|
บบส.ผวาเอ็นพีแอลรอบ 2 สั่งฝ่ายประนอมหนี้เช็กฐานะธุรกิจหวั่นกระทบทั้งระบบ
ผู้จัดการรายวัน(12 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยลบจากความผันผวนของราคาน้ำมัน และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยขยับขึ้น โดยเฉพาะทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูง ทำให้ต้องออกมาตรการดูดสภาพคล่องผ่านการออกพันธบัตรหลายแสนล้านบาท จะยิ่งเป็นแรงกดดันต่อสถาบันการเงินในการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ เพื่อสกัดมิให้สินเชื่อเหล่านี้กลายเป็นหนี้ไหลย้อนกลับ (เอ็นพีแอล) รอบสอง ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงภาระหนี้ของภาคเอกชน แม้ว่าจะดีขึ้น แต่หากพิจารณาไส้ในแล้วจะพบว่าเป็นการรี-ไฟแนนซ์หนี้ มากกว่าความสามารถในการชำระหนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากรายได้จากการประกอบกิจการ
นายหาญ เชี่ยวชาญ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) เปิดเผยว่าทางบบส.ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของเอ็นพีแอลรอบสอง โดยได้กำชับให้ทางฝ่ายประนอมหนี้ติดตามลูกหนี้อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ทั้งในเรื่องของยอดขายมีความเคลื่อนไหวในทางที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจหรือไม่ รวมถึงการพิจารณามูลฐานของโอกาสที่จะเกิดหนี้อีกครั้ง
"เราเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นไม่หยุด ซึ่งบบส.ก็กลัวการเกิดเอ็นพีแอลรอบสองเพราะเริ่มเห็นสัญญาณบางอย่างแล้ว ตอนนี้ฝ่ายประนอมหนี้ได้เข้าไปติดตามและมอนิเตอร์ลูกหนี้อย่างใกล้ชิด เพิ่มความถี่เข้าไปดูเพื่อเป็นการป้องกัน เหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นกับลูกหนี้และบบส.ด้วย ความไม่ประมาทเป็นเรื่องที่ดีกว่ามาแก้ไขปัญหาทีหลัง และหากบรรเทาปัญหาได้ผลดีต่อประเทศก็จะไม่ได้รับผลกระทบเข้าไปอีก" นายหาญกล่าว
ทั้งนี้ตามตัวเลขของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ทางรัฐบาลได้ประกาศว่าไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวเพียง 3.3% ชะลอตัวลงจากเฉลี่ย 6.1% ในปี 2547 โดยตัวแปรหลักมาจากราคาน้ำมัน ผลกระทบจากสึนามิ ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ และภาวะภัยแล้ง และผลต่อเนื่องดังกล่าวเริ่มขยายวงต่อแนวทางการลงทุนของภาคเอกชน เห็นได้จากไตรมาสแรกขยายตัว 10.6% ชะลอตัวจาก 12.7% ในไตรมาสที่แล้ว การเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 51% การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนขยายตัว 4.5% ชะลอตัวจาก 5.4% ในไตรมาสที่แล้ว
นายหาญกล่าวถึงแนวทางการของบบส.จากนี้ว่า ยังคงเดินหน้าเจรจาซื้อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีเอ) อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ซื้อหนี้กับธนาคารกรุงไทย (KTB) มูลค่า 15,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการเจรจาในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับใกล้ช่วงปิดงบกลางปีของธนาคาร นอกจากนี้ บบส. ยังสามารถเข้าไปประมูลหนี้ในกรมบังคับคดีได้อีก 15,000 ล้านบาท รวมแล้วขณะนี้บบส.มีหนี้ที่บริหารประมาณ 240,000 ล้านบาท
"บบส.มีศักยภาพที่จะรับหนี้มาบริหารได้มากเท่าไหร่ก็รับได้ เพราะเจตนาของเราคือตั้งใจที่จะมีส่วนช่วยเหลือระบบเศรษฐกิจและลดปริมาณหนี้ในระบบให้มากที่สุด เพื่อเป็นการช่วยเหลือประเทศ แต่ก็ยอมรับว่าเป้าหมายการรับซื้อหนี้ของบบส.ตามแผน คงต้องรอไปก่อน เนื่องจากคาดว่าการแก้ไขพระราชกำหนดของบบส. คงเสร็จไม่ทันภายในปี 2548" นายหาญกล่าว
ทั้งนี้ ทางบบส.ได้กำหนดเงื่อนไขในการซื้อหนี้เอ็นพีแอลไว้ 2 แนวทาง คือ กรณีที่การแก้ไขพระราชกำหนด (พรก.) ของบบส.เสร็จไม่ทันปีนี้ ทางบบส. คงทำได้เพียงเข้าไปประมูลหนี้ในกรมบังคับคดีตามแผนตั้งไว้ในปี 48 ที่ 9,081 ล้านบาท และเป็นส่วนของเอ็นพีเอประมาณ 1,732 ล้านบาท และกรณีที่ได้รับการแก้ไขพ.ร.ก.ของบบส.เสร็จทัน จะสามารถซื้อหนี้เอ็นพีแอลโดยไม่ขัดต่อพ.ร.ก.ได้ประมาณ 100,000 ล้านบาท ส่วนเอ็นพีเอ ในช่วง 4 ปี (2548-2551) จะอยู่ที่ 6,800 ล้านบาท 27,200 ล้านบาท, 27,200 ล้านบาท และ 6,800 ล้านบาทตามลำดับ
นายหาญกล่าวถึงในส่วนของหนี้ที่ซื้อจากกรุงไทยว่า ภายในอาทิตย์นี้จะส่งหนังสือถึงลูกหนี้ให้รับทราบเกี่ยวกับการสวมสิทธิของบบส.และให้ลูกหนี้มาเจรจาประนอมหนี้ เช่น บริษัท แชลเลนจ์ พร็อพเพอร์ตี้ ของนางราศรี บัวเลิศ เจ้าของโครงการ รอยัล เจริญกรุง นั้นมูลหนี้ 8,300 ล้านบาท แต่หากรวมดอกเบี้ยค้างรับเข้าไปจะตกประมาณ 9,500 ล้านบาท และหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้นมูลค่าเกือบ 100% ของมูลหนี้ โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท
"เราพร้อมที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ แต่ลูกหนี้บางรายต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งแนวทางการแก้ไขมีหลายรูปแบบอย่างโครงการรอยัล เจริญกรุง เป็นโครงการที่มีศักยภาพและอยู่ในทำเลซีบีดี" นายหาญกล่าว
สำหรับความคืบหน้าการประนอมหนี้ของ บบส. ณ เม.ย.48 แบ่งเป็น ลูกหนี้จากปรส.ได้ข้อยุติแล้ว 1,673 ราย มูลหนี้ 156,845 ล้านบาท ได้ข้อยุติด้วยการดำเนินการคดีและระงับการติดตาม 557 ราย มูลหนี้ 40,203 ล้านบาท ลูกหนี้จากกรมบังคับคดี และองค์การบริหารสินเชื่อ (อบส.) แบ่งเป็นอยู่ระหว่างการสวมสิทธิทางคดี 902 ราย มูลหนี้ 8,855 ล้านบาท และสวมสิทธิทางคดีแล้ว/ไม่ต้องสวมสิทธิ 759 ราย มูลหนี้ 5,170 ล้านบาท
ในส่วนฐานะการเงิน บบส.มีสินทรัพย์รวม 23,891.70 ล้านบาท หนี้สินรวม 5,913.70 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 17,977.63 ล้านบาท กำไรสุทธิ 536.37 ล้านบาท และกำไรสุทธิต่อหุ้น 5.36 บาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|