|
วิบากกรรมบัดดี้บรอดแบนด์ "ทีโอที" จูงมือเอไอเอสลงเหว
ผู้จัดการรายวัน(13 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เอไอเอสเข็ดเขี้ยวทีโอที หลังบริการบัดดี้บรอดแบนด์ที่เป็นความร่วมมือระหว่างเอไอเอสกับเอดีซี บริษัทร่วมทุนกับทีโอที ล้มเหลวไม่เป็นท่า จากปัญหาด้านบิสิเนสโมเดลและด้านเทคนิค รวมทั้งความไม่เป็นเอกภาพของผู้บริหารระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ การต่อต้านจากสหภาพฯ ที่มองไม่ทะลุเรื่องธุรกิจ ส่งผลเตรียมพับแผนความร่วมมือในการให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G
แหล่งข่าวจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอสกล่าวว่า เอไอเอสกำลังทบทวนแผนธุรกิจต่างๆ ที่ร่วมมือกับบริษัท ทีโอทีในหลายโครงการ หลังพบว่าความร่วมมือในการให้บริการบัดดี้ บรอดแบนด์ระหว่างเอไอเอส บริษัท แอดวานซ์ ดาต้าเน็ทเวอร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์ หรือ เอดีซี กับทีโอที มีปัญหามาก หลังจากเปิดให้บริการในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมากลับมีลูกค้าเพียงไม่กี่พันราย
ปัญหาของบัดดี้ บรอดแบนด์ มี 2 เรื่องคือ ปัญหาด้านบิสิเนส โมเดล หรือรูปแบบของธุรกิจ และปัญหาด้านเทคนิค เนื่องจากบัดดี้ บรอดแบนด์ วางตำแหน่งบริการในรูปแบบ 3 in 1 ทำให้สายโทรศัพท์ของทีโอทีเพียงสายเดียวสามารถใช้บริการได้ถึง 3 รูปแบบพร้อมๆ กัน คือ สามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อกับผู้อื่นได้ตามปกติ ขณะเดียวกันก็สามารถใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแล้วยังสามารถรับชมสาระและความบันเทิงจากบัดดี้ทางทีวีแบบอินเตอร์แอ็กทีฟ
นอกจากนี้บัดดี้ยังจะให้บริการ Real VDO on Demand ที่ผู้ใช้บริการสามารถเลือกสั่ง หนัง เพลง คาราโอเกะ เกม ข่าว ไลฟ์สไตล์ กีฬาและวาไรตี้ แล้วสามารถรับชมได้ทันที ด้วยคุณภาพของภาพที่รับชม เทียบเท่ามาตรฐาน DVD รวมถึงผู้ใช้บริการจะสามารถเช็กเมล และท่องเว็บไซต์ได้ผ่านทางจอทีวี (Internet on TV)
"การวางโพสิชันเป็นทีวี โดยเฉพาะอินเตอร์ แอ็กทีฟทีวี ทำให้เครือข่ายต้องการแบนด์วิดท์ที่สูงมาก เกินกว่าสายเคเบิลทีโอทีสามารถให้บริการได้"
แหล่งข่าวกล่าวว่า สายทองแดงปัจจุบันของทีโอทีสามารถให้บริการบรอดแบนด์ในรัศมีเพียงไม่เกิน 4 กิโลเมตร จากชุมสายโทรศัพท์ ซึ่งหากต้องการให้บริการอินเตอร์แอ็กทีฟทีวี รัศมีดังกล่าวจะต้องลดลงอีก หมายถึงพื้นที่ให้บริการจะจำกัดลงมาก ในขณะที่หากโพสิชันเน้นเรื่องบรอดแบนด์หรืออินเทอร์-เน็ตความเร็วสูงอย่างเดียวจะเป็นบิสิเนส โมเดล ที่ สมเหตุสมผลมีความเป็นไปได้กับเครือข่ายสายทองแดงทีโอทีในขณะนี้
นอกจากนี้ประเด็นที่สำคัญอีกอย่าง คือ ผู้บริหารทีโอทีในระดับปฏิบัติงานและผู้บริหารในสายธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องไม่ให้ความร่วมมือกับบัดดี้ บรอดแบนด์ ทั้งๆ ที่ทีโอทีถือหุ้น 49% ในเอดีซี อย่างประเด็นเรื่องค่าเช่าสายโทรศัพท์ ที่ตอนแรกในการเจรจากันเอดีซีพร้อมจ่ายให้ทีโอทีในราคาเลขหมายละ 107 บาท ซึ่งเป็นค่าบริการรายเดือน หากเลขหมายนั้นมีการใช้งานโทรศัพท์เพิ่มทีโอทีก็จะมีรายได้ในส่วนนี้ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นชอบหมด
แต่เมื่อเริ่มให้บริการจริงกลายเป็นว่าทีโอทีไม่ยอม เอดีซีต้องจ่ายค่าเช่าให้เลขหมายละ 320 บาท ซึ่งเท่ากับรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานของทีโอที
"ลองคิดดู แค่ต้นทุนต่อเลขหมายก็ 320 บาทเข้าไปแล้ว ในขณะที่คู่แข่งคิดค่าบริการบรอดแบนด์เริ่มที่ 590 บาท แล้วจะไปแข่งขันกันได้อย่างไร"
อย่างไรก็ตาม เอดีซีพยายามแก้ปัญหาด้านเทคนิคด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ DLAM และลากสายเคเบิลเข้าไปในพื้นที่ซึ่งมีความต้องการเอง รวมทั้งยังมีแผนในอนาคตเมื่อดาวเทียมไอพีสตาร์ถูกยิงขึ้นอวกาศในช่วงปลายเดือนนี้ หากไม่มีอะไรผิดพลาดอีก ไอพีสตาร์จะสามารถเข้ามาให้บริการเสริมสายเคเบิลของทีโอทีได้เพื่อตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว
แต่ปัญหาของเอไอเอสและเอดีซียังไม่หมดไป เนื่องจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทีโอทีได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านบริการบัดดี้บรอดแบนด์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะประเด็นการคิดต้นทุนค่าเช่าต่อเลขหมายที่ต้องการให้คิดกับเอดีซีเลขหมายละ 300 กว่าบาท แทนเลขหมายละ 107 บาท พร้อมเรียกร้องให้พนักงานใช้บริการบรอดแบนด์ของทีโอทีเอง
แหล่งข่าวกล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้น สะท้อนความไม่เป็นเอกภาพภายในองค์กรของทีโอทีเอง โดยเฉพาะผู้บริหารระดับนโยบายกับระดับปฏิบัติการ รวมทั้งสหภาพฯ ทีโอที ที่มองไม่ทะลุโอกาสการทำธุรกิจ และความร่วมมือที่พาร์ตเนอร์พึงมีต่อกัน โดยเฉพาะในเอดีซีต้องเรียกว่าเอไอเอสเป็น Strategic Partner กับทีโอที ซึ่งปัญหาในเอดีซีกำลังเป็นหัวข้อสำคัญที่ทำให้เอไอเอสต้องทบทวนความตั้งใจที่จะร่วมมือกับทีโอที โดยเฉพาะในเรื่องการให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G ที่ทีโอทีได้สิทธิขาดเพียงผู้เดียวในการบริการคลื่นความถี่ 3G ของไทยโมบาย
"เอไอเอสหวังใช้บัดดี้บรอดแบนด์ เป็นกรณีศึกษาการเป็นพาร์ตเนอร์กับทีโอที ซึ่งสเกลเล็กกว่ามาก เมื่อเทียบกับความตั้งใจจะร่วมมือกันใน 3G"
เอไอเอสมีแผนในใจมานานแล้วว่าต้องการเป็นพาร์ตเนอร์ 3G กับทีโอที เนื่องจากเอไอเอสเป็นบริษัทภายใต้สัญญาร่วมการงานกับทีโอที รวมทั้งเอไอเอสมองทีโอทีเป็นบริษัทที่มีศักยภาพสูง โดยความในใจของเอไอเอสสะท้อนภาพความร่วมมือในการโรมมิ่งเครือข่ายกับไทยโมบายก่อนหน้านี้ ที่คิดในอัตรามิตรภาพนาทีละ 2 บาท และลดเหลือนาทีละ 1 บาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อเอไอเอสพบว่าเจ้าสาวด้าน 3G ที่หมายตาไว้ปรากฏความเป็นจริงว่านอนตื่นสาย ขี้เกียจ ใช้เงินเปลือง หาข้อดีไม่ค่อยได้ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแผนใหม่ เพราะย่านความถี่ 3G ที่เหลืออยู่ยังพอสำหรับโอเปอเรเตอร์อีก 3-4 ราย
"ถ้าในโลกเหลือผู้หญิงคนนั้นคนเดียวก็อาจจำใจ แต่มันไม่ใช่เอไอเอสก็คงต้องเปลี่ยนแผนใหม่"
ด้านแหล่งข่าวในทีโอทีกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดกับบัดดี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่สะท้อนภูมิปัญญาของผู้บริหารและสหภาพฯ อย่างกรณีการคิดค่าบริการเสริมหยุมหยิมเดือนละ 30 บาท ไม่ว่าจะเป็นการโชว์เบอร์ที่มือถือให้บริการฟรี เพราะเชื่อว่าหากพลาดการรับสายก็จะโทร.กลับทำให้เกิดรายได้ แต่ทีโอทีกลับต้องเก็บเงินกินเปล่า ปิดกั้นโอกาสการใช้บริการ หรืออย่างเรื่องแนวคิดการร่วมการงานกับเอกชนอย่างกรณีทรู ที่เดิมคิคค่าเช่าท่อร้อยสายแบบเต็มที่ แต่ภายหลังต้องลดราคาลง 50% เพราะถือเป็นคู่สัญญาร่วมการงานกัน
"เอกชนคนไหนคิดจะเป็นพาร์ตเนอร์กับทีโอทีก็คงต้องคิดใหม่ เพราะขนาดเอไอเอสยังส่ายหน้ากับแนวคิดการทำธุรกิจของทีโอที ที่ถนัดประเภทจับหมูในเล้า ถนัดกินหัวคิว กินส่วนแบ่งรายได้เป็นหลัก มากกว่าแนวคิดหาพันธมิตรทำธุรกิจแข่งขันกับเอกชนรายอื่น"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|