ทีโอทียึดไทยโมบายได้ 3G สมใจ


ผู้จัดการรายวัน(7 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีโอทีจ่ายเงิน 4 พันล้านบาท แลกหุ้นและความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์ ไทยโมบาย ที่สามารถให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G กับกสท หลังยืดเยื้อมานาน เชื่อส่งผลดีการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะทำให้ภาพรวมแผนธุรกิจทีโอทีด้านมือถือมีความชัดเจนขึ้น

นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม ในเรื่องการโอนหุ้นและความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์ของกิจการร่วมค้าไทยโมบาย โดยมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และนายไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงไอซีที เป็นพยานว่าได้ข้อสรุปการโอนหุ้นและการซื้อคืนความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์แล้ว โดยตัวเลขทั้งหมดที่มีการตกลงกันคือ ทีโอทีจ่ายค่าความถี่ซึ่งสามารถให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G ให้กสท 4,055 ล้านบาท ในขณะที่กสท จะจ่ายเงินคืนให้ทีโอทีจำนวน 55 ล้านบาท เป็นค่าหุ้นที่จะทำให้ทีโอทีกลายเป็นผู้ถือหุ้นเพียงรายเดียว จากเดิมที่ทีโอทีถือหุ้น 58% และกสท ถือหุ้น 42%

การยุติปัญหาเรื่องหุ้นและความถี่ จะทำให้แผนธุรกิจในการให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G ของทีโอทีมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่ปัญหาคาราคาซังเป็นเวลานาน เนื่องจากความเห็นที่แตกต่างกันในการซื้อคืนความถี่ เนื่องจากทีโอทีต้องการจ่ายเงินเพียง 2.5 พันล้านบาท ในขณะที่ กสท ต้องการขายความถี่คืนในมูลค่า 4 พันล้านบาท ส่วนการซื้อหุ้นคืนสามารถบรรลุข้อตกลงก่อนหน้านี้ เพราะทีโอทีได้ลงทุนเป็นเม็ดเงินในกิจการร่วมค้าไทยโมบาย จนเกินมูลค่าหุ้นของกสท หมายถึงกสทต้องจ่ายเงินคืนทีโอที 55 ล้านบาท เพื่อขายหุ้นคืนทีโอที

สำหรับขั้นตอนต่อไปจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดทีโอทีและบอร์ดกสท โดยที่จะใช้วิธีการจ่ายเงินครั้งเดียว 4 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ทีโอทีได้เข้าหารือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ใน 4 ประเด็นหลัก ที่คาดว่านักลงทุนต้องการความชัดเจนเมื่อทีโอทีออกโรดโชว์ ประกอบด้วย 1.การออกใบอนุญาต ที่กทช.จะออกให้ทีโอที ครบทุกประเภทบริการ ภายในสิ้นเดือนก.ค.นี้ ซึ่งหากกทช.ออกใบอนุญาตให้เอกชน ก่อนที่ทีโอทีจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะส่งผลกระทบกับแผนธุรกิจของทีโอที เพราะอาจเกิดการผ่องถ่ายลูกค้าขึ้น 2.การแปรสัญญาร่วมการงาน ซึ่งกทช.แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสัญญาร่วมการงาน โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคู่สัญญาเจราตกลงกันเอง

3. เรื่องกองทุนชดเชยการให้บริการสาธารณะแบบทั่วถึง (Universal Service Obligation หรือ USO) ซึ่งเป็นนโนยบายชัดเจนว่าทีโอทีจะเป็นผู้นำในการให้บริการ USO เนื่องจากต้องให้บริการสื่อสาร ในพื้นที่ซึ่งไม่คุ้มค่าในการลงทุน โดยที่ทีโอทีจะต้องได้รับการชดเชยที่สูงกว่าผู้ให้บริการรายอื่นโดยที่ ทีโอทีจะต้องชี้แจงรายละเอียดว่าอะไรเป็นบริการที่ถือว่าเป็น USO และต้องได้รับการชดเชย อย่างบริการโทรศัพท์นอกข่ายสายในระบบ WLL หรือโทรศัพท์ทางไกลชนบท

4. เรื่องค่าเชื่อมโครงข่ายหรืออินเตอร์คอนเน็กชันชาร์จ ซึ่งต้องให้กทช.กำหนดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่าย ส่วนค่าแอ็กเซสชาร์จนั้นกทช.ไม่มีสิทธิ์ในการยกเลิก เนื่องจากเป็นข้อตกลงในสัญญาร่วมการงานที่เกี่ยวกับการเชื่อมโยงและการให้ใช้เลขหมาย

"4 ประเด็นหลักเป็นเรื่องที่นักลงทุนจะถามเรามาก ซึ่งทีโอทีต้องขอความชัดเจนจากกทช."

นอกจากนี้ทีโอทีมีแผนที่จะแตกบริษัทลูกออกมาอีก 3 บริษัท คือ ทีโอที โมบาย ซึ่งภายหลังจัดการปัญหาเรื่องไทยโมบายแล้วจะทำให้แนวทางธุรกิจชัดเจนขึ้น ทีโอที มัลติมีเดียและทีโอที เซอร์วิสที่ร่วมทุนกับบริษัทในกลุ่มสิงเทลในการให้บริการ e-Government


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.