PRANDA ดันพรีม่า โกลด์ ขายที่อินเดีย รับเปิดตลาดค้าเสรีภาษีเหลือ 12.5%


ผู้จัดการรายวัน(15 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

PRANDA รุกเปิดตลาดเครื่องประดับ Prima Gold ที่อินเดีย สอดรับการเปิดเขตการค้าเสรีหลังไทยได้ลงนามไปแล้วเมื่อปลายปี 47 ทำให้ภาษีลดจาก 25% เหลือ 12.5% มั่นใจได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าในประเทศดังกล่าว

นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) (PRANDA) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางแพรนด้า กรุ๊ป และบริษัท พรีม่าโกลด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ร่วมกันลงนามในสัญญาแต่งตั้งตัวแทนการดำเนินการด้านการตลาด กับ มร.ซีทาน ดาวี เพื่อดำเนินการด้านการตลาดและจัดจำหน่ายเครื่องประดับทองคำบริสุทธิ์ 99.9% ภายใต้ชื่อ Prima Gold ในประเทศอินเดีย ซึ่งสอดรับกับการเปิดเขตการค้าเสรีหรือ FTA ที่ประเทศไทยได้ลงนามไปและมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2547

ส่งผลให้อัตราศุลกากรนำเข้าเครื่องประดับทองคำของประเทศอินเดียขณะนี้ปรับลดลงเหลือ 12.5% จากก่อนหน้านี้มีอัตรา 25% และในวันที่ 1 กันยายน 2548 อัตราดังกล่าวจะปรับลดลงอีกเหลือ 6.5% จากนั้นในปี 2550 จะมีอัตราเป็น 0% ในที่สุด

การเปิดตลาดเครื่องประดับทองคำ "Prima Gold" เป็นอีกก้าวที่สำคัญของการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจของ Pranda Group เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอินเดียซึ่งเป็นตลาดที่นิยมเครื่องประดับทองคำและประชากรมีกำลังซื้อ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสในการเปิดโอกาสทางธุรกิจที่ดี

นางสาวรุ่งนภา เงางามรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีม่าโกลด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า การทำตลาดเครื่องประดับทองคำ "Prima Gold" ในประเทศอินเดียนั้น เป็นผลพวงจากการเปิดเขตการค้าเสรี หรือ FTA โดยระยะที่ผ่านมาเครื่องประดับทองคำในตลาดอินเดียนั้นเป็นเครื่องประดับที่ยังขาดการดีไซน์ที่มีความทันสมัยและประณีต และส่วนใหญ่คุณภาพของทองคำยังไม่ดีเพียงพอ

จากจุดเด่นของผลิตภัณฑ์เครื่องประดับทองคำ Prima Gold คือการผลิตด้วยความประณีต ดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และมี 4 สไตล์ให้เลือกตามรสนิยม คือ Classic, Antique, Natural และ Two-Tone จะเป็นการสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการตลาดเครื่องประดับของอินเดีย และคาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค

สำหรับเครื่องประดับทองคำ Prima Gold ผลิตโดย PRANDA และทำการตลาดโดยบริษัท พรีม่าโกลด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้เริ่มทำการเปิดตลาดครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อประมาณ 12 ปีที่ผ่านมา และได้รุกขยายออกสู่ต่างประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดียิ่งจากผู้บริโภค โดยเฉพาะชาวเอเชีย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.