เนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีคลังในยุควิกฤติศรัทธา

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

"ผมอยากให้พูดน้อยลงหน่อย" เป็นคำแนะนำที่วิโรจน์ นวลแขมีต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เนวินชิดชอบที่มีโอษฐลักษณ์โดดเด่นจนคนลือ

จนกระทั่งเกิดวิกฤตศรัทธาสะท้อนออกมาในรูปดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯที่ร่วงไปแล้ว 140 จุดในรอบหนึ่งเดือนจากจุดสูงสุด 1461.01 ณ วันที่ 14

กรกฎาคมที่ประเทศไทยมีรัฐบาลผสมสารตะกั่วนำโดยนายกรัฐมนตรีชื่อบรรหาร ศิลปอาชา บ่อยครั้งจึงเห็นสุรเกียรติ์ เสถียรไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอายุน้อยที่สุดที่มีอหังการของนักวิชาการออกหน้าทุกงานและเกือบทุกวันจะมีข่าวรมว.คลังหนุ่มช่างพูดคนนี้ ขณะที่เนวินจะอยู่ฉากหลังแบบซุ่มเงียบ

แม้แต่วันที่มอบนโยบายวันแรกที่กรมธนารักษ์ สุรเกียรติ์ใช้เวลาแถลงนโยบายนานเป็นชั่วโมง ขณะที่เนวิน รัฐมนตรีช่วยผู้กำกับดูแลกรมธนารักษ์โดยตรงกลับพูดน้อยกว่า

แต่ใช้ลีลาปราศรัยแบบดาวสภาที่เต็มไปด้วยสำนวนนักการเมืองผู้พร้อมจะรับใช้ประชาชนว่า "สิ่งหนึ่งที่ต้องกราบเรียนว่า

ในช่วงที่ผมกำกับดูแลกรมธนารักษ์อยู่ส่วนการปฎิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการ อะไรที่เป็นปัญหาของกรมธนารักษ์ที่จะประสบในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบุกรุกหรือปัญหาใดๆก็ตาม

ผมเรียนยืนยันว่า ผมยินดีเคียงคู่กับพี่น้องข้าราชการระดับสูงของกรมธนารักษ์ทุกท่านในการต่อสู้กับทุกปัญหา"

เนวินยืดอกพูดท่ามกลางข้าราชการระดับสูงของกรมธนารักษ์เกือบร้อยในวันแรกที่มอบนโยบายแก่กรมธนารักษ์ สำหรับรัฐมนตรีช่วยฯหนุ่มวัย 37 ปี

อย่างเนวินเป็นกรณีตัวอย่างหนึ่งของนักการเมืองบ้านนอก ที่มีการศึกษาเพียงอนุปริญญาจากวิทยาลัยครู แต่อาศัยบันไดการเมืองผนวกกับกลยุทธ์ "ทีมเจาะเกราะ"

ป้อนข้อมูลอันแหลมคมอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ทำงานเป็นผ่ายค้านที่แข็งแกร่งด้วยการอัดรัฐบาลด้วยข้อมูลกรณี ส.ป.ก.4-01 (พลิกไปอ่านปูมชีวิตเนวิน)

จากผลงานฝ่ายค้านอันเข้มแข็งผนวกกับผลประโยชน์เชิงซ้อนระหว่างกลุ่ม 16 ของกลุ่มเทิดไทยในพรรคชาติไทย

ได้กลายเป็นสปริงบอร์ดให้หนุ่มบ้านนอกอย่างเนวินก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้อย่างเหลือเชื่อ แต่เนวินจะสร้างผลงานการเงิน การคลังไม่ได้เลย

เมื่อภูมิปัญญาบารมีด้านนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ มิหนำซ้ำยังถูกกระแสการเมืองจากทุกสารทิศเล่นงานให้ต้องพ้นขอบเขตของงานกำกับดูแล ด้านตลาดเงินตลาดทุน จากประวัติความไม่โปร่งใส

ที่ลือกันไปถึงวิกฤตศรัทธาในขุนคลังชุดใหม่นี้ก่อเหตุหุ้นตกวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม ไปปิดตลาดที่ -31.47 จุดและตามด้วยการยื่นใบลาออกของเอกกมล คีรีวัฒน์ เลขาธิการ ก.ล.ต.

ในวันเสาร์เพื่อรักษาศักดิ์ศรี ก.ล.ต. แต่ถูกยับยั้งในที่สุด "เรื่องที่คุยกันไม่ใช่การต่อรองใดๆทั้งสิ้น เพราะทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯและก.ล.ต.

มีกลไกการทำงานของตัวเองอยู่แล้วกระทรวงการคลังไม่เคยเข้าไปแทรกแซง" รมว.คลังสุรเกียรติ์แถลงไขข้อข้องใจส่วนเรื่องสำนักงานทนายความสากลสยามพรีเมียร์ที่รับว่าความให้เสี่ยสอง

วัชรศรีโรจน์ นั้น สุรเกียรต์ปฎิเสธว่าลาออกจากประธานบริษัทนานแล้ว ทำแต่งานวิชาการและคณบดีนิติศาสตร์ จุฬาฯ ดังนั้น เนวิน ชิดชอบ

จึงได้รับการแบ่งงานให้คุมสองกรมเล็กพริกขี้หนูอย่างกรมบัญชีกลางที่บริหารโดยอธิการบดีปรีดีบุญยัง และกรมธนารักษ์ ซึ่งมีอธิบดีเก๋ากึกที่มีลำดับอาวุโสคนที่สองของกระทรวงการคลังอย่าง นิพัทธ์

พุกกะณะสุต ที่เคยทำงานใกล้ชิดกับบรรหาร ศิลปอาชา สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มอบหมายให้นิพัทธ์

สมัยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังดูแลงานก่อสร้างศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันนี้นิพัทธ์จึงถูกจับตาว่าอาจเป็นแคนดิเดทแข่งกับหมายเลขหนึ่งคือหม่อมเต่าจัตุมงค

โสณกุลในตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังสืบต่อจากอรัญ ธรรมโนที่จะเกษียณ 30 กันยายน ปีนี้ นอกจากนี้แหล่งพื้นที่ผลประโยชน์ภายใต้การดูแลของเนวินยังครอบคลุมไปถึงกิจการโรงงานยาสูบ

ธนาคารออมสิน บริษัททิพยประกันภัย และโรไพ่ด้วย ความจริงแล้วกรมบัญชีกลาง เปรียบเสมือนโรงเรียนนักบริหารคลังมือใหม่อย่างเนวินควรเรียนรู้ เพราะเป็นกรมวิชาการที่เต็มไปด้วยข้อมูลตัวเลข

และทำหน้าที่เป็นกรมแม่บ้านเสนอทุกเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ทำเรื่องอนุมัติเบิกจ่ายตามงบประมาณของคลังจังหวัดและดูแลรัฐวิสาหกิจ

แต่เนวินกลับสนใจงานกำกับดูแลกรมธนารักษ์อย่างยิ่ง เพราะกรมธนารักษ์เป็นแหล่งผลประโยชน์มหาศาลที่มิใช่เพียงแค่ผลิตเหรียญเท่านั้น

แต่ยังมีงานดูแลกำกับใหญ่คือการจัดการทรัพย์สินที่ราชพัสดุ 12,520 ล้านไร่มูลค่า 154,704 ล้านบาท ที่ซึ่งเสือเฒ่าเจนสังเวียนนักการเมืองอย่างอธิบดี นิพัทธ์

พุกกะสุตบริหารอยู่(ดูตารางที่ดินกรมธนารักษ์ประกอบ) ปีที่แล้ว กรมธนารักษ์มีรายได้หลักมาจากการจัดประโยชน์ที่ราชพัสดุประมาณ 767 ล้านบาทกับรายได้จากเหรียญกษาปณ์ 626 ล้านบาท

กรมธนารักษ์มีพื้นที่จัดให้เช่า 8 แสนไร่โดยตีมูลค่าที่ดิน 115,941 ล้านบาทท ที่ดินใช้ในราชการทหารเนื้อที่ 5 ล้านไร่กว่า และที่สงวนไว้ใช้ราชการ อีก 3 แสนไร่ มูลค่า 19,519

ล้านบาท(ดูตารางรายได้กรมธนารักษ์) ตัวอย่างอภิมหาโครงการหมื่นล้านอย่าง "ศูนย์ขนส่งระบบรถไฟฟ้าและรถโดยสาร" บนเนื้อที่ 63 ไร่

ก็เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาที่ราชพัสดุเพื่อแก้ปัญหาจราจรขณะนี้อยู่ระหว่างประมูลสามรายคือธนายง ไทยฟาและกลุ่มทานตะวัน

กรมธนารักษ์มีปรัชญาในการจัดหาประโยชน์ในเชิงธุรกิจยุคใหม่ ที่คำนึงถึงแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตสังคม และผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าใครเสนอรายได้มากที่สุดได้สิทธ์ไป

โดยกรมธนารักษ์จะเริ่มใช้ปรัชญานี้กับโครงการที่มีขนาด 2 ไร่ขึ้นไปหรือมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไปก็ต้องคิดแบบนี้หมด เมื่อดูภาพและโมเดลของการแสดงอาคารพาณิชย์ที่สร้างบนเนื้อที่ราชพัสดุ

ที่แสดงโชว์ต่อรมว.สุรเกียรติ์และรมช.คลังเนวิน จะเห็นการเน้นการใช้ประโยชน์พื้นที่ใช้สอยเป็นอาคาร 60% ควบคู่กับส่วนพื้นที่สีเขียว 40% เช่นโครงการตึก 29 ชั้นที่บริษัทโอเรียนเต็ล จิวเวอรี่

ประมูลที่ราชพัสดุที่ส่วนใหญ่ นนทบุรีพื้นที่2-1-57 ไร่ได้ ด้วยเสนอค่าเช่า 30 ปีมูลค่า 54.7 ล้านบาท กับค่าธรรมเนียม 25 ล้านบาท "ส่วนใหญ่เรามองในเชิงพาณิชย์มาก

เดิมกรมธนารักษ์ถือปฏิบัติพื้นที่สีเขียว กับพื้นที่อาคารใช้สอย 60-40 รัฐมนตรีว่าการท่านบอก 60-40 แต่ผมขอเป็นคนคลาง 50-50 แต่ว่าบางพื้นที่ต้องเป็นพื้นที่สีเขียวทั้ง 100%" "ขอ" อีกแล้ว

เช่นเดียวกับขออนุญาตรมว.คลังว่าจะไม่ยินยืมส่งมอบพื้นที่ที่ราชพัสดุให้กับ ส.ป.ก. แม้แต่แปลงเดียวเพราะไม่เห็นประโยชน์ สู้ปล่อยเช่าราคาถูกและเสนอให้ยืดอายุสัญญาเช่าจาก 30 ปีให้ยาวถึง 50

ปีเฉพาะผู้เช่าเพื่ออยู่อาศัย ขณะที่งานราษฎร์โรมรันพันตู งานหลวงอย่างโครงการย้ายหน่วยราชการใจกลางเมืองเช่น ย้ายกรมปศุสัตว์บริเวณราชเทวี แล้วบริษัทเอกชนประมูลสร้างอาคารสูง 36

ชั้นมูลค่า 1,700 กว่าล้านบาท ขณะที่จ่ายค่าเช่าให้ 65 ล้าน ค่าธรรมเนียม 20 ล้านบาทแก่กรมธนารักษ์ แนวความคิดของนิพัทธ์จึงมองดูเสมือนหนึ่งว่ารัฐได้ผลตอบแทนฟรีๆโดยไม่มีต้นทุดนที่ต้องจ่าย

ส่วนแผนงานใหญ่ที่เตรียมย้ายหน่วยงานในเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นกรมสรรพากร กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สำนักสถิติแห่งชาติและอื่นๆ อีกรวม 30

หน่วยงานทำให้เกิดปัญหาโอเวอร์ดีมานด์ คือ มีหน่วยราชการขอใช้ที่ราชพัสดุมากถึง1,777 ไร่ แต่พื้นที่ที่กรมธนารักษ์ ได้รับคืนจากการสื่อสารแห่งประเทศไทยเพียง 400

ไร่เท่านั้นจึงเป็นภารกิจที่กรมธนารักษ์จะต้องทำผังแม่บทจัดทำเป็นศูนย์ราชการรวม เฉกเช่นเดียวกับนโยบายงานหลวงที่เน้นการสร้างสวนเพื่อคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาจราจรแออัด

เช่นโครงการสวนเบญจสิริบนเนื้อที่กรมอุตุนิยมเดิมมูลค่า3,500 ล้านที่แล้วเสร็จไปแล้ว อีกโครงการหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ คือจัดสร้างพระราชอุทยานเฉลิมพระเกียรติฉลองครองราชย์ 50 ปีบนเนื้อที่ 100

ไร่ที่จังหวัดนนทบุรี มูลค่า 937 ล้านบาท และโครงการสร้าง "สวนสันติพร" แบบมีที่จอดรถอยู่ใต้ดิน 3 ชั้นที่บริเวณกรมสรรพากรและกรมประชาสัมพันธูกเพลิงไหม้เมื่อพฤษภาทมิฬก็ต้องทำ

ความสำคัญของกรมธนารักษ์นี้ นักธุรกิจการเมืองจากพรรคชาติพัฒนาอย่างชวรัตน์ ชาญวีรกุล เคยพูดถึงก่อนที่ตนเองจะพ้นตำแหน่งรมช.คลังเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้ว่า

"ที่ผ่านมากรมธนารักษ์ดูค่อนข้างเงียบไม่ค่อยจะมีอะไรให้เป็นที่น่าสนใจมากนักเป็นคล้ายกับแดนสนธยา

แต่หากศึกษารายละเอียดของกรมนี้แล้วจะพบว่าเป็นกรมหนึ่งที่น่าสนใจและมีความท้าทายในการบริหารอย่างมาก

โดยเฉพาะเรื่องที่ดินที่อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ที่เรียกว่าที่ราชพัสดุซึ่งมีเนื้อที่ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่เนื่องจากระยะเวลาในการทำงานเหลืออยู่น้อยมาก

เพราะมีการยุบสภาจึงทำให้ไม่สามารถเข้าไปบริหารได้เต็มที่"อดีต รมช.คลังพรรคชาติพัฒนากล่าว เนวินฉลาดที่จะไม่เข้าไปก้าวก่ายงานประจำของข้าราชการระดับสูง แต่เล่นบท "นักกลยุทธ์ต่อรอง"

ที่สวมวิญญาณนักธุรกิจการเมืองเข้าไปต่อรองผลประโยชน์กับภาคเอกชนแบบ"ล็อค+ขอ" ขณะเดียวกันเนวินก็สร้างภาพพจน์ผู้นำรุ่นใหม่คนหนุ่มไฟแรงที่ทำงานวันเสาร์หรืออาทิตย์

ไม่มีรถตำรวจนำรถเบนซ์ประจำตำแหน่งเหมือนรัฐมนตรีคนอื่นๆ "ขณะที่ผมมีแฮนดิแคป ติดลบ -42 ทุกท่านคงต้องช่วยผมหน่อยต้องเร่งทุกอย่างให้มีประสิทธิภาพ

ผมยึดถือหลักการว่าผมจะไม่แทรกแซงการดำเนินการของกรมธนารักษ์ ผมของอย่างเดียว

อะไรที่เป็นนโยบายผมขอความร่วมมือเป็นกรณีพิเศษขอให้ปรากฎผลเป็นรูปธรรมอย่างเร็วที่สุด…ผมถือว่าผมเป็นนักการเมือง ผมมาแล้วก็ต้องไป และผมไม่ทราบว่าจะได้อยู่นานหรือเร็ว

ขึ้นอยู่กับกลไกทางการเมือง ดังนั้นโครงสร้างภายในผมจะไม่แทรกแซง"เนวินเปิดอกพูดต่อหน้าท่านอธิบดีนิพัทธ์และท่านรองอธิบดี ท่าน ผ.อ.และข้าราชการระดับสูง

เนวินพยายามหลีกเลี่ยงภาพการแย่งชิงอำนาน ภายในกันเองด้วยความไม่พอใจเพราะจากบทเรียนที่ผ่านมา

กรณีศึกษาใหญ่ที่ปะทะกันระกว่างอธิบดีนิพัทธ์กับอดีตรมช.กระทรวงการคลังจากพรรคความหวังใหม่ บุญชู ตรีทอง ถึง ขนาดบุญชู โกรธกริ้วเซ็นทิ้งทวนจะขอแขวนนิพัทธ์ เพื่อสอบทุจริต 7 ข้อหา

ที่ทำให้กระทรวงการคลังเสียหาย และสูญเสียรายได้ในประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ทางการจะได้รับ จากการต่อสัญญาบริหารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ระยะที่ 3 ภายในเวลา 25 ปี

กับบริษัทเอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ฯ ผลของเกมการเมืองครั้งนั้น ธารินทร์ในฐานะเจ้ากระทรวงไม่เล่นด้วย ดังนั้นคนที่ยังอยู่คือนิพัทธ์ แต่คนที่ไป คือ นักการเมืองอย่างบุญชู ตรีทอง และชวรัตน์ ชาญวีระกุล

ซึ่งในช่วงรักษาการได้พยายามให้เกิดการเซ็นสัญญากับเอ็น.ซี.ซี. ก่อนรัฐบาลบรรหารจะเข้ามา "รัฐมนตรีที่มาตามสายงานประชาธิปไตย ผมในฐานะข้าราชการก็คือทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

ขณะที่ท่านทำคือการมาศึกษางานเราคืออะไร มีแผนงานมีระเบียบกฎหมาย ธรรมเนียมประเพณีอย่างไร ถ้าไม่ดีก็ปรับปรุงกัน ก็ว่ากันไปแต่ว่าเรื่องส่วนใหญ่ งานของกรมธนารักษ์เป็นงานปฏิบัติ

ไม่ใช่งานนโยบายส่วนโยบายจะมอบหมาย ก็ว่ากันไปเราไม่มีปัญหา" นิพัทธ์เล่าให้ฟังอย่างสบายๆ

ระหว่างรอรับสองขุนคลังหนุ่มน้อยที่มาล่าช้ากว่ากำหนดเพราะสุรเกียรติ์ติดภารกิจรับแขกบ้านแขกเมืองในเช้าวันนั้น นักการเมืองหนุ่มอย่างเนวินย่อมรู้ทิศทางลม

จากแรงกดดันในด้านลบที่ภาคราชการและเอกชนคาดหวังต่อเนวินมีต่ำมาก กลับเป็นจุดที่เนวินคิดพลิกผันกลยุทธ์สร้างคะแนนนิยมตีตื้นเพื่อทำดีขึ้นเล็กน้อย

โดยเริ่มต้นที่โครงการต่อรองสัญญาเพิ่มเติมกับบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ ของกลุ่มบ้านฉาง ในการบริหารศูนย์

ประชุมสิริกิติ์ที่ค้างคามานานเป็นเรื่องที่เนวินเข้ามาจับผลงานเป็นรูปธรรมเรื่องแรก ซึ่งย่อมสะท้อนแนวคิดและสไตล์การทำงานของเนวินที่ชัดเจนมาก "หลายฝ่ายพยายามมองว่า ผมกับกลุ่มบ้านฉาง

คุณไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ คุณสวัสดิ์ หอรุ่งเรืองมีความผูกพันกัน ใช่ ผม…รู้จักกันเคยคบค้าสมาคมกันเพราะคุณไพโรจน์เป็นวุฒิสมาชิก

แต่ไม่เคยทำธุรกิจเรียลเอสเตทด้วยกันเพราะที่ผมทำอยู่บุรีรัมย์ แต่เมื่อผมยืนอยู่ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถ้าผมเข้าไปจังเรื่องศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นี้

ผมเชื่อว่าด้วยตำแหน่งและด้วยเกียรติของผม ถ้าผมขอ…เขาต้องให้ เพราะเป็นหารขอเพื่อคนทั้งชาติ" ใช่หรือไม่นี้คือความรักชาติของนักการเมืองอย่างเนวิน การสร้างภาพพจน์ "นักต่อรองตัวยง"

ของเนวินที่ใช้เส้นสายสัมพันธ์ธุรกิจกลุ่มบ้านฉางกับกลุ่ม 16 ของสุชาติ-เนวิน

ผูกพันซับซ้อนด้วยผลประโยชน์ธุรกิจการเมือง ทำให้บริษัทเอ็น.ซี.ซี.ยอมเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่กระทรวงกการคลังเพิ่มเติม จากเงื่อนไขสัญญาเดิมสมัยรองปลัดคลังชูชาติ เชาว์วิศิษฐ์ทำไว้ทำให้บริษัท

เอ็น.ซี.ซี. จะต้องนำส่งรายได้เข้ารัฐในมูลค่าปัจจุบัน(NET PRESENT VALUE) 3,130 ล้านบาทใน 25 ปี โดยแบ่งงวดชำระแต่ละปี ปีแรก 256 ล้าน ปีที่สอง 772 ล้าน ปีที่สามถึงปีที่ห้า 100 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือปีที่หกจนกระทั่งถึงปีที่ยี่สิบห้า บริษัทต้องนำส่งเพิ่ม 20% ของปีที่แล้ว เช่นปีที่หกต้องนำส่ง 120 ล้านบาท ปีที่เจ็ดต้องจ่ายเพิ่มเป็น 144 ล้านบาท เป็นต้น "เวลาผมต่อรอง

ผมจะไม่เอาพื้นฐานความคิดแบบระบบราชการไปต่อรองแต่ผมเอาความรู้สึกที่ผมเคยทำธุรกิจมาก่อนมาเจรจากับเขา ผมชี้ปัญหาให้เขาเห็นว่า ถ้าเขาไม่ทำก็มีคนอื่นอยากทำ

และถ้าเขาทำผลประกอบเขาน่าจะกำไรเท่าไหร่ ผมก็จะเรียกร้องในจุดที่เขาให้กับทางการแล้วสามารถอยู่ได้ สิ่งนี้ทำให้คนเห็นว่าเขายอมง่าย

ทำให้ผมไม่เข้าใจว่าในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลที่แล้วเจรจากันอย่างไร" เนวินเล่ากลุยทธ์การต่อรองให้ฟัง สิ่งที่เนวินได้ต่อรองให้เพิ่มเป็นอีกว่าด้วยเรื่องที่หนึ่ง-

การเข้าถือหุ้นของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังที่ต่อรอง 10-15% โดยคาดว่ามูลค่าตามบัญชี จะประมาณหุ้นลุ 15 บาท ขณะที่คาดว่าราคาหุ้นก่อนเข้าตลาดจะประมาณ 40 บาท

เนวินวาดฝันว่าส่วนเกินที่เพิ่มมาหุ้นละ 25 บาท ย่อมตกเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงการคลังในแง่ผู้ถือหุ้น ขณะที่ฝ่ายเอ็น.ซี.ซี. ก็ได้แบ็กอัพด้านภาพพจน์จากคลังที่เข้าถือหุ้น

ก่อผลดีต่อการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยิ่งถ้ามีแผนงานระยะที่สามที่บริษัทเอ็น.ซี.ซี. ต้องสร้างโรงแรมระดับห้าดาวเหมือนดุสิตธานีขึ้นบนเนื้อที่ 53 ไร่ติดกับสวนอุทยานมูลค่า 3,500

ล้านที่กรมธนารักษ์จะสร้างบนเนื้อที่ 430 ไร่เดิมของโรงงานยาสูบที่จะย้ายไป ก็ยิ่งเป็นทำเลทองที่คาดฝันกันว่าจะสร้างรายได้มหาศาลให้แก่เอ็น.ซี.ซี. "การถือหุ้นในสัดส่วน 10-15%

นั้นจะทำให้หน่วยราชการนั้นๆสามารถส่งคนเข้าไปเป็นกรรมการบริหารบริษัทอย่างน้อยหนึ่งคน แนวทางนี้รัฐจะได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น เพราะรายได้ของบริษัทลูกที่เอ็น.ซี.ซี.เข้าไปถือหุ้นมีอยู่ 8 บริษัท"

เนวินพูดแต่ผลดีของการเข้าถือหุ้นของรัฐ สอง-การขอปันผงตอบแทนอีก 10-20% ถ้ามีกำไรเกิน 25% ซึ่งข้อหลังนี้ได้ถูกต่อรองจากเม็ดเงินเป็นส่วนลด 25% ของค่าเช่าพื้นที่ให้แก่หน่วยราชการที่มาใช้

โดยกำหนดเป็นพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 150,000 ตารางเมตรต่อปี หากใช้ไม่หมดก็สะสมไว้ใช่ปีต่อๆไปได้ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 334.38 ล้านบาท แต่ยังเป็นเหตุน่าสงสัยเหตุใดต้องเปลี่ยนเงื่อนไขนี้

เพียงเพราะเหตุผลตื้นๆที่เนวินกล่าวว่าทางการไม่สามารถตรวจสอบบัญชีได้ว่ามีการลงรายรับรายจ่ายทางใดบ้าง ดังนั้นเงื่อนไขที่ให้นำรายได้ส่งรัฐเพิ่มขึ้นหากมีผลประโยชน์มากกว่า 25%

ของผู้ถือหุ้นนั้น อาจจะทำให้รัฐไม่ได้รับประโยชน์เลยจากเงื่อนไข และการประเมินรายได้ยังเป็นเรื่องอนาคตซึ่งไม่แน่นอน แสดงว่าเรื่องเม็ดเงินที่ขอปันผลตอบแทนถ้ามีกำไรเกิน 25% นั้น

เนวินกับกลุ่มบ้านฉางเปลี่ยนไปเป็นส่วนลดแทน สาม-ผลพลอยได้อีกข้อที่ขอปันผลตอบแทนถ้ามีกำไรเกิน 25% นั้น เนวินกับกลุ่มบ้านฉางเปลี่ยนไปเป็นส่วนลอดแทน สี่-

การตั้งบริษัทคอนซัลแตนท์เป็นบริษัทกลางดูแลด้านซ่อมบำรุงศูนญืประชุมฯซึ่งมีการกำหนดงบถึง 3,046 ล้านบาท "ที่คุณเนวินทำเขาฉลาดตรงที่เก็บไปทั้งสองตัว

ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง"อธิบดีนิพัทธ์ให้ความเห็น เนวินทำงานหนักด้วยสำตล์สร้างทีมงานคอยเจาะเกราะเพื่อศึกษาข้อมูลภายใน ทีมงาน "เจาะเกราะ"นี้มีอยู่ประมาณ 4-5

คนกินเงินเดือน"บริษัทเนวินกรุ๊ป" ณรงค์ศักดิ์ เปรมสุข หนึ่งในทีมงานและติดตามเนวินได้เล่าให้ฟังว่า ผลงานที่โดดเด่นของทีมคนหนุ่มนี้ก็คือกรณีข้อมูลเจาะลึกเรื่องอื้อฉาว ส.ป.ก.4-01

ซึ่งทีมงานบางคนแฝงตัวเป็นชาวบ้านฝังตัวอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นเดือนจึงได้ข้อมูลลึกๆที่ฝ่ายค้านคนอื่นไม่มี

"ท่านเป็นคนหนุ่มที่ทำงานจริงจังมากข้อมูลที่เปิดเผยในสภาเป็นเพียงเสี้ยวความจริง ที่ยังมีข้อมูลอีกมากที่พวกเราได้มาแต่ไม่เหมาะสมที่จะเปิดเผย "ทีมเจาะเกราะเล่าให้ฟัง

นอกจากนี้สไตล์การทำงานของขุนคลังอาวุโสน้อยที่สุดยุคนี้ ยังให้ความสำคัญต่อการมีที่ปรึกษาจำนวนมากเพื่อเสริมความมั่นใจในเรื่องต่างๆ เพียงแค่ข่าวสุรเกียรติ์

รัฐมนตรีคลังทาบทามที่ปรึกษาครึ่งร้อยก็กลายเป็นเรื่องที่รมว.คลังต้องออกมาปฏิเสธ และเปิดตัวหัวหน้าที่ปรึกษาตัวจริงอย่างดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการอาวุโสของแบงก์ชาติ

และดร.ศุภัช ศุภชลาศัยกับชาวันย์ สวัสดิ-ชูโต ซึ่งได้เห็นติดตามขุนคลังสุรเกียรติ์ไปงานสำคัญต่างๆ ขณะเดียวกันที่ปรึกษาคนสนิทที่ติดตามเนวินไปทุกหนแห่งก็คือ "เอกชัย อธิคมนันทะ"

ซึ่งเคยเป็นคนแบงก์ชาติ และลาออกมาเป็นผู้บริหารแบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การ แต่ปัจจุบันมาบริหารบริษัทเอิร์ธ อินดัสเตรียล บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ในอดีตมีชื่อว่า "ไทยจิวฟู"

ผู้ถือหุ้นในโรงงานนรก "เคเดอร์" เอกชัยถือได้ว่าเป็นทั้งผู้ช่วยและเพื่อนของเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ และรู้จักกับราเกซ สักเสนา ที่โยงใยไปพัวพันกับเบื้องหลังการซื้อกิจการของนักการเมืองในกลุ่ม 16

เช่น กรณ๊สรอรรถ กลิ่นประทุมกับ ชูชาติ หาญสวัสดิ์ ซึ่งเคยเทคโอเวอร์บริษัท มรกตอินดัสตรี้ส์จากกลุ่มวานิช ไชยวรรณ แล้วขายให้อัดนัน คาชอกกีเจ้าพ่อค้าอาวุธจากซาอุดิอาระเบีย

อย่างไรก็ตามเป้าประสงค์ของเนวินไม่หยุดเฉพาะเรื่องศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่ก้าวต่อไป คือ รุกเข้าไปในโครงการศูนย์รถไฟฟ้าที่หมดชิต มูลค่านับหมื่นล้าน บนเนื้อที่ 63 ไร่ ซึ่งผู้เข้าประมูลสำคัญ

คือ บริษัทบีทีเอสของกลุ่มธนายงพลาดไม่ได้ เพราะผลแพ้หรือชนะการประมูลที่หมอชิตจะมีผลต่อโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสสูงมาก เนื่องจากถ้าประมูลได้

ก็จะทำให้เกิดความอยู่รอดของบีทีเอสและรายได้ของกลุ่มธนายงเพิ่มพูนที่จะสามารถชำระหนี้เอสเตทฯและบริษัทไทยฟาฯ หากจับตาดูให้ดีในช่วงนี้ ภัตตาคารจีน "EASTIN"

ที่เลิศหรูด้วยรสชาติอาหารริมทะเลสาบที่เนวินชมชอบแวะไปทานอาหารย่อยๆ จะอยู่ที่เมืองทองธานี ซึ่งเป็นของตระกูลกาญจนพาสน์ เหตุผลอื่นนอกจากใกล้บ้านที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านพงษ์เพชรแล้ว

อีกเหตุผลคือ เนวินจะใช้กลยุทธ์เจาะลึกเข้าไปหาข้อมูลภายในจากกลุ่มธนายงซึ่งเป็นหนึ่งในสามรายที่เสนอประมูลเนื้อที่ส่วนหน้า 23 ไร่

เนวินต้องเร่งสะสางและต่อรองเมื่อมีการเสนอโครงการนี้เพื่อเพิ่มพูนผลประโยชน์ต่อส่วนรวม เนวินวาดฝันจะสร้าง "ผลงานรูปธรรม"

ที่จับต้องได้ด้วยระยะเวลาสั้นๆในหลายโครงการที่ค้างคาจากรัฐบาลชวน หลีกภัย เช่น เรื่องศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โครงการศูนย์รถไฟฟ้าที่หมอชิต

เรื่องมาตรฐานสากลของเหรียญที่ยังตามเก็บเหรียญเก่าไม่หมด ปรับราคาค่าเช่าเพื่อพาณิชย์และยืดอายุสัญญาเช่าผู้อยู่อาศัยจาก 30 เป็น 50 ปี

ตลอดจนผลักดันบริษัททิพยประกันภัยเข้าตลาดหลักทรัพย์หลังจากที่ค้างมาตั้งแต่ปี 2534 และการยกเลิกการแต่งเครื่องแบบสีกากีของธนาคารออมสิน

ก่อนที่จะรีเอ็นจิเนียริ่งให้ธนาคารออมสินแก้เขเพิ่มเติมเป็นแบงก์พาณิชย์ทั่วไป วันนี้ งานของเนวิน ชิดชอบ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้สะท้อนภาพพจน์ นักต่อรองระดับชาติที่บีบให้กลุ่มบ้านฉางยอมเพิ่มเติมผลประโยชน์ จากการต่อสัญญาเช่าศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นี่เป็นเพียงบทเริ่มต้นแรกที่เนวินสามารถสร้างผลงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เดือนเดียว ยังมีผลประโยชน์ "ส่วนรวม?" อีกมากที่ "รัฐมนตรีทดลองงาน" อย่างเนวินต้องรีบทำ

มิฉะนั้นในเวลาไม่ช้าหรือเร็ววิกฤตศรัทธาจะส่งสัญญาณความไม่เชื่อมั่นเตือนว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลผสมสารตะกั่วยุคบรรหาร 1

อาจต้องเปลี่ยนแปลงขุนคลังที่เหมาะสมด้วยความสามารถและบารมีแท้จริง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.