ข้อมูลว่า เขาสามารถใช้ขยะที่ทิ้งได้ขนาดไหนเพื่อสร้างระบบรองรับการรีไซเคิลขึ้นมา ในเมืองนอกเทศบาลไหนที่พร้อมเรื่องการรีไซเคิลเขาจะตั้งโรงงานขึ้นมาเพื่อที่จะรองรับ มีรถขนขยะแต่ละประเภทเป็นกระบวนการที่ยาวหน่อยและแพงแต่ก็มีความจำเป็นสำหรับสิ่งแวดล้อม ตอนนี้อย่างน้อยเราก็พยายามให้ประชาชนรู้เรื่องรีไซเคิลไปก่อน"

คุณหญิงชดช้อยชี้ถึงจุดที่เธอเห็นว่ายังไม่มีกระบวนการสอดรับต่อจากการรณรงค์ให้มีการแยกขยะและ ตราบใดที่กระบวนการนี้ยังไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจังถุงขยะที่ได้รับการแยกเหล่านั้น ก็ถูกโยนไปกองอยู่ในรถเก็บ ขยะคันเดียวกันและพร้อมที่จะแตกออกมาปนเปื้อนกับขยะอื่นๆ ทำให้การแยกขยะที่สู้อุตส่าห์รณรงค์ให้เห็นประโยชน์กันอย่างแพร่หลายหมดความหมายไปอย่างช่วยไม่ได้

หากให้ความหมายของการรีไซเคิลหรือการนำกลับมาใช้ที่พูดถึงกันมากในตอนนี้ว่าเป็นเรื่องการแยก ขยะประเภทกระดาษ ขวดแก้ว โลหะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่นั้น สิ่งนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องใหม่นักในสังคมไทย ภาพซาเล้งที่เข้าไปรับซื้อกระดาษหนังสือพิมพ์เก่า รับซื้อขวดเบียร์ ขวดเหล้า มีให้เห็นอยู่แม้กระทั่งทุกวันนี้คนจำนวนไม่น้อยหาเช้ากินคํ่าจากสิ่งที่คนทั่วไปโยนทิ้งอย่างไม่แยแส นับตั้งแต่ซาเล้งที่มีการรับซื้ออย่างค่อน ข้างเป็นกระบวนการไปจนถึงเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะของสำนักงานเขต เลยไปถึงผู้คนจำนวนหนึ่งที่หากินอยู่กับการคุ้ยขยะบนภูเขาขยะที่หนองแขมและอ่อนนุช ซึ่งเป็นสถานที่เทกองของขยะกทม. ตลอดเส้นทางของขยะผู้คนที่ทำเพื่อปากท้องเหล่านี้ได้เข้าไปช่วยในการลดปริมาณขยะอย่างไม่ได้ตั้งใจ

กระดาษที่ซาเล้งมารับซื้อตามบ้านเรือน จะถูกนำไปรวมกันที่ศูนย์เพื่อรวบรวมไปยังโรงงานกระดาษ โรงงานจะนำกระดาษเหล่านั้นมาเข้าเครื่องสับละเอียดเพื่อตีเข้ากับเนื้อเยื่อกระดาษใหม่ ตัวกล่องกระดาษด้านในที่เป็นกระดาษลูกฟูกลอนๆ หรือกระดาษชำระที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำกระดาษเก่าผ่าน กระบวนการและนำกลับมาใช้ใหม่

การนำกระดาษกลับมาใช้ใหม่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เมื่อถึงวันนี้วันที่สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องทันสมัย กระดาษรีไซเคิลกลายมาเป็นสัญญาลักษณ์แสดงถึงความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมของผู้ใช้

บทบาทของภาคธุรกิจเอกชนอย่างห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าต่างๆ ได้รับการกล่าวถึงค่อนข้างมากว่าเป็นแหล่งผลิตขยะแหล่งใหญ่ เนื่องจากเป็นสถานที่จับจ่ายใช้สอยของคนกรุง มีการใช้โฟมบรรจุอาหาร ถุงพลาสติกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในซุปเปอร์มาร์เก็ต

เซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ของกรุงเทพที่ขยายสาขาถึง 13 แห่ง ได้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้นเมื่อปี 2534 มีกิจกรรมเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อสาธารณประโยชน์หลายอย่าง งานที่เซ็นทรัลค่อนข้างภูมิใจ มากคือการเป็นผู้ริเริ่มนำถุงพลาสติกประเภทที่ย่อยสลายได้ด้วยแสงอาทิตย์และกระบวนการทางชีวภาพมาใช้เพื่อช่วยในเรื่องปัญหาขยะ ปัจจุบันมีห้างร้านต่างๆ ที่ใช้ถุงย่อยสลายด้วยแสงอาทิตย์แบบเดียวกับที่เซ็นทรัลใช้อยู่ 40 แห่งและถุงที่ย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการทางชีวภาพ 4 แห่ง

"เราใช้ถุงย่อยสลายนี้มาปีเศษแล้วถุงพลาสติกโดยทั่วไปเฉลี่ยใบละประมาณ 50 สตางค์ ส่วนถุงที่ย่อยสลายด้วยแสงอาทิตย์ใบละ 60 สตางค์ แต่ถ้าเป็นถุงที่ย่อยด้วยชีวภาพต้นทุนสูงถึง 65 สตางค์ ต้นทุนที่แพง ขึ้นนี้เราไม่ได้ใช้กำไรของซุปเปอร์มาร์เก็ตมาทำ แต่ใช้งบพิเศษของบริษัทเวลานี้เรามีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากสารบางตัวที่ใช้ผลิตถุงนี้เป็นวัตถุที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ สิ่งแวดล้อมไม่ใช่ของถูก ถ้าหากรัฐเห็นประโยชน์ในสิ่งเหล่านี้น่าจะช่วยในเรื่องการลดภาษีได้"

ประทีป นครชัย ผู้อำนวยการฝ่ายสาธารณกิจของห้างเซ็นทรัล และผู้จัดการมูลนิธิเพื่อ

สิ่งแวดล้อมกล่าวถึงบทบาทของห้างที่เข้ามาช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อมแม้ว่าจะต้องเสียต้นทุนที่สูงขึ้นก็ตาม

"ถุงพลาสติกเหล่านี้ย่อยสลายได้ด้วยแสงอุลตร้าไวโอเลต ถ้าเผื่อจะให้ย่อยได้ต้องเอาถุงพลาสติกไปตากแดด ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือขยะที่กองทับถมในรถขยะกทม. ถูกนำไปกำจัดโดยวิธีฝังกลบและเทกองสูงเป็น ภูเขาขยะ กทม.ไม่ได้มีหน้าที่เอาถุงเหล่านี้ไปตากแดดเมื่อไม่โดนแดดพลาสติกก็ไม่แตกตัว เมื่อไม่แตกตัวแบคทีเรียก็กินไม่ได้ ถุงก็ไม่ย่อยสลาย" นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นในอีกแง่มุมหนึ่งเอกชนที่มีความต้องการจะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจคิดไม่ถึง

องค์ประกอบของขยะจำนวนมากที่สร้างปัญหาเกิดจากการบริโภค ซึ่งรับเอากระแสวัฒนธรรมตะวัน- ตกเข้ามาสู่สังคมเมือง ตัวอย่างเช่นเครื่องดื่มจากกระป๋องที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นแทนขวดซึ่งนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่ายกว่า อันที่จริงแล้วกระป๋องเหล่านี้สามารถรวบรวมกลับมาหลอมและนำกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของ วัตถุดิบได้แต่ในสภาพที่เกิดขึ้น คือการจัดเก็บที่ไม่เป็นระบบทำให้กระป๋องส่วนใหญ่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ แม้ว่าซาเล้งจะเข้าไปมีส่วนช่วยในการเก็บอยู่บ้างก็ตาม

"ผมคิดว่า ควรจะเป็นหน้าที่ของผู้ผลิต เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่ผลิตสินค้าประเภทนี้ออกมาขายให้กับผู้บริโภคเพราะถ้าเขาไม่ผลิตออกมาคนก็ไม่มีโอกาสทิ้ง อันนี้เป็นความรับผิตชอบทางสังคม ทีนี้สังคมไม่แข็งแกร่งพอที่จะบอกว่าเป็นความรับผิดชอบของเขา เราก็เลยปล่อยให้ทิ้งไปแบบนี้เขาอาจจะบอกว่าเขารับผิดชอบก็ได้แต่ต้องเพิ่มกระป๋องละสลึง ก็เพิ่มไปสิเพื่อเป็นแรงจูงใจให้นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ใช่ปล่อยให้ธรรม-ชาติเป็นตัวรองรับ" ธงชัย พรรณสวัสดิ์กล่าว

หากพิจารณาในแง่การจัดการเรื่องขยะแล้วจะพบว่ามีปัญหาตลอดทั้งกระบวนการซึ่งแบ่งออกเป็นสอง ขั้นตอนใหญ่ๆ คือการจัดเก็บ และการกำจัด

ปริมาณขยะของกรุงเทพฯ ปัจจุบันประมาณ 6,000 ตันต่อวัน เหลือเป็นมูลฝอยตกค้างที่ไม่ได้รับการจัดเก็บวันละประมาณ 600 ตัน กทม.มีวิธีการกำจัดสามวิธีคือ การหมักให้ขยะย่อยเป็นปุ๋ยซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น การกำจัดโดยเอกชนประมูลไปฝังกลบที่นครปฐมประมาณครึ่งหนึ่งของปริมาณทั้งหมดและการเทกองกลางแจ้งที่อ่อนนุช และหนองแขม ซึ่งวิธีการนี้แทบจะเรียกว่าไม่ได้มีการจัดการใดๆ (ดูเส้นทางขยะของกรุงเทพมหานครประกอบ)

การกำจัดขยะเป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาขยะประมาณสามในสี่ที่กทม.จัดเก็บถูกนำมาเทกองรวมกันจนเป็นภูเขาขยะที่อ่อนนุชและหนองแขม จนกระทั่งราวสองสามปีมานี้จึงมีการประมูลให้เอกชนเข้ามาช่วยกำจัดโดยการนำไปฝังกลบ

กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ว่ากทม.ได้สะท้อนปัญหานี้ในงานอภิปรายเรื่องการวิจัยกับการแก้ไขปัญหากรุงเทพมหานครช่วงกลางปีที่แล้วว่า

"เรามีกองขยะใหญ่ที่อ่อนนุช หนองแขมประมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งต้องทำทางใดทางหนึ่ง อาจจะจ้างเอกชนนำไปกำจัดให้ถูกสุขลักษณะต้องใช้เวลาถึงสองปี หรือไม่ก็ทำลายหุบเขาคลุมด้วยดินเสีย เป็นวิธีการที่ทำได้เร็วกว่าและถูกกว่า ภายในสองปีนี้จะเป็นการทำลายขยะประจำวันพร้อมๆ กับทำลายกองขยะใหญ่ที่สะสมมาหลายสิบปี"

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่หมักหมมมานานก็ยังคงหมักหมมต่อไปจนกว่าจะมีงบประมาณก้อนใหญ่ในการแก้ไขปัญหาตกมาถึง...

ขยะสารพิษเป็นภยันอันตรายเงียบๆ ที่ยังไม่ได้รับการกล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นกระป๋องยาฆ่าแมลง ถ่านไฟฉาย หลอดนีออน ที่เพิ่มปริมาณการใช้ในแต่ละครัวเรือนมากขึ้นทุกวัน ขยะจำพวกนี้เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้วไปอยู่ที่ไหน

"จมอยู่ในกองขยะทั่วไป" ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ตอบปัญหาในเรื่องนี้ เขายกตัวอย่างถ่านไฟฉายที่จมอยู่ในกองขยะเมื่อฝนตก กองขยะจะเน่า เกิดแบคทีเรียเข้าไปกัดกินตัวถ่านหมดอายุที่เยิ้ม เมื่อฝนตกชะเอาสารต่างๆ ไหลซึมลงใต้ดินปนเปื้อนกับแหล่งนํ้าและอาจซึมเข้าไปชั้นบาดาล และเมื่อวันนั้นมาถึงปัญหาต่างๆ คงสายเกินแก้ ...

"ในถ่านไฟฉายจะมีโครเมียม นิเกิล ทองแดง มันก็เหมือนกับแร่ต่างๆ ที่อยู่ในสินแร่ใช้ทางวิศวกรรม ไปดึงออกมาและนำกลับมาใช้ใหม่ ตอนแรกอาจเป็นเรื่องของเครื่องกลตีให้มันแตก และใช้วิธีเคมีสกัดออกมา การสกัดออกมาเป็นส่วนๆ เขามีเทคโนโลยีอยู่แล้ว อย่างนี้ผมถึงเรียกว่ารีไซเคิล"

นักวิชาการได้ชี้ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้กำลังจะเป็นอันตราย ขณะเดียวกันก็มีเทคโนโลยีที่จะเป็นทางออก ของปัญหาได้แต่ในการจัดการแก้ไขยังไม่มีคำตอบว่าใครจะเป็นผู้ลงมือปฏิบัติการกับภัยมืดที่ยังมองไม่เห็น

เมื่อมองดูภาพรวมของปัญหาขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด แล้วย้อนกลับไปที่การประชาสัมพันธ์ รณรงค์ในปัญหานี้ จะพบว่าเนื้อหาในการประชาสัมพันธ์เป็นเพียงขั้นตอนต้นๆ ที่มีส่วนแก้ปัญหาในระดับผิวเผินเท่านั้น อากาศเสีย...สิ่งคู่กายคนไทยวันนี้

อากาศเสียเป็นปัญหาที่คนกรุงมีโอกาสสัมผัสได้ใกล้ชิดมากที่สุด แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลับมีหน่วยงานเอกชนที่รณรงค์ในเรื่องนี้ไม่มากนัก การรณรงค์ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นเรื่องค่อนข้างลำบาก ต้องใช้ความรู้เทคนิคทางวิชาการในการทำความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไข

หน่วยงานเอกชนที่ให้ความสนใจติดตามปัญหาอากาศเสียและควันพิษ ได้แก่โครงการพัฒนาคุณภาพ ชีวิตของนายแพทย์บุญเทียม เขมาภิรัตน์ และชมรมป้องกันควันพิษ ของดร.พิจิตต รัตตกุล ทั้งคู่ต่างเคยเป็นแคนดิเดทผู้ว่าฯ กทม.ระยะหลังงานรณรงค์ของหมอบุญเทียมร่วมกับภาครัฐในการตรวจจับควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์เงียบหายไป ส่วนงานของชมรมป้องกันควันพิษ ซึ่งต่อมาจดทะเบียนเป็นมูลนิธิป้องกันควันพิษ และพิทักษ์สิ่งแวดล้อมยังมีงานรณรงค์ออกมาเป็นระลอกๆ

"เราเริ่มรณรงค์ตั้งแต่ปี 2533 ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าอากาศเสียคือปัญหา ถ้าเราทำการรณรงค์โดยขาดรูป-ธรรม มันจะเป็นการพูดเฉยๆ แล้วในที่สุดก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมา เราเริ่มงานโดยวิธีปฏิบัติเลยว่าให้นำนํ้ามันไร้สารตะกั่วมาใช้ เอารายชื่อให้คนกรุงเทพเซ็น คนเขารู้อยู่แล้วว่าสิ่งแวดล้อมไม่ดี การจะไปตอกยํ้าอยู่เรื่อยๆ คนปวดหัวเปล่าๆ ต้องบอกวิธีแก้ไขเลยว่าคืออะไร"

ดร.พิจิตต ค่อนข้างจะมีจุดแข็งในการทำการรณรงค์เนื่องจากสามารถดึงเอาศักยภาพของความเป็นนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และการเข้าถึงมวลชนในการทำงานทางการเมืองมาใช้ผสมผสานกันและในขณะเดียวกันก็ไม่เน้นในเรื่องความเป็นพรรคการเมืองมากเกินไป ทำให้ได้รับการยอมรับในวงกว้าง

สื่อที่มูลนิธิป้องกันควันพิษฯ ใช้ในการประชาสัมพันธ์ส่วนใหญ่เป็นแผ่นป้ายติดบนเสาไฟฟ้าตามสี่แยกต่างๆ ให้ความรู้กับประชาชน เช่น คนกรุงเทพเก้าแสนคนเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเนื่องจากฝุ่น-ละอองและควันพิษ เป็นต้น มูลนิธิได้รณรงค์ให้ตำรวจจราจรแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการสวมหน้ากากป้องกันควันพิษ ในระยะแรกได้รับความสนใจเป็นอย่างมากและค่อยๆ เงียบหายไปตามกาลเวลา

สาเหตุใหญ่ของปัญหาอากาศเสียในกรุงเทพฯ มาจากการคมนาคมขนส่งร้อยละ 80 ตัวเลขจากกรมการขนส่งทางบกระบุว่าปี 25335 จำนวนรถยนต์ในกทม. สูงถึง 2,475,654 คัน และยอดจดทะเบียนรถใหม่ในเขตกทม. ระหว่างเดือนมกราคมถึงกันยายนมีจำนวน 324,818 คัน โดยเฉลี่ยแล้ว จะมีรถเพิ่มเฉลี่ยเดือนละประมาณหนึ่งหมื่นคัน การจราจรติดขัดจึงเป็นปัญหายิ่งใหญ่ที่สุดของคนกรุงเทพฯ ตามติดด้วยปริมาณอากาศเสียที่เพิ่มสูงถึง 6 เท่าระหว่างที่จราจรติดขัด

คุณภาพนํ้ามันและคุณภาพรถยนต์แต่ละคันเป็นเหตุทำให้คุณภาพอากาศเลวร้าย จากการเรียกร้องของ หลายฝ่าย หน่วยงานรัฐได้ปรับปรุงคุณภาพนํ้ามันดีเซลโดยการลดอุณหภูมิการกลั่นจาก 370 องศาเซลเซียส เหลือ 357 องศาเซลเซียส การลดอุณหภูมิการกลั่นให้ตํ่าลงทำให้เขม่าจากการกลั่นตกค้างอยู่ที่โรงกลั่นแทนที่จะติดมากับนํ้ามันและกลายเป็นควันดำที่ปล่อยจากท่อไอเสียของรถที่ใช้นํ้ามันดีเซลบนท้องถนน แต่การลดอุณหภูมิการกลั่นลงทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 3-4 เช่นจากเดิมเคยได้ 100 ลิตร จะเหลือเพียง 96 ลิตร โรงกลั่น นํ้ามันจึงไม่ค่อยเต็มใจในการลดกำไรของตนเองมากนัก

ปัจจุบันนํ้ามันที่ใช้กันอยู่ จึงมีทั้งนํ้ามันดีเซลที่มีอุณหภูมิการกลั่น 370 องศา และ 357 องศา เช่นเดียวกับนํ้ามันเบนซินที่มีทั้งชนิดไร้สารตะกั่วและชนิดมีสารตะกั่ว การรณรงค์ให้ผู้ใช้รถเติมนํ้ามันไร้สารตะกั่วค่อนข้างแพร่หลาย แต่ปริมาณการใช้ยังคงน้อยอยู่คือมีเพียงร้อยละ 24 เท่านั้น ตามนโยบายของรัฐกำหนดไว้ว่าปี 2539 จะเหลือเพียงนํ้ามันเบนซินชนิดไร้สารตะกั่วเพียงอย่างเดียว หากไม่มีการโยกโย้เลื่อนกำหนดระยะเวลาการใช้ออกไปอีก

สำหรับในเรื่องคุณภาพรถนั้น ดร.พิจิตต เสนอว่ากรมการขนส่งทางบกควรเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วน ในการช่วยการตรวจคุณภาพรถให้การปล่อยของเสียอยู่ในมาตรฐานที่กำหนด เพราะลำพังการตรวจของกรมการขนส่งทางบกที่รับผิดชอบอยู่นั้นจะติดปัญหาเรื่องกำลังเจ้าหน้าที่ และงบประมาณในการลงทุนอุปกรณ์เครื่องมือ

"ถ้าร่างกฎระเบียบของกรมการขนส่งทางบกออกมา เอกชนก็สามารถลงทุนเครื่องมือเหล่านี้ได้และเขาก็มีวิธีแก้ไขปรับปรุงให้กับรถที่ไปตรวจให้ตรงกับมาตรฐาน สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือถ้าเรารณรงค์ว่าคุณอย่าให้รถปล่อยของสกปรกออกมา คนที่เป็นเจ้าของรถไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร ขับรถอยู่มีคนบอกว่ารถคุณควันดำ มันต้องมีสถานที่บอกได้ว่าสกปรกแค่ไหนและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้ด้วย" ดร. พิจิตตเสนอแนะ ของเสียจากยานพาหนะที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ คือฝุ่นละออง คาร์บอนมอนอกไซค์ และตะกั่ว ในบรรดาสารทั้งสามตัวนี้ตัวที่ก่อให้เกิดผลอันตรายถึงชีวิตเมื่อสูดดมเข้าไปมากๆ ได้แก่ คาร์บอนมอ-นอกไซค์ อาการอ่อนเพลีย แน่นหน้าอก เป็นสัญญาณเตือนภัยที่บอกให้รู้ว่าได้รับก๊าซตัวนี้เข้าไปจำนวนหนึ่ง แล้ว และหากยังคงสูดดมต่อไปจนถึงจุดหนึ่งอาจเสียชีวิตได้

แต่ในปัจจุบัน การตรวจสอบควันเสียจากรถยนต์ มีเพียงควันดำเท่านั้นที่ได้รับการตรวจสอบ ???...

"มีการตรวจจับเฉพาะควันดำเพราะมันเห็นชัด สำหรับคาร์บอนมอนอกไซค์ ไม่มีเครื่องมือในการ ตรวจ วิธีการตรวจต้องวัคที่เครื่องวิ่ง 2000 รอบต่อนาที ต้องมีแท่นให้รถขึ้นไปจอด และเร่งเครื่องบนแท่นนั้น ซึ่งเราไม่มีอุปกรณ์นี้ เราก็เลยจับแต่ควันดำ ตัวควันดำก่อให้เกิดความระคายเคืองก็จริง แต่ไม่ถึงตาย สำหรับคาร์บอนมอนอกไซค์ เป็นก๊าซที่เรามองไม่เห็น เราก็บอกว่าไม่เป็นไร" ธงชัย พรรณสวัสดิ์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เขาแสดงความเห็นในเรื่องการติดตั้งเครื่องฟอกไอเสียรถยนต์ (CATALYTIC CONVERTER) ที่เริ่มใช้กับรถใหม่ที่เติมนํ้ามันไร้สารตะกั่วเมื่อต้นปี 2536 โดยหวังว่าเครื่องฟอกตัวนี้จะเป็นตัวที่ทำให้คาร์บอนมอนอกไซด์กลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์และช่วยทำให้เกิดไนโตรเจนออกไซด์นั้น จะใช้ได้มีประสิทธิภาพ ต่อเมื่อมีการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ที่ดีเท่านั้น

"ถ้าตัวเครื่องฟอกไอเสียเกิดเสียขึ้นมา ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ราคาเป็นหมื่น ในเมื่อไม่มีการตรวจจับคาร์บอนมอนอกไซด์ เจ้าของรถก็ไม่เอาไปเปลี่ยน การตรวจจับคาร์บอนมอนอกไซด์มันยากต้องมีเครื่องมือ เขาก็เลยคิดเอากล่องมหัศจรรย์นี้ไปติดที่รถ แต่ลืมคิดไปว่ากล่องนี้มีอายุและจะใช้งานได้ต่อเมื่อเครื่องยนต์ดี ในสภาพบ้านเรากล่องนี้คงจะใช้ได้ซักสามเดือนแล้ก็กลายเป็นกล่องพลาสติกติดอยู่ที่รถ ซึ่งเป็นการเสียเงินโดยใช่เหตุ เราไม่ได้บอกว่าตัวนี้ไม่ดีแต่ควรจะตั้งมาตรฐานการปล่อยของเสียออกมาและทำอะไรก็ได้ให้ได้ตามมาตรฐานนั้น" ธงชัยชี้ให้เห็นถึงการจัดการปัญหาที่ไม่ถึงต้นตออย่างแท้จริง

คุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครฉายแววแห่งความเลวร้ายตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้ว จากการศึกษาของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ช่วงปี 2522-2533 พบว่าเข้มข้นสูงสุดของคาร์บอนมอนอกไซด์ในอากาศถึง 41.6 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินขีดมาตรฐานของสหรัฐที่กำหนดค่าเป็น 35 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์-เมตรเฉลี่ย 1 ชั่วโมง

สำหรับเวลานี้ จากการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษพบว่าฝุ่นละอองเป็นตัวก่อปัญหามากเกินกว่า มาตรฐานอยู่ในระดับที่รุนแรง โดยเฉพาะบริเวณที่มีการจราจรแออัดอย่าง ย่านเยาวราช สีลม หัวหมาก ประตูนํ้า สำหรับค่าเฉลี่ยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และสารตะกั่วตลอดทั้งปี 2535-2536 พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ตํ่ากว่ามาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม มาตรฐานที่เมืองไทยใช้อยู่ในเวลานี้ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานของคาร์บอนมอนอกไซด์หรือสารตะกั่ว ล้วนเป็นค่าที่ตํ่ากว่ามาตรฐานสากล

"เรื่องอากาศเสียต่างจากเรื่องขยะไม่ใช่เรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างเดียว อย่างถ้าเราพูดถึงการไม่ ใช้โฟมเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่ ของผู้ผลิตเสียส่วนหนึ่ง แต่เรื่องอากาศ ผมคิดว่าผู้บริโภคคือเจ้าของรถสองล้านคัน เขามีจิตใจพร้อมที่จะช่วยลดอากาศเสียในกรุงเทพฯ แต่รัฐต้องมีกฎเกณฑ์ ผู้ผลิตรถต้องยอมลงทุนในการทำรถที่สะอาด ไม่ใช่ว่าจะผลิตรถขายแต่เพียงอย่างเดียว" อดีตผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กรุงเทพกล่าว นํ้า...ปัญหาที่ยังหาคนตระหนักน้อย

ขยะและอากาศเสีย เป็นปัญหาที่แต่ละคนเห็นชัดว่าตนเองมีส่วนร่วมในการสร้างปัญหาเหล่านั้น ส่วนนํ้าเสียปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่คนกรุงกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ กลับเป็นสิ่งที่แต่ละคนไม่ค่อยรู้ตัวว่าตน มีส่วนร่วมมากนัก หรือถึงรู้ตัวก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาในระดับปัจเจกชนจนกระทั่งถึงวันหนึ่งที่คลองทุกสายในกรุงเทพฯ เน่าสนิท ส่งผลถึงแม่นํ้าเจ้าพระยาตอนล่างบางบริเวณเริ่มมีสีดำคลํ้าส่งกลิ่นโชย พอให้รับรู้ถึงความวิกฤติที่กำลังมาเยือน

ความตื่นตัวในการรับรู้ถึงปัญหาของคูคลอง และแม่นํ้าเจ้าพระยาเป็นไปอย่างต่อเนื่องมาหลายปี สมาคมสร้างสรรค์ไทยทำการประชาสัมพันธ์โครงการรักเจ้าพระยากับตาวิเศษ มีการรณรงค์กับคนกรุงทั่วไปไม่ให้ทิ้งขยะลงแม่นํ้าลำคลองรณรงค์เฉพาะกลุ่มกับร้านอาหาร ภัตตาคารริมแม่นํ้าให้สร้างบ่อดักไขมันเพื่อกรองสิ่งสกปรกก่อนทิ้งลงสู่แหล่งนํ้าสาธารณะ การรณรงค์ของกรุงเทพมหานครร่วมกับสมาคมพัฒนาคุณภาพ ชีวิตที่มี จิรพล สินธุนาวา เป็นเลขขาธิการเชิญชวนร้านค้าในตลาดสดใช้ถังดักไขมันก่อนทิ้งนํ้าเสีย

มีการจัดตั้งคณะกรรมการโลกสวยด้วยมือเราโดยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนแก้ปัญหาคูคลองภายใต้ชื่อโครงการนํ้าใสสู่คลองสวย เริ่มจากคลองผดุงกรุงเกษม เป็นแห่งแรกโดยใช้ระบบบ่อเติมอากาศเพื่อเพิ่มออกซิเจนลงในนํ้าและประกาศให้บริเวณนั้นเป็นเขตรักนํ้า มีการจำลองบรรยากาศกรุงรัตนโกสินทร์ยุคที่ได้รับสมญานามเวนิสตะวันออกเพื่อให้คนในปัจจุบันรำลึกถึงความสะอาดสดใสในอดีต

การแก้ไขปัญหานํ้าเสียเป็นเช่นเดียวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่จะต้องมองปัญหาทั้งกระบวนการและลงมือจัดการในทุกแหล่งกำเนิดของปัญหาเหล่านั้น โครงการคลองสีเขียว โครงการนํ้าใสสู่คลองสวย หรือโครงการที่รณรงค์อื่นใดเกี่ยวกับคลอง คงไม่อาจคืนความสดใสให้กับคลองได้ตราบเท่าที่คลองซึ่งมีความ- หมายมากมายในอดีตทำหน้าที่เป็นเพียงรางระบายนํ้าทิ้งของทุกครัวเรือนในกรุง ทั้งที่ทิ้งโดยตรงและทิ้งผ่านท่อระบายนํ้าของกรุงเทพมหานคร

สาเหตุของนํ้าเสียในแถบแม่นํ้าเจ้าพระยาตอนล่างช่วงที่ไหลผ่านกรุงเทพมหานคร เป็นที่รับรู้กันว่าเป็นนํ้าเสียจากชุมชนร้อยละ 700 ที่เหลือมาจากอุตสาหกรรม ทั้งนี้เป็นเพราะบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของอาคารบ้านเรือนเสียเป็นส่วนใหญ่แต่ละครัวเรือนทิ้งนํ้าเสียลงท่อระบายนํ้าไหลลงสู่คูคลองสายต่างๆ จนกระทั่งไหล ลงสู่แม่นํ้าเจ้าพระยาในที่สุด จำนวนประชากร อาคารบ้านเรือนที่เพิ่มมากขึ้นเป็นตัวเพิ่มปริมาณนํ้าเสียมากเป็นทวีคูณจนเกินกว่าที่กำลังของธรรมชาติจะบำบัดได้

ธงชัย พรรณสวัสดิ์ และคณะได้ทำการศึกษาความสกปรกของนํ้าเสียจากกิจกรรมต่างๆ ในกรุงเทพฯ พบว่าภัตตาคารร้านอาหารเป็นกิจกรรมที่มีส่วนก่อให้เกิดมลพิษทางนํ้ามากที่สุด คือปริมาณความสกปรกถึง 49,660 กิโลกรัมบีโอดีต่อวัน ทั้งนี้เศษอาหารที่ปะปนมากับนํ้าล้างอาหารและจานชามเป็นส่วนที่ก่อให้เกิดความสกปรกแก่แม่นํ้าลำคลองได้มาก กิจกรรมรองลงมาได้แก่ ตลาดสด

ส่วนความสกปรกจากกิจกรรมของคนกรุงเท่ากับ 53 กรัมโอดีบีต่อคนต่อวันซึ่งมาจากนํ้าส้วมร้อยละ 21.4 นํ้าาเสียจากการอาบนํ้าร้อยละ 31.1 ซักผ้าร้อยละ 6.6 และนํ้าจากการทำครัวมีความสกปรกถึงร้อยละ 50.3 ตามลำดับแต่นํ้าเสียจากส้วมนั้นจะผ่านบ่อเกรอะหรือบ่อซึม ก่อนที่จะปล่อยลงท่อระบายนํ้าทำความสกปรกลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่ง ขณะที่นํ้าเสียจากส่วนอื่นๆ เป็นการไหลลงสู่ท่อระบายนํ้าสาธารณะโดยตรง

"ที่ผ่านมาเรามีการบำบัดนํ้าเสียขนาดเล็กมาก ทำไว้เฉพาะแห่ง แถวชุมชนห้วยขวาง คลองจั่น การเคหะแห่งชาติเขาทำไว้แล้วโอนให้กทม. ถ้าเราพูดโดยรวมก็ต้องบอกว่าไม่มี ตอนนี้กรุงเทพมีนํ้าเสียวันละล้านสองแสนลูกบาศก์เมตรเป็นนํ้าจากชุมชนเสียเป็นส่วนใหญ่ เวลาเราทิ้งไปนํ้าเสียลงคลองส่งต่อถึงเจ้าพระ- ยาทำให้ช่วงสะพานกรุงเทพลงไปนํ้าสีดำคลํ้ามากส่งกลิ่นเหม็น ถ้าทิ้งไว้อีกห้าหกปีสภาพเจ้าพระยาคงเหมือนคูคลองในกทม." มานะ นพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักระบายนํ้า กรุงเทพมหานครกล่าว

กรุงเทพมหานครมีแนวคิดเรื่องการบำบัดนํ้าเสียชุมชนมาตั้งแต่ปี 2524 สิบปีต่อมาจึงได้รับอนุมัติโครงการ เวลานี้การบำบัดนํ้าเสียรวมได้รับการกล่าวถึงมาก หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นทางออกสำหรับปัญหานํ้าเสีย โครงการบำบัดนํ้าเสียรวมแห่งแรกคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในปีนี้มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือโรงบำบัดนํ้าเสีย สี่พระยา คลุมพื้นที่ 2.7 ตารางกิโลเมตร สามารถบำบัดนํ้าเสียได้ 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยรับนํ้าเสียจากประชาชนจำนวนหนึ่งแสนคน ในเขตป้อมปราบและส้มพันธวงศ์

เมื่อเปรียบเทียบปริมาณนํ้าเสียที่ได้รับการบำบัดจากโครงการแห่งแรก กับปริมาณนํ้าเสียทั้งหมดที่คนกรุงก่อขึ้นโครงการนี้สามารถช่วยบำบัดนํ้าเสียได้เพียงร้อยละ 2.5 เท่านั้น สำหรับโครงการบำบัดนํ้าเสียรวมระยะที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีขีดความสามารถในการบำบัดนํ้าเสีย 350,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จราวปลายปี 2539 ซึ่งจะช่วยในการบำบัดเพิ่มเป็นร้อยละ 31.6 และกว่าทั้ง 6 โครงการที่กทม. มีแผนในการก่อสร้างจะเสร็จสิ้นคาดว่าเป็นปี 2542 จะสามารถบำบัดนํ้าเสียจากชุมชนได้ร้อยละ 70 ของนํ้าเสียทั้งหมด

"พอนํ้าเสียออกจากบ้านเข้าสู่ท่อระบายนํ้า เราจะทำท่อดักไว้นำไปบำบัดก่อนทิ้งลงคลองก็จะทำให้คลองสะอาดขึ้น สมมุติถ้าเราทำเสร็จสามโครงการแรกก็เพียงแต่ไปหยุดยั้งความเน่าเสีย หมายความว่าแค่รักษาสภาพปัจจุบันไว้ได้ และอีกสี่ปีที่โครงการเสร็จถึงช่วงนั้นคุณภาพนํ้าจะดีขึ้นบ้าง โดยตัวแม่นํ้าเจ้าพระยาจะมีระบบบำบัดตามธรรมชาติ เพียงแต่เราไม่ไปเพิ่มเติมความเน่าเสียลงไป ก็จะค่อยๆ ดีขึ้น" ผู้อำนวยการสำนักระบายนํ้าทำความเข้าใจล่วงหน้ากับผู้คนที่คาดหวังว่าเมื่อมีระบบบำบัดนํ้าเสียชุมชนแล้ว จะแก้สถาน-การณ์ความวิกฤติได้อย่างเฉียบพลัน

อย่างไรก็ตาม แม่นํ้าเจ้าพระยาตลอดทั้งสายยาวถึง 370 กิโลเมตร ไหลผ่าน 9 จังหวัด กิจกรรมทุกประเภทที่เพิ่มความเน่าเสียสู่สายนํ้าแห่งนี้ล้วนส่งผลกระทบอย่างไม่อาจแยกส่วนได้ และถึงแม้ว่าเจ้าพระยาตอนล่างที่ได้รับการตรวจพบว่าอยู่ในขั้นวิกฤติจะได้รับการแก้ไขปัญหาโดยสร้างระบบบำบัดนํ้าเสียรวม แต่ก็ เป็นการแก้ปัญหาในเชิงรับ

ที่ผ่านมาถึงแม้ว่า จะมีกฎหมายข้อบังคับในการก่อสร้างเครื่องบำบัดนํ้าเสียของโรงงานอุตสาหกรรม มีการควบคุมมาตรฐานนํ้าทิ้งของอาคารขนาดใหญ่ประเภทต่างๆ แต่ก็ดูไม่มีความหมายมากนักในทางปฏิบัติ เนื่องจากการขาดจิตสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการ และความไม่เข้มงวดเอาจริงเอาจังในการ ปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ

ความเข้มงวดในการใช้มาตรการทางกฎหมายดูจะเป็นจริงขึ้นอีกครั้ง ภายหลังจากการประกาศใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่เมื่อปี 2535 ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษได้เตรียมการในเรื่องการกำหนดค่ามาตร-ฐานคุมการปล่อยนํ้าเสียจากอาคารประเภทต่างๆ เช่นอาคารชุด โรงแรม โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา อาคาร สำนักงานต่างๆ ตลอดจนถึง ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคารและร้านอาหาร

"มาตรฐานนี้จะมีผลบังคับใช้กับอาคารควบคุมทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพนํ้าในระดับรุนแรงกรมควบคุมมลพิษจะเข้มงวดเป็นพิเศษ และกำหนดมาตรการลงโทษอย่างเฉียบขาด" นิศากร- โฆษิตรัตน์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพนํ้า กรมควบคุมมลพิษกล่าว

หน่วยงานรัฐยังต้องตามแก้ปัญหามากกว่าการป้องกันเช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ความรุนแรง ของนํ้าเสียถึงขั้นที่แม่นํ้าสายหลักของประเทศวิกฤติ ทำให้ภาครัฐมีความตื่นตัวเป็นพิเศษ มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายต่อหลายชุดทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ปลายปีที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้จัดตั้ง "เจ้าพระยาออธิริตี้" ขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานโดยตรงในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเจ้าพระยาตลอดทั้งสาย ซึ่งแต่เดิมการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างล่าช้าโดยรัฐอ้างว่าต้องผ่านขั้นตอนของหน่วยงานต่างๆ มากมาย

กรมควบคุมมลพิษ สังกัดกระทรวงวิทย์ฯ ได้ว่าจ้างสมาคมสร้างสรรค์ไทยแลสมาคมวิศวกรสิ่งแวด-ล้อมไทยเข้ามาช่วยในการประชาสัมพันธ์รณรงค์ และฝึกอบรมให้กับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกลุ่มเอกชนทั่วไป

ความวิกฤติของเจ้าพระยาเป็นปัญหาของทั้งลุ่มนํ้าที่มีผลต่อคุณภาพนํ้าซึ่งจะต้องถูกนำกลับมาเป็นนํ้า เพื่อการอุปโภค-บริโภคของคนกรุงอีกครั้งหนึ่ง หากความเน่าเสียรุนแรงเพียงใด คุณภาพของนํ้าดิบที่นำมาผลิตเป็นนํ้าประปาของคนกรุงก็เลวลงเพียงนั้น ...

ความต้องการมีส่วนร่วมในเรื่องสิ่งแวดล้อมหากเป็นไปอย่างฉาบฉวยหรือเป็นการรณรงค์ที่ไร้เดียงสา จนเกินไปนัก กิจกรรมต่างๆ เหล่านั้นก็ทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกระตุ้นโดยที่ปัญหาสภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง ร่วมใจกันแก้ปัญหา อย่าเป็นแค่ลมปาก !!!

"ความจริงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนมหาศาล อีกหนึ่งกระทบอีกอันหนึ่ง บางทีเรามองไม่ออกว่ากระทบอะไรด้วยซํ้าไป แต่ความที่มนุษย์มีความเก่งในการจัดแยกและมองเป็นส่วน ทำให้มองง่ายขึ้นและกลายเป็นว่าใครๆ ก็ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ วิธีการแก้ไขสิ่งแวดล้อมเราแบ่งออกเป็นสองอย่างคือ CONSTRUCTION METHOD เช่น การติดเครื่องฟอกไอเสียรถ สร้างโรงบำบัดนํ้าเสีย เครื่องฟอกอากาศ อีกอันเรียกว่า NON CONSTRUCTION METHOD เป็นสิ่งที่ปัจเจกชนช่วยกันทำได้ เช่นการปิดไฟ ปิดแอร์ ปิดนํ้า การทิ้งขยะให้เป็นที่" ธงชัย พรรณสวัสดิ์อธิบายเรื่องราวทางสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันเป็นยุคสมัยแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นกระแสของโลก ความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องภาพลักษณ์ที่ดีเช่นเดียวกับที่ประชาธิปไตยเป็นคำตอบที่ดีของระบบการเมืองอย่างที่ไม่มีใครปฏิเสธ บท-บาทธุรกิจเอกชนที่มีความมั่นคงทางผลกำไรแล้ว การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กรเป็นสิ่งที่ตามมา บริษัทห้างร้านหลายแห่งหันมาให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเข้ามาร่วมประชาสัมพันธ์กระตุ้นจิตสำนึกของผู้คนในสังคมธุรกิจเอกชนหลายแห่งถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายถึงการใช้สิ่งแวดล้อมเพื่อการสร้าง ภาพพจน์ให้กับองค์กร

"เมื่อต้นปีที่แล้วเรารณรงค์เรื่องประหยัดนํ้า มีคนบอกว่าเซ็นทรัลกำลังใช้กรีนด์มาร์เก็ตติ้งกับการประหยัดนํ้า ผมถามว่าแปลว่าอะไร เขาบอกว่าเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาหากินในทางธุรกิจ ผมฟังแล้วใจหาย งานอย่างเรื่องการใช้ถุงพลาสติกย่อยสลายหรือรณรงค์ประหยัดนํ้า เราไม่ได้อะไรเลย เราอยู่ได้โดยไม่ต้องทำเรื่องแบบนี้" ประทีป นครชัย แห่งห้างเซ็นทรัลแสดงทัศนะ

เซ็นทรัลเล็งเห็นถึงปัญหาในเรื่องการขาดแคลนนํ้า จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์โดยการเชิญชวนให้ประ- ชาชนส่งใบเสร็จชำระเงินค่านํ้ามาจับฉลาก ใครที่เสียเงินค่านํ้าน้อยที่สุด จะได้รับรางวัลผลของการตัดสิน ครั้งนั้นผู้ที่ได้รับรางวัลใช้นํ้าเพียง 2-3 ยูนิตเท่านั้น เนื่องจากซื้อบ้านจัดสรรไว้หลังหนึ่งโดยที่ไม่ได้เข้าไปอยู่เลยจึงปิดวาวล์นํ้าไว้

"การทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเราต้องมีแผน มีจุดยืน หลายคนอยากช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ทำเปะปะโดยไม่มีจุดยืน เสียดายเงินค่ะ ไม่ใช่ว่าจะไม่เกิดผลนะเกิดผลด้านประชาสัมพันธ์ว่าทุกคนกำลังเล่นเรื่องสิ่ง-แวดล้อมอยู่แต่ไม่ได้เกิดผลอย่างจริงจังเพราะในห้าปีที่ผ่านมามีคนเข้ามาเล่นเยอะ เราควรเข้ามาช่วยผลักดันให้สิ่งแวดล้อมมีความหมายขึ้น ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานแต่ละแห่งน่าจะแนะนำว่าประชาชนควรปฏิบัติ อย่างไร" คุณหญิงชดช้อย ให้ความเห็นในฐานะรุ่นพี่ที่รณรงค์สิ่งแวดล้อมเมืองมานาน

พรเทพ พรประภา กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามกลการ จำกัด เป็นนักธุรกิจอีกผู้หนึ่งที่ให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมเขาเริ่มโครงการ THINK EARTH เมื่อสามปีก่อน และเมื่อไม่นานมานี้ได้รับรางวัล GLOBOL 500 จากสหประชาชาติซึ่งเป็นรางวัลเดียวกับที่คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช แห่งสมาคม สร้างสรรค์ไทยเคยได้รับ

เขามองปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาว่ามักจะเป็นการพูดถึงกันเล่นๆ แต่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง พรเทพเล่าถึงงาน THINK EARTH ในเขตกทม.ว่า "เรารณรงค์ในเรื่องจิตสำนึก ผลิตสื่อทุกรูปแบบมุ่งในการสร้างจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชน เรามีโครงการสร้างโลกสีเขียวให้เด็กและเยาวชน เรามีโครงการโลกสีเขียวให้เด็กไทย โดยการส่งเจ้าหน้าที่ไปบรรยายพร้อมใช้สไลด์มัลติวิชั่นเรื่องสิ่งแวดล้อมตามโรงเรียน รณรงค์ปลูกต้นไม้ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ถนนคอนแวนต์ ทำเรื่องคลองสวยสะอาดปราศจากมลพิษร่วมกับ ททท. มีกิจกรรมวาดภาพ ประกวดภาพถ่ายสิ่งแวดล้อม รณรงค์เรื่องการใช้นํ้าอย่างประหยัด ถ้าเราพูดแบบวิชาการคนก็จะไม่เข้าใจ เราต้องการทำแบบง่ายๆ ให้ทุกคนเข้าใจ"

ธีระ พันทุมวนิช ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย องค์กรที่เพิ่งตั้งขึ้นได้ไม่นานแต่กำลังมีบทบาทมากขึ้นในเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโครงการคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่มี อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ถือเป็นงานชิ้นสำคัญของสถาบันที่ได้รับความร่วมมือจากนักธุรกิจชั้นนำจำนวนมาก

"ตอนนี้มีบริษัทต่างๆ มาเล่นเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมาก ผมอยากให้ทำมากกว่าสร้างภาพพจน์ คือทำไปเถอะ จะทำรูปแบบไหนก็ดีทั้งนั้น ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรแต่ขอให้ทำมากกว่าเดิมอีกนิดได้ไหมบริษัทที่สนใจให้การบริจาคเงินสนับสนุนงานด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มหันมาดูสินค้าของตัวเองในกระบวนการผลิตมากขึ้นได้ไหม"

ในแง่ผู้ผลิตสินค้า ธีระเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้ผลิตจะต้องพิจารณาให้ครบวงจรในการผลิตสินค้า นอกเหนือจากการคิดว่าผลิตสินค้าเพื่อให้ขายได้เท่านั้น ผู้ผลิตควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการนำสินค้านั้นกลับ ไปหลังจากที่สินค้านั้นหมดสภาพการใช้งานแล้ว มิใช่ปล่อยให้เป็นภาระของธรรมชาติดังเช่นที่ผ่านมาในอดีต

ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ รัฐควรจะเร่งแก้ปัญหาโดยรวมก่อนได้แก่ นํ้าเสีย ขยะ ซึ่งมีเทคโนโลยีในการจัดการปัญหาอยู่แล้ว ขาดแต่ในเรื่องการลงทุนก่อสร้างระบบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่งกรุงเทพมหานครสามารถใช้ระบบเศรษฐกิจเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ โดยการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจ่ายค่ากำจัดขยะเพิ่มมากขึ้น หรือการเริ่มเก็บค่าบำบัดนํ้าเสีย

จากงานวิจัยคุณภาพชีวิตคนเมืองหลวงกับปัญหาสภาพแวดล้อมในกรุงเทพฯ ของมหาวิทยาลัยมหิดล คณะผู้วิจัยได้ตั้งคำถามนำเพื่อให้คนกรุงเทพฯ แสดงทัศนะว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในเรื่องต่างๆ ที่คิดว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมของกรุงเทพฯ ได้โดยถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการให้รถกรุงเทพฯ ทุกคันใช้นํ้ามันไร้สารตะกั่ว การห้ามรถควันดำวิ่งในกรุงเทพฯ โดยเด็ดขาด การแยกขยะออกเป็นประเภทต่างๆ ในสามประเด็นนี้คนเมืองมากกว่าร้อยละ 80 เห็นว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ แต่สำหรับประเด็นในเรื่องภาษีที่คนเมืองจะต้องจ่ายเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมเช่น เรื่องนํ้าเน่าเสีย ปัญหานํ้าท่วม มีคนเมืองประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เห็นด้วย

แม้ว่าคนกรุงเทพฯ โดยส่วนใหญ่จะเห็นว่าข้อเสียของการอยู่อาศัยในเมืองแห่งนี้ คือปัญหาสภาพแวดล้อม แต่คนกรุงก็เห็นว่าเมืองหลวงไม่ควรย้ายไปไหน ควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังในเรื่องสภาพแวดล้อมมากกว่า

"ประชาชนต้องร่วมกันกดดันให้รัฐบาล นักการเมืองสนใจแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รัฐสามารถตั้งมาตรการเฉพาะหน้าอย่างเรื่องฝุ่นละอองเอานํ้ามาฉีดถนนตอนกลางคืนได้ไหม หรือการบังคับให้ใช้ก๊าซธรรมชาติกับรถประจำทางทั้งหมด อันที่สองคือประชาชนต้องพร้อมที่จะจ่ายเงิน และเข้ามามีส่วนร่วมกับเอ็นจีโอในการแก้ไขปัญหา เรื่องสิ่งแวดล้อมหลักการมีอยู่ว่าต้องช่วยกันทำถ้าหากปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำหรือมัวแต่บ่น ก็จะเป็นแบบทุกวันนี้ ทำกระเตาะกระแตะกันไป" ธีระให้ความเห็น

จนถึงวันนี้ หมดเวลาสำหรับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่เพียงลมปาก ถึงคราที่จะต้องลงมือปฏิบัติเสียที ก่อนที่เราจะหมดโอกาสแม้แต่จะพูด...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.