ITV ชินคอร์ป UBC และเนชั่นทีวี ทีวี (เสรี) ย่อมดีกว่าเคเบิลทีวี

โดย ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์ เป็นนามแฝงของนักวิชาการใน รั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งนอกเหนือจากความเชี่ยวชาญในงานประจำด้านจิตเวช และจิตวิทยาแล้ว ยังมีความสนใจด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เขาจะเสนอมุมมอง และสาระความรู้ ที่น่าสนใจในคอลัมน์ "จากฝั่งพรานนก"

19 มิถุนายน 2543 กองบรรณาธิการ "ไอทีวี" จับมือ อ.ส.ม.ท. ช่อง 11 ทดลองออกอากาศระบบดิจิตอลพัฒนาดึงอินเทอร์เน็ตลงทีวี รูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ ปรับปรุงเว็บไซต์ ดูข่าวจากจอคอมพิวเตอร์ เพิ่มรายการข่าวมากกว่า 70% อาศัยเทคโนโลยีชินคอร์ป หวังราคาหุ้นพุ่งหลังเข้าตลาด

นายศรัณย์ทร ชุติมา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอทีวี จำกัด เปิดเผยถึงแผนการพัฒนาระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์ เป็นระบบดิจิตอลว่า ขณะนี้ไอทีวีรอเพียงการอนุมัติจากสำนักนายกรัฐมนตรีคู่สัญญา เพื่อขอทดลองออกอากาศ ด้วยระบบดิจิตอล เนื่องจากคณะกรรมการไอทีวี ได้อนุมัติให้ดำเนินการมาได้ 8 เดือนแล้ว ซึ่งจากการหารือเบื้องต้น สำนักนายกรัฐมนตรีต้อง การให้ไอทีวีร่วมกับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 และช่อง 11 ทดลองออกอากาศด้วยระบบดิจิตอลร่วมกัน ซึ่งทางไอทีวีก็ยินดีให้ความร่วมมือ เพราะขณะนี้ ระบบออกอากาศ และอุปกรณ์ของไอทีวีก็เป็นระบบดิจิตอลหมดแล้ว เหลือเพียงส่งสัญญาณ และใช้งบประมาณเพียง 10 ล้านบาทเท่านั้น

นายศรัณย์ทรกล่าวว่า การทดลองออกอากาศยังเป็นการส่งสัญญาณทั้งระบบเดิมแบบอนาล็อก และระบบใหม่ดิจิตอลควบคู่กันไป โดยช่วงแรกคงทดลองระบบดิจิตอลในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน ซึ่งผู้ดูทีวีต้องมีตัวอุปกรณ์เซ็ตท็อปบล็อก หรืออุปกรณ์แปลงสัญญาณ ราคาประมาณชุดละ 6,000-7,000 บาท ติดตั้งก่อนถึงจะดูในระบบดิจิตอลได้

ข้อดีของทีวีระบบดิจิตอล คือ ทำให้แบ่งช่องการออกอากาศได้เพิ่มขึ้นอีก มีภาพคมชัดมาก พัฒนาเป็นอินเทอร์เน็ตใช้งานแบบคอมพิวเตอร์ ได้ชอปปิ้งผ่านโทรทัศน์ได้เป็นโทรทัศน์แบบ อินเตอร์แอคทีฟให้คนดู ติดต่อกับสถานีได้โดย ตรง และประมาณเดือนกรกฎาคมนี้ ไอทีวียังมีแผนที่จะปรับผังรายการใหม่ เพิ่มสัดส่วนรายการ ข่าวให้มากกว่า 70% ตาม ที่สัญญาระบุไว้ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของไอทีวี ที่เป็นสถานี ข่าวสาร เพราะรายได้กว่า 50% ก็มาจากรายการข่าวเป็นหลัก

นอกจากนี้ ไอทีวียังมีแผนพัฒนาเว็บไซต์ ให้สามารถชมรายการข่าวได้ทางเว็บอีกด้วยโดยผู้ชมจะเลือกดูเวลาใดก็ได้ จะมีรายการเก็บไว้ คาดว่าคงใช้เวลาพัฒนาไม่เกิน 6 เดือนเปิดให้บริการได้

"การที่ได้บริษัทชินคอร์ปเข้ามาร่วมถือหุ้น ในไอทีวี จะทำให้ไอทีวีสามารถนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงรายการได้ดีขึ้นได้ เช่น การออกรายการ ข่าวผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งต้องใช้เซิร์ฟเวอร์ ที่ใหญ่มาก สามารถส่งข้อมูลขนาดใหญ่ได้ ทางชินคอร์ป มีเทคโนโลยี ที่ให้กับไอทีวีได้ ทำให้การทำงานของไอทีวีมีประสิทธิภาพมากขึ้น และอาจส่งผลให้ราคาหุ้นของไอทีวี ที่ต้องเข้าระดมทุนภายใน 6 ปี นับจากเซ็นสัญญา ซึ่งเหลือเวลาอีก 2 ปี มีราคาดีขึ้นได้ ซึ่งตามหลักแล้วการระดมทุนในตลาด ก็ต้องนำหุ้นเข้าไปประมาณ 20-30%" นายศรัณย์ทรกล่าว.

ถ้าคุณผู้อ่านยังจำข่าว ที่ฮือฮากันเป็นระยะในช่วงหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมาได้ดี ก็อาจจะนึกได้ถึงเรื่อง ที่ผมกำลังจะคุยให้ฟังต่อไปนี้ นั่นคือ เรื่องของ UBC, ITV, เนชั่นทีวี และ ชินคอร์ป

ต้นเรื่องของ ITV ประสบปัญหาการขาดทุน แม้จะเป็นทีวีเสรี ที่มีโฆษณามากก็ตาม ถึงขนาดมีความพยายามในการเปลี่ยนผังรายการ เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มรายได้จากการโฆษณา รวมถึงการขอยกเว้นการจ่ายรายได้ให้รัฐ และดอกเบี้ยชั่วคราว ผลการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายข่าว และฝ่ายบริหาร ลงท้ายนำไปสู่การเจรจาขอเข้าร่วมทุนของฝ่ายชินคอร์ป การประท้วงของฝ่ายข่าว การถอยออกไปของเนชั่น และล่าสุดคือ ข่าว ที่ผมนำมาลงในกรอบ

UBC เคยเป็นกิจการของสองบริษัท ที่ทำสถานีเคเบิล คือ IBC ของคุณทักษิณเดิม และ ไทยสกายของวัฏจักร หลังจากมารวมกัน คุณทักษิณขายให้กลุ่มซีพี ก็ยังคงมีปัญหาขาดทุน และขอขึ้นค่าบริการเป็นระยะ เนื่องจากเป็นเคเบิล ทีวี ที่ไม่สามารถโฆษณา (ตรงๆ) ได้ และขอเพิ่มโฆษณาเข้ามาในรายการเป็นระยะ ซึ่งก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดทุนได้ และปัจจุบันเพิ่มช่องสัญญาณอีกช่องหนึ่งคือ ช่อง 8 สำหรับทีมข่าวเนชั่น ที่ถอนมาจาก ITV หลังจากพ่ายแพ้ในการเจรจา

เนชั่นทีวี เดิมเป็นทีมข่าว และงานบริการของกลุ่มเนชั่น ซึ่งมีหุ้นอยู่ใน ITV หลังจากเกิดปัญหากับฝ่ายบริหารของ ITV ก็มีการเล่นงานกัน เป็นระยะตั้งแต่ปัญหาจริยธรรมของผู้บริหารข่าวรายหนึ่ง ซึ่งงานนี้สุทธิชัยลงมาเล่นเองไปจนถึงการประท้วง และต่อต้านการเข้ามาถือหุ้นของชินคอร์ป ซึ่งเทพชัยก็ลงมาเป็นแกนนำเอง และล่าสุดถูกแขวนในตำแหน่ง ที่ไม่แอคทีฟ ส่วนสุทธิชัยเองมีการเตรียมการล่วงหน้าไปเจรจากับUBC ว่าจะตั้งทีมผลิตข่าวเป็นสถานีข่าวตลอด 24 ชั่วโมง โดยอาศัยฐานลูกค้าเดิมของ UBC ซึ่งมีการบอกรับ และเสียค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน

ชินคอร์ป หลังจากเลิกทำธุรกิจเคเบิลทีวี ซึ่งไม่สามารถหารายได้จากค่าโฆษณา รายได้โดย ตรงได้จากสมาชิก ซึ่งจะขึ้นค่าสมาชิกแต่ละครั้งก็ถูกประท้วง ถูกตำหนิ แถมยังต้องขออนุมัติจากรัฐบาล อะไรจึงทำให้กลุ่มนี้หันมาสนใจธุรกิจทีวีอีก ทั้งๆ ที่บอกศาลาไปแล้ว

ก่อน ที่จะเข้ามาซื้อหุ้นของ ITV พนักงานฝ่ายข่าวของ ITV ( ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนของเนชั่นเดิม) ต่อต้านโดยอ้างว่า ทักษิณเป็นผู้ถือหุ้นในชินคอร์ป จะทำให้การเสนอข่าวของ ITV ไม่เป็นกลาง เหตุผลนี้ดูจะสามารถโน้มน้าวให้นักวิชาการ และคนจำนวนหนึ่ง รวมถึงพรรคการเมือง คู่แข่งของไทยรักไทยจะไม่สบายใจนัก แม้ว่าทักษิณ และชินคอร์ปจะปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม แต่ในท้ายที่สุดชินคอร์ปเข้ามา และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน ITV ตามข่าว ที่ผมนำมาประกอบบทความครั้งนี้

โดยสรุป ITV คงปรับปรุงผังรายการ และ ทีมข่าวใหม่แน่หลังจาก ที่แตกหักกันรุนแรง ปัญหาสำหรับทีมข่าวคงไม่มี เพราะ ITV เองก็มีประสบการณ์มาหลายปี ทีมข่าวเนชั่นออกไป ผมเชื่อว่าเขายังทำต่อไปได้ เรื่องของคุณภาพ หรือความเป็นกลางคงไม่น่าเป็นห่วงนัก เพราะปกติความเป็นกลางในงานข่าวก็ไม่ค่อยจะมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าคุณจะทำอย่างไรไม่ให้ดูน่าเกลียดเท่านั้น สิ่งที่ ITV ได้เพิ่มคือ สภาพคล่องทางการเงิน และเทคนิคใหม่ๆ ทางดิจิตอล ที่ชินคอร์ปนำมา

ส่วนกลุ่มเนชั่นคงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก อาจจะเป็นการพ่ายในเกมธุรกิจ แต่กลุ่มนี้ก็ยังมี ที่ยืนในวงการทีวีโดยอาศัยสถานีของ UBC แต่ปัญหาก็คือ รายได้ ที่ตายตัวจากค่าบอกรับสมาชิก การกระจายของข่าวสารได้เฉพาะกลุ่มสมาชิกเดิม คงจะมีน้อยมาก ที่คนมาสมัคร สมาชิกใหม่เพียง เพื่อจะชมข่าวของเนชั่น และบ้านเราเองก็ไม่มีปัญหาเรื่องของ time zoneเหมือนในสหรัฐอเมริกา ที่ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งหลับ คนอีกจำนวนหนึ่งกำลังทำงาน คนจะชมข่าว 24 ชั่วโมง ของเนชั่นก็เห็นจะเป็นพวกนักข่าวด้วยกันกับคนที่เป็นสมาชิก และมีปัญหานอนไม่หลับ ผมคิดว่าอนาคตของเนชั่นใน UBCไม่น่าจะสดใสนัก

แต่ ที่ผมคิดว่าได้กำไรหลายต่อคือ กลุ่มชินคอร์ป กลุ่มนี้เคยทำทีวีระบบเคเบิล ที่รายได้ค่อนข้างแน่นอนจากสมาชิก ไม่สามารถโฆษณา และเผยแพร่ได้จำกัด แต่ตอนนี้ด้วยประสบการณ์เดิม แต่ ITV เผยแพร่ได้ทั่วประเทศรายได้ไม่จำกัดขึ้นกับค่าโฆษณา ที่หาได้ อัตราค่าโฆษณาก็ไม่ถูกควบคุมเหมือนค่าสมาชิกเคเบิล แถมหากเปลี่ยนเป็นทีวีระบบดิจิตอลจริง ความสามารถในการใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจจะสูง กว่าสถานีปกติ และเคเบิล ( ซึ่งมีข้อจำกัดทางกฎหมาย) งานนี้ ที่คุณบุญคลีว่าเป็นเรื่องธุรกิจล้วนๆ นั้น ผมเห็นด้วย ส่วนเรื่องของคุณภาพข่าว หรือความเป็นกลางนั้น ผมคิดว่าไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นผลพลอยได้สำหรับกลุ่มชินคอร์ป มากกว่า

งานนี้คงต้องเรียกว่าคุณทักษิณกินรวบหมดทุกอย่าง ได้ทั้งเงิน และกล่อง (ทิศทางของ ITV) คงเป็นบทเรียนทางธุรกิจที่ดีอย่างหนึ่ง ที่ยืนยันสิ่งที่ผู้รู้เคยกล่าวมาหลายต่อหลายครั้งว่า จงทำสิ่งที่ตัวเองมีความถนัด และชำนาญมากที่สุด บทเรียนนี้อาจมองย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ที่บรรดานักธุรกิจไทยพยายามลงทุนในหลายๆธุรกิจในช่วงของฟองสบู่ ภายใต้แนวคิดของฝรั่ง ที่ว่า diversify และ synergy สุดท้ายตอนนี้แต่ละคนก็กลับมาทำสิ่งที่ตนเองเคยถนัด หรือพื้นฐานธุรกิจดั้งเดิม เพราะว่าสิ่งที่ diversify นั้น ไปพร้อมกับการเข้ามาของ IMF



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.