|

"แปรรูปรัฐวิสาหกิจ-ไทยเบฟเวอร์เรจ" ความหวังตลาดหุ้นครึ่งปีหลัง'48
ผู้จัดการรายวัน(11 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังฝากความหวังไว้ที่ รัฐวิสาหกิจ-เบียร์ช้าง กระตุ้นนักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุน ดึงเม็ดเงินใหม่ มาร์เกตแคปตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น หลังจาก 4 ปีกว่าที่ผ่านมา มาร์เกตแคปตลาดพุ่งขึ้น 189% จาก 1.6 ล้านล้าน มาอยู่ที่ 4.4 ล้านล้าน เผย 7 รัฐวิสาหกิจแปรรูปฯ มีมาร์เกตแคปฯ รวมกันเกือบ 23% ของตลาดหุ้นไทย "อาจดนัย" ประธานชมรมโบรกเกอร์ต่างชาติ ระบุน่าเสียดายโอกาสหาก "เบียร์ช้าง" ไม่ได้เข้าตลาดหุ้นไทย ด้าน "ชัยพัฒน์" เลขาฯ ก.ส.ล. ระบุรัฐวิสาหกิจระดมทุนตลาดหุ้นขยายตัวช่วยหนุนจีดีพีประเทศขยาย
จากปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอกประเทศที่กระหน่ำใส่ตลาดหุ้นไทยเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังปี 2548 ได้เพียงไม่กี่วันไล่มาตั้งแต่เรื่องการกล่าวโทษผู้บริหารบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI ที่กระทบหุ้นที่เกี่ยวโยงกันร่วง และเกิดการบังคับขาย(ฟอร์ซเซล) จนกระทบการลงทุนในหุ้นตัวอื่นและตลาดโดยรวม
ราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นทะลุ 61 เหรียญต่อบาร์เรล การปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของโบรกเกอร์ชื่อดังต่างชาติ ตลอดจนเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ส่งผลดัชนีตลาดหุ้นไทยทรุดตัวลงแตะต่ำสุดที่ระดับ 630 จุด ก่อนรีบาวนด์ขึ้นไปปิดเหนือระดับ 640 จุด เมื่อดูมูลค่าตลาดหลักทรัพย์รวม หรือมาร์เกตแคป ตลาดที่บ่งบอกถึงความมั่งคั่งของตลาดหุ้นไทยพบว่า หดหายไป 1.8 แสนล้านบาทภายในสัปดาห์เดียว (4-8 ก.ค.) จากต้นปีมาร์เกต แคปอยู่ที่ 4.607 ล้านล้านบาท ลงมาอยู่ที่ 4.426 ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 8 ก.ค.
ความหวังที่จะผลักดันให้มาร์เกตแคปตลาดขึ้นไปอยู่ที่ 8 ล้านล้านบาท ตามแผนระยะ 5 ปี ที่ว่ากันว่าเริ่มตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเป็นรัฐบาลสมัยแรกด้วยซ้ำไป ดูเหมือนจะยิ่งห่างไกลออกไปอีก
IPO ใหญ่กระตุ้นตลาด
นายอาจดนัย สุจริตกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เจ.พี.มอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด สิ่งที่น่าสนใจสำหรับตลาดหุ้นไทย คือ การเข้าจดทะเบียนของบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขนาดของตลาดหุ้นไทย และดึงเม็ดเงินเข้าตลาดหุ้นไทยได้
โดยเฉพาะการเข้าจดทะเบียนของบริษัทไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) หรือ เบียร์ช้าง ซึ่งเป็นบริษัทขนาด 2 แสนล้านบาท, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แผนการควบรวมกิจการระหว่างโรงกลั่นระยองกับโรงกลั่นสตาร์ฯในกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
หุ้นขนาดใหญ่ทั้งหมดนี้ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะเข้าจดทะเบียนได้ในไตรมาส 4 ปี 2548 นี้ ซึ่งน่าจะกระตุ้นการลงทุนได้ เพราะจะทำให้มาร์เกตแคปของตลาดหลักทรัพย์ไทยใหญ่ขึ้น และจะทำให้สัดส่วนการลงทุนสูงขึ้นด้วย
"โดยส่วนตัวผมอยากให้เบียร์ช้างเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เพราะหากบริษัทดังกล่าว ไม่สามารถเข้าตลาดหุ้นไทยได้อันเนื่องจากการประท้วง เบียร์ช้างก็สามารถไปเข้าตลาดหุ้นในต่างประเทศได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ อังกฤษ หรืออะไรก็ตาม ซึ่งเมื่อระดมทุนจากการเข้าตลาดหุ้น ตปท.ได้ ก็มาขยายธุรกิจในเมืองไทยอยู่ดี เท่ากับว่าการประท้วงเพื่อไม่ให้เข้าจดทะเบียนเพื่อจะหยุดไม่ให้มีการขยายผลิตภัณฑ์เบียร์เหล้าก็ไม่ได้อยู่ดี เพราะฉะนั้นถ้าเบียร์ช้างไม่เข้าตลาดหุ้นไทยก็มองว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะนอกจากการเพิ่มขนาดหรือมาร์เกตแคปตลาดหุ้นไทยให้ใหญ่ขึ้น แล้วสุดท้ายเม็ดเงินลงทุนก็ยังจะกลับเข้ามาในประเทศไทยอยู่ดี"
นายอาจดนัยกล่าวย้ำว่า การจดทะเบียนของไอพีโอ (IPO) ขนาดใหญ่ในเวลานี้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยสร้างความน่าสนใจให้แก่ตลาดหุ้นไทยในสายตาของนักลงทุนต่างชาติได้ 4 ปีมูลค่าตลาดโต 189%
จากการสำรวจข้อมูลมาร์เกตแคปตลาดหุ้นไทย ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2548 (วันที่ 30 มิ.ย.) มาร์เกตแคปตลาดปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากที่ในปี 2544 อยู่ที่ระดับ 1.607 ล้านล้านบาท ขึ้นมาเป็น 1.981 ล้านล้านบาท ในปี 2545 ก่อนที่จะปรับขึ้นอย่างก้าวกระโดดมาที่ระดับ 4.789 ล้านล้านบาท ในปี 2546 และปรับลดลงใน 2547 มาอยู่ที่ระดับ 4.521 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก 2548 มาร์เกตแคปตลาด เมื่อต้นปีอยู่ที่ 4.633 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นทะลุ 5 ล้านล้านบาท ได้ในวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยระดับสูงสุด อยู่ที่ 5.027 ล้านล้านบาทเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ก่อนที่ทรุดตัวลงจากสารพัดปัจจัยลบที่เข้ามากดดันดัชนีตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะเรื่อง ของราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไม่ยอมหยุด ส่งผลให้เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. มาร์เกตแคปตลาด อยู่ที่ 4.649 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้มาร์เกตแคปตลาดจะแกว่างตัวเพิ่มขึ้นลดลงในระยะ 2 ปีนี้ แต่เมื่อดูภาพรวมตลอด 4 ปีเกือบ 5 ปีที่ผ่านมานี้ มาร์เกตแคปตลาด หรือความมั่งคั่งของตลาดหุ้นไทย ก็ยังนับว่าเติบโตขึ้นมหาศาล โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2544 ถึงปี 2548 (30 มิ.ย.) นี้ คิดเป็น 189.29%
7 รัฐวิสาหกิจดันตลาดโต 23%
เมื่อย้อนหลังกลับไปดูเฉพาะกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่มีการแปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย จะพบว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจช่วยขยายขนาดของตลาดหุ้นไทยได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ที่แปรรูปเข้าตลาดหุ้นไทยทั้งหมด 7 บริษัทส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ ประกอบด้วย ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เข้าจดทะเบียนในปี 1989, บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เข้าจดทะเบียนในปี 1991, บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP, บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT, และล่าสุดบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT
โดยเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.48 พบว่า มาร์เกตแคป KTB อยู่ที่ 103,971.67 ล้านบาท, มาร์เกตแคป THAI อยู่ที่ 67,530.34 ล้านบาท, มาร์เกตแคป PTTEP อยู่ที่ 205,902.84 ล้านบาท, มาร์เกต แคป INET อยู่ที่ 910.08 ล้านบาท, มาร์เกตแคป PTT อยู่ที่ 609,799.57 ล้านบาท, มาร์เกตแคป AOT อยู่ที่ 64,285.65 ล้านบาท, มาร์เกตแคป MCOT อยู่ที่ 14,978.76 ล้านบาท รวม 1.067 ล้านล้านบาท
7 บริษัทที่เกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจปัจจุบันมีมาร์เกตแคปรวมกันแล้วคิด 22.95% ของมาร์เกตแคปตลาด 4.649 ล้านล้านบาท (30มิ.ย.48)
สำหรับรัฐวิสาหกิจที่เตรียมจะแปรรูปเป็นบริษัทมหาชนเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยตามแผนของรัฐบาลอีกก็มี บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TOT, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT, การสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ CAT ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมตัวเพื่อกระจายหุ้น โดยรัฐบาลคาดไว้ว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนได้ในปี 2548
ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่กำลังแต่งตัวรอการแปรรูปอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย การไฟฟ้านครหลวงแห่งประเทศไทย (MEA), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (PEA) และการประปานครหลวงแห่งประเทศไทย (MWA) โดยถูกวางแผนให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2549
ส่วนบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ที่อยู่ระหว่างการเตรียมกระจายหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมากสุด ก็คือ บริษัทไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) โดยล่าสุดที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัตินำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเสนอขายหุ้นสามัญจำนวน 7 พันล้านหุ้น ตลาดหุ้นโตหนุนจีดีพีขยายตัว
นายชัยพัฒน์ สหัสกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ก.ส.ล.) อดีตผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจระดมทุนผ่านตลาดหุ้นไทยช่วยเพิ่มขนาดหรือมาร์เกตแคปตลาดหุ้นไทย ซึ่งโดยหลักการแล้วมีส่วนทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัวได้
เปรียบเทียบยกตัวอย่างกรณีของ กฟผ. ซึ่งหากแปรรูปเป็นบริษัทมหาชนระดมทุนจากคนอื่น แทนการกู้เงินโดยรัฐค้ำประกัน การขยายงานสร้างโรงไฟฟ้าก็จะทำโดยใช้เงินจากมหาชน และสามารถกู้เงินมาใช้ได้มากขึ้น มีเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามาลงทุนด้วย ส่วนผู้ถือหุ้นก็จะใหญ่ขึ้น กฟผ.ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะหากจะกู้เงินก็ทำได้มากขึ้นจากเดิม
โดยหลักการแล้วการแปรรูปรัฐวิหกิจระดมทุนจากตลาดทุน ทำให้ตลาดทุนขยายตัว ช่วยให้มีการขยายตัวของจีดีพีตามมา เพราะทำให้กฟผ.ขยายงานสร้างโรงไฟฟ้า เพิ่มงานกลับมาสู่การขยายตัวของผลผลิตมวลรวมในประเทศ
"การสร้างโรงไฟฟ้าจำเป็นต้องลงทุนเยอะ ทำให้รัฐบาลต้องใช้จ่ายเยอะ ซึ่งหากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้วอาจมีเม็ดเงินระดมทุนสร้างโรงไฟฟ้าได้ 20 โรง โดยที่รัฐบาลไม่ต้องลงทุนเลย แต่ถ้ารัฐบาลลงทุนเองอาจสร้างได้เพียง 10 โรง ซึ่งเป็นการเติบโตโดยอาศัยเงินคนอื่น เพื่อทำให้ทุกอย่างขยายตัว และกฟผ.เป็นบริษัทขนาดใหญ่ต่างชาติก็ต้องเข้ามาลงทุนด้วย มีเงินนอกเข้ามา เพราะบริษัทเล็กๆต่างชาติไม่เข้าลงทุน หรือบริษัทเล็กคนไม่ค่อยสนใจลงทุน ซึ่ง กฟผ.เข้ามาจะทำให้คนสนใจเพิ่มขึ้น เลิกฝากเงินมาลงทุนใน กฟผ." นายชัยพัฒน์ กล่าว
ไทยแลนด์โฟกัสดึง ตปท.
นายอาจดนัย สุจริตกุล ในฐานะประธานชมรมโบรกเกอร์ กล่าวว่า ในช่วงที่จะมีการจัดงานไทยแลนด์โฟกัสรอบ 2 ก็น่าจะช่วยกระตุ้นความสนใจให้นักลงทุนต่างชาติสนใจตลาดหุ้นไทยได้ นอกจากนี้ยังเป็นจังหวะที่ปีงบประมาณปี 2549 ของรัฐบาลไทยเริ่มต้น และนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่เข้ามารับฟังข้อมูลจากการจัดงานครั้งใหญ่เป็นประจำทุกปีที่ฮ่องกง
ทั้งนี้ ในการจัดงานไทยแลนด์ โฟกัส 2005 รอบแรก ถือว่าน่าพอใจ เพราะนักกลยุทธ์และนักวิเคราะห์ระดับมหภาคได้รับทราบนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทย และได้รับฟังข้อมูลจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ด้วย สำหรับการจัดงานไทยแลนด์ โฟกัส รอบ 2 ระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2548 นี้จะเป็นรอบของนักลงทุนสถาบันต่างชาติเป็นสำคัญ อยู่ระหว่างการเตรียมตัวคัดเลือกลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ โดยจะมีการส่งรายชื่อลูกค้าที่บริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่งที่จะให้เข้าร่วมงานไทยแลนด์ โฟกัสไปให้ตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นผู้คัดเลือก เนื่องจากลูกค้าจะมีการซ้ำกันได้
ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัทจดทะเบียนที่จะเชิญร่วมให้ข้อมูลกับผู้จัดการกองทุน นักลงทุนคาดว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET 50 แต่อาจจะมีมากกว่านี้ได้ เนื่องจากทางตลาดหลักทรัพย์ฯ อยากให้ครอบคลุมถึง SET 100 โดยมีการส่งแบบสอบถามไปยังผู้เข้าร่วมงานเกี่ยวกับความสนใจในบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการทราบข้อมูลบริษัท ซึ่งอาจจะมีการเชิญบริษัทที่มีผู้สนใจรับฟังข้อมูลเข้าร่วมงาน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|