จากวัฒนธรรมสู่ความแนบแน่นทางเศรษฐกิจของบัณฑูร ล่ำซำ


ผู้จัดการรายวัน(8 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

หากพูดถึงการเข้าไปลงทุนในแดนมังกรแล้ว หลายคนคงนึกถึงแต่ภาพกำลังซื้อและตลาดขนาดมหึมา ซึ่งเป็นสิ่งหอมหวนเย้ายวนนักลงทุนยิ่งนัก แต่จากประสบการณ์ของคุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ผู้นำธนาคารจากประเทศไทยไปแผ่สาขาและสำนักงานตัวแทนแล้ว 4 แห่ง (เซินเจิ้น คุนหมิง เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง) บนแผ่นดินมังกร ได้ให้ทัศนะว่า "จีนยังคงเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงอยู่ เราไม่อยากก้าวพลาด เพราะอาจเกิดอาการไม่กล้าเดินต่อ สำเร็จทีละนิดดีกว่าบุ่มบ่ามเข้าไปแล้วเดินต่อไม่ได้" อันสะท้อนถึงความรอบคอบในการเดินเข้าหาตลาดที่น่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ขณะเดียวกัน คุณบัณฑูรก็ยังเห็นว่า การทำความเข้าใจกับจีนในทุกแง่มุม โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรม เป็นเรื่องสำคัญมากในการเข้าหาจีน

-ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปในจีนจนถึงวันนี้ผ่านอุปสรรคมามากน้อยแค่ไหน

แต่ละธุรกิจมีโจทย์ไม่เหมือนกัน อย่างสถาบันการเงินก็มีกฎกติกามากมาย รวมถึงมีความเสี่ยง อย่างกสิกรก็เข้าไปในจีนเป็น 10 ปีแล้ว แต่ไม่ได้ทำอะไรใหญ่โตนัก เราเพียงรู้แต่ว่าจีนจะมีความสำคัญขึ้นมา การมีสำนักงานตัวแทนก็เท่ากับเป็นการสร้างความสัมพันธ์ไว้ขั้นหนึ่งแล้ว พอมาเมื่อ 7-8 ปีที่แล้วที่เกิดวิกฤต (เศรษฐกิจเอเชีย) เราก็เน้นการจัดการภายในประเทศ โชคดีที่เราไม่ได้ปิดสาขาในจีน เมื่อเราเข้มแข็งขึ้นมาได้ ก็เป็นจังหวะที่จีนเริ่มแข็งแกร่งขึ้นมาอย่างมาก

การเข้าไปในจีนของเราก็เท่ากับเป็นก้าวที่เข้าไปเรียนรู้ โดยเฉพาะสถาบันการเงินก็เป็นส่วนที่มีกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ มากมาย เพราะฉะนั้น จึงต้องเดินทีละขั้น ในการสร้างความสัมพันธ์ก็ต้องเริ่มทำ มันต้องใช้เวลา ต้องเดินทางบ่อย เพราะประเทศจีนกว้างใหญ่ ไม่ใช่ไปแล้วจะได้พบทุกคนตามความต้อง การได้ทันที

-การที่คุณบัณฑูรเดินทางไปเมืองจีนบ่อยเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ชัดเจนมาก ตึกสร้างกันเร็วมาก โดยเฉพาะในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเมืองทางภาคตะวันออก เป็นเมืองทันสมัยเหมือนที่อื่นๆในโลก แต่ในฝั่งตะวันตกก็ยัง "ตามหลัง" อยู่ ไม่ใช่ "ล้าหลัง" นะ รัฐบาลจีนก็มีนโยบายที่จะเบนเงินลงทุนไปลงทางฝั่งตะวันตกให้มากขึ้น เพื่อจะได้ไล่กวดความเจริญที่ฝั่งตะวันออกนำหน้าไปแล้ว เพราะเขามีคนที่จะต้องหลุดออกมาจากระบบคอมมิวนิสต์ และการเปลี่ยนมาเป็นสังคมเมืองนั้น ก็ต้องมีธุรกิจ อุตสาหกรรมรองรับ และเป็นความกดดันในการจัดการของประเทศเขา

-จากการติดต่อกับประเทศจีนมาเป็นเวลาพอสมควร พอจะสรุปว่าเราควรจะเข้าหาจีนอย่างไร

ในภาพใหญ่จีนมีคนไปง้อเยอะ เพราะความเป็นตลาดใหญ่และมีโอกาสมาก แต่การทำตลาดจีนก็ไม่ใช่จะทำกำไรกันได้ง่ายๆ คนจีนเป็นคนค้าขายเก่ง ก็ต้องหาข้อตกลงที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเราต้องเรียนรู้ กฎ กติกาทั่วไปที่ใช้ในการค้าขาย ภาษาก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อไปถึงหากต้องการให้สะดวกที่สุดก็ต้องมีคนพูดภาษาจีนได้ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบัน ระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้ก็ต้องค่อยๆ สร้าง และเข้าใจวัฒนธรรมของเขาด้วย

-จากมุมมองที่คุณปั้นได้ไปสัมผัสกับจีน คิดว่าจีนมองไทยอย่างไร

จีนก็มองไทยเหมือนทุกที่ คือเขาได้ประโยชน์ไหม ฝั่งเราก็ต้องดูว่าเราจะได้ประโยชน์อย่างไร และหาจุดลงตัวของ 2 ฝ่าย

-แนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะไปในทิศทางไหน

แนวโน้มของไทยก็หนีไม่พ้นจะมีสัมพันธ์กับจีนในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านการเมือง การค้า และวัฒนธรรม โดยในด้านวัฒนธรรมก็อาจจะมีภาพยนตร์จีนรุ่นใหม่ๆ เข้ามา มากขึ้นไม่แพ้หนังฮอลลีวูด โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ จีนเป็นตลาดที่สำคัญ ทั้งยังเป็นคู่แข่ง หากเป็นสินค้าที่ผลิตเหมือนๆ กัน จีนก็จะได้เปรียบทางด้านต้นทุน ไทยก็ต้องหารูปแบบที่ให้อยู่ได้

นอกจากนั้น ในแง่ของเศรษฐกิจก็ต้องค้าขายกันมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย การที่พ่อค้าไทยจะไปทำธุรกิจในประเทศจีนก็ไม่ใช่ทุกคนที่ประสบความสำเร็จ เพราะว่ามีโจทย์เรื่องภาษา การเป็นสายเลือดเดียวกัน แต่คนไทยไม่เก่งเรื่องภาษาจีน กฎ กติกาของการค้า ความรู้เกี่ยวกับตลาด เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้แล้วจึงไปทำธุรกิจอย่างได้ผล

ขณะเดียวกัน จีนก็เริ่มออกนอกประเทศมากขึ้น เริ่มต้นก็คือนักท่องเที่ยวจีนปัจจุบันก็ชอบมาเที่ยวเมืองไทย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเน้นให้มีการลงทุนนอกประเทศโดยนักธุรกิจที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาขั้นหนึ่ง แล้ว มีความแข็งแกร่งทางการเงินขึ้นมาขั้นหนึ่งแล้ว ฉะนั้น จากกระแสอันนี้เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะไปกับเขาได้ ถ้าเป็นธนาคารก็หมายความว่าให้บริการนักธุรกิจจีนหรือนักท่องเที่ยวจีน ในมุมที่สถาบันการเงินหนึ่งพึงจะกระทำได้ ก็ต้องพัฒนาไปในแนวนั้น

-หนังสือและสารคดี "จากฮวงโหสู่เจ้าพระยา" กำลังได้รับการตอบรับจากสาธารณชนเป็นอย่างดี แรงบันดาลใจที่ต้องใช้เวลาถึง 3 ปีในการ ผลิตโครงการนี้คืออะไร

เรื่องจีน-ไทย สำหรับประเทศไทยถือว่าพิเศษกว่าประเทศอื่น คือสองชนชาตินี้เข้ามาอยู่กันอย่างกลมกลืน เหมือนเป็นสายเลือดเดียวกัน สำหรับหนังสือเล่มนี้เป็นการเรียบเรียงเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงการเคลื่อนลงมาแหลมสุวรรณภูมิที่ประเทศไทยของคนจีนในรอบ 100-200 ปีที่ผ่านมา ที่จริงเป็นเรื่องที่มีการค้นคว้าศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมาแล้ว เพียงแต่คณะผู้เขียน นำโดยคุณประภัสสร เสวิกุล นำมารวบรวมและเรียบเรียบให้อยู่ในภาษา ลำดับเหตุการณ์ที่อ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย คืออ่านแล้วสนุก ก็จะได้ทั้งความรู้และบันเทิงไปด้วย

ทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำออกมาในเชิงการค้า ไม่มีใครได้ผลประโยชน์ทางการค้าจากเรื่องนี้ รายได้ทั้งหมดทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระเทพรัตนฯ ส่วนลิขสิทธิ์ของหนังสือ รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ออกมาจากหนังสือเล่มนี้ ก็มอบให้สภากาชาดไทยทั้งหมด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.