|
เศรษฐกิจ "ตกท้องช้าง" ยาว แบงก์ผวา NPL-ชะลอปล่อยกู้
ผู้จัดการรายวัน(11 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังตกภาวะท้องช้างนาน เหตุแนวโน้มดอกเบี้ยปรับขึ้น-ราคาน้ำมันสูงกำลังกดดันให้หนี้เสียเพิ่มขึ้นจากความสามารถลูกค้าในการชำระหนี้สถาบันการเงินที่ลดลง เผยแบงก์รัดเข็มขัดไม่ปล่อยกู้ ธุรกิจขาดสภาพคล่อง จับตาอสังหาฯ กระทบหนัก เผยยอดสินเชื่อก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการรีไฟแนนซ์หนี้เดิม แฉตัวเลขเศรษฐกิจ 5 เดือนแรก ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 4,672 ล้านเหรียญ เหตุนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นกว่า 74% ผู้ถูกเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้น 51% การใช้จ่ายภาคครัวเรือนหดตัว ชาร์เตอร์ดแบงก์ชี้น้ำมันยังเป็นปัจจัยลบต่อเนื่อง "ทักษิณ" เตรียมแสดงปาฐกถา "ประเทศไทยกับเศรษฐกิจฐานความรู้" 3 ทุ่มอังคารนี้ ด้านคณะทำงานเศรษฐกิจ ปชป.เปลี่ยนชื่อเมกะโปรเจกต์เป็น "หมกโปรเจกต์"
นางสาวถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง นักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด เปิดเผยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังว่า ตัวแปรหลักที่กดดันเศรษฐกิจยังคงเป็นเรื่องของราคาน้ำมัน หากยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศหากสามารถทำได้ประมาณ 80% ของเป้าที่ตั้งไว้ เชื่อว่าจะสามารถประคับประคองเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง
"รัฐบาลควรปล่อยให้ทุกอย่างสะท้อนความเป็นจริง โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่จำเป็นต้องประกาศลอยตัว เพื่อให้ทุกคนได้ปรับตัว และหันมาประหยัดมากขึ้น"
นางสาวถนอมศรีกล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก มีการชะลอตัวรุนแรง เนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง เพราะไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ หากราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูงและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวตาม จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่อยู่ใน "ภาวะท้องช้าง" หรือเศรษฐกิจตกเป็นกราฟรูปตัวยู (U) ซึ่งมีแนวโน้มยาวนานขึ้น
ส่วนนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงครึ่งปีหลังคงต้องส่งสัญญาณการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อป้องกันการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และป้องกันเงินทุนไหลออก ซึ่งจุดนี้ธปท.ต้องให้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงกับหลายธุรกิจ
นักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร เผยว่าปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบเริ่มควบคุมการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหากเร่งปล่อยกู้อาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบสถาบันการเงินในขณะนี้ ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้น ยิ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยิ่งมีความเสี่ยง เนื่องจากในช่วงก่อนหน้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก แต่ตอนนี้เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้น กำลังซื้อหรือความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ซื้อบ้านลดลงตาม
ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในช่วง 5 เดือนแรก จะขยายตัวต่อเนื่องสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวประมาณ 5.1% หรือมียอดเงินให้กู้ยืมกว่า 5.4 ล้านล้านบาท แต่เมื่อลงในรายละเอียดพบว่า สินเชื่อที่ขยายตัวในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการรีไฟแนนซ์หนี้ของลูกหนี้ที่เริ่มประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้แบงก์ต้องให้ความช่วยเหลือ หรือลูกหนี้เองหันไปรีไฟแนนซ์หนี้กับแบงก์แห่งใหม่ เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ลดลง
จุดนี้ไม่ใช่การขยายตัวของสินเชื่อที่แท้จริง ถือเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าแนวโน้มเอ็นพีแอลรอบใหม่จะกลับมาสร้างปัญหาให้แก่ระบบสถาบันการเงิน เนื่องจากผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้น แนวโน้มยอดขายที่อาจไม่เป็นไปตามเป้า
ทั้งนี้ เอ็นพีแอลไตรมาส 1 ของปี 2548 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 562,335.85 ล้านบาท หรือ 11.85% ของสินเชื่อรวม เผยตัวเลขครึ่งปีแรกศก.ดิ่งเหว
ขณะที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการชื่อดัง เผยแพร่รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรก ปี 2548 ว่า สัญญาณเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกชะลอตัวลงอย่างมาก โดยพบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสแรก ขายตัวเพียง 3.3% ชะลอตัวลงจากเฉลี่ย 6.1% ในปี 2547 โดยตัวแปรหลักมาจากราคาน้ำมัน สึนามิ ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ และภาวะภัยแล้ง (ดูตารางหน้า 1 ประกอบ)
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกพบว่า ดุลการค้าในเดือนพฤษภาคม 2548 มีตัวเลขขาดดุลสูงถึง 1,621 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 5 เดือนแรกของปีนี้ ขาดดุลการค้ากว่า 6,609 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการขาดดุลมากที่สุดในรอบ 8 ปี โดยสาเหตุหลักมาจากการนำเข้าน้ำมัน รายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลง และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA)
ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาขาดดุลกว่า 1,564 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 5 เดือนแรกของปีนี้ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 4,672 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การน้ำเข้าน้ำมันในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 8,229 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนพ.ค. มีการนำเข้าน้ำมันสูงถึง 2,429 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดฮวบ
ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคม 2548 พบว่าอยู่ที่ระดับ 83.10 ซึ่งลดลงต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และปรับตัว ลดลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 18 อีกทังยังมีค่าต่ำสุดในรอบ 30 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการทำงานในเดือนพ.ค. ลดลงมาอยู่ที่ 81.1 ต่อสุดในรอบ 2 ปี นอกจากนี้ ยังพบว่าไตรมาสแรกการใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวเพียง 4.5% ชะลอตัวลงจาก 5.4% ในไตรมาสที่แล้ว
ส่วนสถานการณ์การจ้างงานในเดือนพ.ค. พบว่า ในเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 165% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ข้อมูลที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้ถูกเลิกจ้างในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2548 คือ ผู้ถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นกว่า 51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ตำแหน่งงานว่างเดือน พ.ค.ลดลง 13.7% และการบรรจุงานลดลง 34.2% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ราคาน้ำมันเบนซิน และดีเซลเท่ากับ 24.94 และ 21.39 บาทต่อลิตร
สแตนชาร์ดฯปรับเป้าเศรษฐกิจ
นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด นครธน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารเตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง หลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นแตะที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยก่อนหน้าเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาได้เคยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจจากเดิมคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 5.3% เหลือ 4.4% โดยเตรียมประกาศปรับประมาณการเร็วๆ นี้
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ตัวแปรหลักยังคงเป็นสถานการณ์ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะในช่วงปลายปีความต้องการใช้น้ำมันมีสูง เนื่องจากเป็นฤดูหนาว
นางสาวอุสรากล่าวว่า ความท้าทายในการบริหารเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของรัฐบาลมี 2 ตัวแปรที่สำคัญคือ โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ของรัฐบาลในช่วง 5 ปีข้างหน้า ที่มีมูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้านบาท รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และรัฐบาลต้องเร่งฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยในครึ่งปีหลัง เชื่อว่าการประชุมคณะนโยบายการเงินธปท.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 พ.ค.ที่จะถึงนี้จะมีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะสั้น 14 วัน เพื่อลดส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเคลื่อนไหวในระดับ 40.50-41.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเชื่อว่าในไตรมาส 3 ของปีนี้จีนจะปรับค่าเงินหยวนประมาณ 3% อสังหาฯฝืดรายได้ไม่พอคืนหนี้
นายวันจักร์ บูรณศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจอสังหริทรัพย์ทั้งปีคาดว่าต้นทุนการก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น 5-10% จากราคาวัสดุก่อสร้างและราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องขึ้นราคาบ้าน 5-10% แต่การปรับขึ้นไม่สามารถทำได้ทุกทำเล ดังนั้นผู้ประกอบการควรระมัดระวังการเปิดตัวโครงการใหม่
แหล่งข่าววงการอสังหาริมทรัพย์กล่าวว่า เริ่มเข้าสู่ครึ่งปีหลังของปีนี้ผู้ประกอบการหลายรายให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่ายอดขายตกต่ำ การขายต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจุดนี้น่าเป็นห่วง เพราะย่อมจะมีผลต่อรายได้ที่จะเข้ามา และหากบริษัทใดมีการบริหารสภาพคล่องกับเงินกู้ไม่เหมาะสมแล้วอาจจะมีผลต่อเครดิตของบริษัทนั้นๆ ภาพที่เห็นในขณะนี้ หลายบริษัทพุ่งเป้าที่จะลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ให้ต่ำลงเพื่อเป็นการรักษาระดับของหนี้ไม่ให้สูงมากนัก ในภาวะที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มขาขึ้น
"ผู้ประกอบการอสังหาฯ ไม่เสี่ยงที่จะมีปัญหาเครดิต โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้กับสถาบันการเงิน เพราะนั่นหมายถึงปัญหาระยะยาวที่จะถูกสถาบันการเงินไม่ไว้ใจ และยิ่งกำลังซื้อลดลง เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย การตั้งมั่นเพื่อประคองฐานะไม่ให้ถดถอย เป็นเรื่องที่ทุกบริษัทตระหนัก และมีบทเรียนเรื่องเอ็นพีแอลมาแล้ว" แหล่งข่าวกล่าว
ปูนใหญ่จี้เร่งแก้ลอจิสติกส์
นายกานต์ ตระกูลฮุน รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงถึง 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ย่อมทำให้เศรษฐกิจของประเทศต้องชะลอตัวลง ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกเดือนละ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13% แต่มีการนำเข้าถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยรายได้จากภาคบริการ อาทิ การท่องเที่ยวก็ลดลง ทำให้ไทยมีปัญหาการขาดดุลบัญชีชำระเงิน ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งแก้ผลกระทบจากราคาน้ำมัน ผลักดันให้มีการลงทุนระบบลอจิสติกส์เพื่อให้มีการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดต้นทุนค่าขนส่งให้ต่ำสุดเพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในต่างประเทศได้
ทักษิณเรียกทีมเศรษฐกิจวันนี้
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในช่วงเย็นวันที่ 11 ก.ค.นี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายก-รัฐมนตรีจะเรียกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเข้าหารืออีกครั้ง เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการรับมือภาวะเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้นหลังจากที่ได้เรียกมาร่วมประเมินสถานการณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และฝากการบ้านให้ไปทำในวันเสาร์ และอาทิตย์ โดยเฉพาะให้ทุกหน่วยงานยืนยันตัวเลขความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่ามีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร
รายงานข่าวแจ้งว่ามาตรการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นที่ขณะนี้นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านนโยบายนายกรัฐมนตรีได้สรุปและรวบรวมรายงานเพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบในวันจันทร์ที่ 11 ก.ค.นี้ โดยพ.ต.ท.ทักษิณ จะนำรายละเอียดดังกล่าวกลับไปร่างด้วยตัวเอง ก่อนที่จะนำไปกล่าวในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง "ประเทศไทยกับเศรษฐกิจฐานความรู้" ในงานกาล่าดินเนอร์ "72 ปี มงฟอร์ตร่วมต่อเติมอนาคตการศึกษาไทย" ในวันอังคารที่ 12 ก.ค. เวลา 21.00 น. ณ หอประชุมกองทัพเรือ พระราชวังเดิม กรุงเทพมหานคร โดยใช้เวลาปาฐกถาประมาณ 45 นาที
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่าในมาตรการระยะสั้น มีความเป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรีจะรับข้อเสนอของนายพันศักดิ์ ในประเด็นการเร่งลอยตัวราคาน้ำมัน โดยการทำแผนอนุรักษ์พลังงาน การกระตุ้นการจ้างงานโดยเฉพาะแรงงานภาคการผลิต การจ้างงาน ในโครงการพิเศษหรือชั่วคราว ในส่วนของนักศึกษา ที่เพิ่งจบการศึกษาและว่างงาน ซึ่งเชื่อว่าโครงการเหล่านี้จะสามารถบรรเทาผลกระทบในระยะสั้นได้ นอกจากนั้นยังร่วมไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือผู้รับเหมาก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบมาอย่างยาวนาน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี อาจจะเล่าถึงงบประมาณด้านการกระตุ้นการท่องเที่ยว เร่งด่วนในปี 2548 ที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรฐมนตรี และรมว.คลัง เห็นชอบงบประมาณ 2,500 ล้านบาทในหลักการ ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยนำไปจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะการจ้างงาน โดยเน้นการท่องเที่ยวเป็นหลัก นายกรัฐมนตรียังอาจจะเห็นชอบกับการเร่งรัดโครงการหมู่บ้านนำร่อง เอสเอ็มแอล ที่จะมีการอนุมัติงบประมาณให้แก่หมู่บ้านที่เหลือ
รายงานข่าวระบุอีกว่า มาตรการระยะสั้นที่รัฐบาลจะประกาศออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จะเป็นไปในลักษณะการเร่งกระบวนการนำเงินเข้าสู่ ระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้น โดยผ่านงบประมาณ ทั้งงบประมาณปกติ และงบกลาง ทั้งนี้ในส่วนของงบประมาณนั้น มีแนวคิดที่จะเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินเดือนข้าราชการที่รัฐบาลประกาศปรับเพิ่มขึ้น ในเดือน เม.ย.49 แต่จะเลื่อนเร่งเบิกจ่ายในเดือน ต.ค.ปีนี้
สำหรับ 12 มาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย 1. การเพิ่มรายได้ข้าราชการ โดยเลื่อนการขึ้นเงินเดือนจากเดิมเมษายน 2549 เป็นตุลาคม 2548 แทน เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ 2. ปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ค่าครองชีพ 3. มาตรการภาษีเพื่อให้เอกชนปรับฐานเงินเดือน โดยให้เอกชนจัดค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งเป็นค่าฝึกอบรม และพัฒนาบุคลากร ให้พนักงานไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อปรับฐานเงินเดือน และให้เอกชนนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการ เสียภาษีได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง 4. ยกระดับสินค้าเกษตร ให้กระทรวงพาณิชย์กลับไปพิจารณามาตรการ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อของเกษตรกร 5. ประเมินที่ดินรายปีให้เป็นตีมูลค่าทรัพย์สิน เพื่อให้ราคาที่ดินตรงความเป็นจริงมากขึ้น 6. เร่งรัดงบประมาณ ให้เบิกจ่ายได้เร็วขึ้น
7. ปรับโครงสร้างหนี้บุคคล เพื่อลดภาระ 8. ลดค่าใช้จ่ายเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา เช่นเงินทุนให้ยืมก่อนแล้วผ่อนรัฐบาลทีหลัง เงินกู้เพื่อการศึกษาเพื่อลดภาระผู้ปกครอง 9. สร้างเสถียรภาพราคาน้ำมัน เช่น การตั้งกองทุนลดความเสี่ยง 10. เร่งเบิกจ่ายเงินงวด โดยเฉพาะโครงการที่มีคำยืนยันว่ามีการส่งมอบของ (แอล/ซี) ก็ให้เบิกจ่ายงบฯได้โดยไม่ต้องรอว่าจะต้องมีการส่งมอบของหรือโครงการ 11. ฝึกอบรมด้านบริการโดยเฉพาะ ท่องเที่ยว 12. ประชาสัมพันธ์ข่าวเศรษฐกิจให้ชัดเจน เช่น ตัวเลขนำเข้าส่งออก
เปลี่ยนเมกะโปรเจกต์เป็นหมกโปรเจกต์
นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ กล่าวถึงโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ว่าเป็นโครงการหมกโปรเจกต์ ประกอบด้วย
1. หมกการขาดดุลฯ เพราะไม่ได้บอกความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการขาดดุลฯ เพราะการชี้แจงของกระทรวงการคลังล่าสุด ได้ปรับสมมติฐานให้การส่งออกโต 15% ราคาน้ำมัน 53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งๆ ที่แผนการลงทุนที่เสนอต่อ ครม. เมื่อ 14 มิ.ย.48 ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 45.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และการส่งออกปี 48 โต 20% ยังพบว่าขาดดุล 2.04%, 3.29% และ 2.15%ของจีดีพี ระหว่างปี 50-52 ตามลำดับ ดังนั้นผลการวิเคราะห์ล่าสุดน่าจะขาดดุลฯ มากขึ้น แต่กระทรวงการคลังยังยืนยันว่าจะไม่เกิน -2% GDP
2. หมกค่าโง่ การที่รัฐบาลยืนยันมาโดยตลอดว่าหากขาดดุลเกินกว่าที่กำหนดจะชะลอโครงการที่มีความสำคัญน้อยกว่าออกไป ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการอย่างไรและไม่รู้ว่าใช้เกณฑ์อะไร และถ้ารัฐเร่งทำโครงการต่างๆ พร้อมๆ กัน เมื่อเริ่มต้นก่อสร้างแล้วจะชะลอได้อย่างไร เพราะเมื่อเริ่มต้นลงทุนก่อสร้างโครงการต่างๆ การชะลอโครงการ หมายความว่า รัฐจะผิดสัญญากับผู้รับเหมา รัฐต้องจ่ายค่าเสียหาย หรือค่าโง่ให้แก่ผู้รับเหมา ซึ่งมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก และมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ก่อสร้างต่อ
3. หมกการนำเข้า รัฐบาลจะควบคุมสัดส่วนการนำเข้าให้อยู่ที่ 30% ได้อย่างไร ในเมื่อราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินมีสัดส่วนนำเข้าโดยตรง 40% แม้จะมีแนวคิดจัดตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในประเทศ แต่อุตสาหกรรมรถไฟฟ้าใช้เทคโนโลยีชั้นสูง การผลิตในประเทศจึงช่วยลดสัดส่วนการนำเข้าได้ไม่มากนัก และหากโครงการต่างๆ เริ่มต้นไปแล้ว พบว่ามีสัดส่วนการ นำเข้าโดยรวมเกิน 30% จะควบคุมอย่างไร รัฐบาลจะเปลี่ยนสเปกของโครงการกลางทาง เหมือนกรณีสนามบินสุวรรณภูมิหรือไม่ และหากมีวัสดุอุปกรณ์ที่มีสัดส่วนการนำเข้าต่ำกว่า ทำไมไม่กำหนดสเปกไว้ตั้งแต่ก่อนทำสัญญาก่อสร้าง
4. หมกการอุดหนุน รัฐบาลไม่ได้แสดงตัวเลขออกมาให้ชัดเจนว่า ความคุ้มค่าของแต่ละโครงการเป็นอย่างไร ในอนาคตรัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระหนี้ และอุดหนุนโครงการทั้งหมดในแต่ละปีเป็นเงินเท่าไร แม้ว่าเมกะโปรเจกต์จะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ส่วนใหญ่อาจไม่คุ้มทุน ทำให้เอกชนไม่ลงทุน รัฐบาลต้องเป็นผู้ลงทุนและดำเนินการเองทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้รัฐรับภาระอุดหนุนโครงการอย่างไม่สิ้นสุดอย่างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน ไม่เห็นด้วยที่จะนำเงินภาษีของประชาชนทั่วประเทศมาอุดหนุนให้กับคนกรุงเทพฯเพื่อจังหวัดเดียว เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างเท่าเทียมกันทั้งประเทศ
"รัฐบาลควรศึกษาโครงการต่างๆ ให้รอบคอบ ก่อนเริ่มโครงการ อย่าก่อสร้างไปเปลี่ยนสเปก ของโครงการไป หรือเปลี่ยนสเปกกลางอากาศ รวมทั้งต้องกำหนดแผนสำรองกรณีแย่ที่สุดเอาไว้ด้วย เช่น หากงบบานปลายจะหาเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากแหล่งใด นอกจากนี้รัฐบาลควรปรับรูปแบบการลงทุนและการบริหารบางโครงการให้เป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น เพื่อจูงใจให้เอกชนมาร่วมลงทุน และลดภาระทางการคลังของรัฐบาลด้วย" นายเกรียงศักดิ์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|