|
NSK ทุ่มพันล้าน ดันไทยฐานผลิตลูกปืนล้อกระบะ
ผู้จัดการรายวัน(8 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เอ็น เอส เค แบริ่งส์ ทุ่มทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ใช้ไทยเป็นฐานส่งออก สร้างโรงงานใหม่ ขยายไลน์ผลิตตลับลูกปืนสำหรับล้อรถกระบะ พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแกนพวงมาลัยขยายตลาดสู่อเมริกา มั่นใจยอดขายได้ตามเป้าแม้เศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงขาลง เชื่อตลาดรถยนต์ไม่ร่วงตาม
ดร.พรเทพ พรประภา ประธานบริษัท เอ็น เอส เค แบริ่งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางบริษัทได้มีแผนที่จะขยายโรงงานในเฟสที่ 2 เพื่อใช้เป็นโรงงานผลิตตลับลูกปืนสำหรับล้อรถกระบะ ใช้เงินลงทุนประมาณ 750 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มโครงการได้ในปี 2549 โดยโรงงานดังกล่าว ทาง เอ็น เอส เค ประเทศญี่ปุ่นต้องการให้เป็นฐานการผลิตตลับลูกปืนสำหรับล้อรถกระบะโดยเฉพาะเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ จากเดิมที่ฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น
"โรงงานในเฟสที่ 2 นี้อยู่ระหว่างการยื่นเรื่องเสนอกับทางบอร์ดบริหารทั้งหมด คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในปีหน้า โดยทางเอ็น เอส เค ประเทศญี่ปุ่นจะย้ายฐานการผลิตตลับลูกปืนรถกระบะ มาผลิตที่ประเทศไทย และส่งออกไปจำหน่ายตามออเดอร์ของทางบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยโรงงานเดิมจะยังคงผลิตตลับลูกปืนสำหรับงานอุตสาหกรรมอื่นๆ และจะเพิ่มกำลังการผลิตจากเดิม 12 ล้านชิ้นต่อปี เป็น 15-16 ล้านชิ้นในปีหน้า"
นอกจากการขยายโรงงานและเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนของตลับลูกปืนแล้ว ทางบริษัทยังมีแผนที่จะขยายไลน์การผลิตในส่วนของบริษัท สยาม เอ็น เอส เค สเตียริ่ง ซิสเต็มส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตแกนพวงมาลัยรถยนต์และรถบรรทุกของเอ็น เอส เค โดยใช้เงินลงทุน 150 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต อีก 20% จากเดิมที่มีกำลังการผลิตประมาณ 7 แสนชิ้นต่อปี โดยจะทำการส่งออกสินค้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณ 80% จากยอดการผลิตทั้งหมด
และทางเอ็น เอส เค ประเทศญี่ปุ่นยังได้ลงทุนกว่า 51 ล้าน ในการก่อสร้างศูนย์ เอ็น เอส เค เอเชีย แปซิฟิก เทคโนโลยี เซ็นเตอร์ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครอบคลุมพื้นที่กลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย และออสเตรเลีย มีหน้าที่วิจัยและทดสอบคุณภาพสินค้าของเอ็น เอส เค ซึ่ง ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 5 ที่มีการก่อตั้งศูนย์เทคโนโลยีนี้นอกเหนือจากที่ประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ซึ่งการก่อตั้งศูนย์เทคโนโลยีในครั้งนี้จะทำให้การขายสะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาสินค้าที่ผลิตจะต้องถูกนำกลับไปตรวจสอบที่ประเทศญี่ปุ่นก่อน ทำให้ต้องใช้เวลาหลายขั้นตอน การมีศูนย์เทคโนโลยีที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้จะส่งผลดีต่อประเทศไทย ร่วมถึงการลดขั้นตอนเรื่องของส่งออกอีกด้วย
ดร.พรเทพ กล่าวต่อว่า สำหรับเป้าหมายในปีนี้ ทางบริษัทต้องการที่จะขยายตลาดการส่งออกให้ได้ถึง 20% โดยปัจจุบันมีตลาดส่งออกอยู่ประมาณ 13-15% จากกำลังการผลิตทั้งหมด เพื่อรองรับตลาดภายในประเทศที่เริ่มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ถึงอย่างไรก็ยังมั่นใจว่าผลประกอบการในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย 2,600 ล้านแน่นอน เพราะตลาดหลักของบริษัทคือ ตลาดโรงงานประกอบรถยนต์ โดยมีลูกค้ารายใหญ่อย่าง โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน ฟอร์ด-มาสด้า
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|