"ไอบีเอ็ม" สร้างองค์กรต้นแบบยุคออนดีมานด์เน้นนำนวัตกรรมสร้างสรรค์เศรษฐกิจ-สังคม


ผู้จัดการรายวัน(6 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ไอบีเอ็มประกาศนโยบายและแผนงานในการสร้างองค์กรให้เป็นบริษัทต้นแบบในยุคศตวรรษที่ 21 โดยเริ่มจากภายในก่อนขยายวงกว้าง ไปสู่การสร้างระบบนิเวศแบบออนดีมานด์ในระบบเศรษฐกิจและสังคม ด้วยนวัตกรรมที่นำไปประยุกต์ใช้ในเชิงสร้างสรรค์ผ่านโครงการต่างๆ

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ไอบีเอ็มมีนโยบายและแผนงานในการขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นแบบอย่างของการบริหารทรัพยากรบุคคลในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้นการนำคุณค่าของนวัตกรรม หรือ Innovation มาประยุกต์และสร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยในยุคออนดีมานด์

การที่ไอบีเอ็มมีนโยบายดังกล่าว เพราะผู้บริหารไอบีเอ็มเชื่อว่า การสร้างโลกออนดีมานด์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในแวดวงธุรกิจเท่านั้น ส่วนการดำเนินการนั้น ไอบีเอ็มจะเริ่มต้นภายในตัวองค์กรเองก่อนขยายวงกว้างไปสู่การสร้างระบบนิเวศแบบออนดีมานด์ในระบบเศรษฐกิจและสังคม โดยไอบีเอ็มยังคงยึดมั่นปรัชญาในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งนำความเชี่ยวชาญ ความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม เพื่อไปประยุกต์ใช้ และสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมโดยรวม

ตามแผนงานที่วางไว้ ไอบีเอ็มได้มุ่งปรับองค์กรภายใน ทั้งทางด้านกระบวนการดำเนินธุรกิจ วัฒนธรรมและบรรยากาศการทำงานในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณภาพของบุคลากรให้สอดคล้องไปกับวิสัยทัศน์แบบออนดีมานด์บิสิเนส ขณะเดียวกันยังได้นำคุณค่าของนวัตกรรม หรือ Innovation Value มาสร้างคุณประโยชน์ในวงกว้างครอบคลุมไปสู่สังคม เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาทางการแพทย์ สาธารณสุข สภาวะทางด้านมนุษยธรรม ระบบการศึกษา รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และคุณประโยชน์สู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลก

"เราพยายามสร้างตัวเองภายในองค์กรเป็นตัวอย่างในยุคออนดีมานด์ โดยนำอินโนเวชันไปสร้างให้เกิดกับอิมแพกต์กับเศรษฐกิจและสังคม"

สำหรับการสร้างให้เป็นองค์กรธุรกิจเป็นต้นแห่งศตวรรษที่ 21 นั้น ไอบีเอ็มกำหนดเป้าหมายชัดเจนที่จะปรับองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อยังคงความเป็นบริษัทชั้นนำของโลก ที่บุคลากรยุคใหม่อยากทำงานด้วย หรือ Employer of choice โดยไอบีเอ็มได้มุ่งสร้างสรรค์องค์กรใน 4 ด้านหลัก คือ 1. บรรยากาศการทำงาน (climate) 2. วัฒนธรรมองค์กร (Culture) 3. การเสริมสร้างและส่งเสริมศักยภาพของบุคลากร (Capability) และ 4. การปรับระบบการทำงานให้เกิดความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด (Flexibility)

การสร้างองค์กรให้เป็น Employer of Choice นั้น ไอบีเอ็มจะดำเนินการในรูปแบบต่างๆ ประกอบด้วย 1. การเปิดโอกาสให้พนักงานทั่วโลกได้กำหนดบทบาทและค่านิยมของพนักงานในยุคออนดีมานด์แห่งศตรวรรษที่ 21 ด้วยตัวเอง ผ่านโครงการที่ปฏิบัติต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี คือ ValuesJam 2003, WorldJam 2004 และ WorldJam in Action 2005

2. โครงการ ThinkPlace ที่ริเริ่มขึ้นเพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้างทางความคิด และกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำมาปรับใช้เป็นนโยบายและแนวทางปฏิบัติขององค์กรต่อไป

3. Workforce Diversity นโยบายที่ให้โอกาสแก่พนักงานเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างไม่ว่าจะเป็นด้านชาติพันธุ์ เพศ หรือความทุพพลภาพ เป็นต้น ซึ่งไอบีเอ็มได้ขยายผลนโยบายนี้สู่ระบบการศึกษาไทย ด้วยการสนับสนุนเยาวชนไทยที่เป็นผู้ทุพพลภาพแต่มีความสามารถ ด้วยการมอบทุนการศึกษาและความสนับสนุนด้านต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันให้แก่บุคลากร ให้สามารถพัฒนาความสามารถของตัวเองได้อย่างเต็มที่

4. การสร้างไอบีเอ็มให้เป็นที่ทำงานแบบอย่างทางด้านการเสริมสร้างศักยภาพให้กับพนักงาน โดยไอบีเอ็มเปิดโอกาสให้พนักงานได้เติบโตในสายงานที่ต้องการอย่างเต็มที่ และเสริมสร้างศักยภาพ ทักษะ ความเชี่ยวชาญผ่านโครงการ IBM Career Day, On Demand Learning Day และ IBM Professional Certification

ส่วนการนำเสนอนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคมและระบบเศรษฐกิจไทยนั้น นางศุภจีกล่าวว่า ในการนำคุณค่าของนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคมและระบบเศรษฐกิจไทยนั้น ไอบีเอ็มนำเสนอออกเป็น 4 ด้านหลัก คือ 1. สร้างคุณประโยชน์ต่อธุรกิจไทย 2. สร้างประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตและสังคมของคนไทย รวมถึงความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่างๆ 3. สร้างคุณประโยชน์ต่อวงการการศึกษาไทย และ 4. คุณประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยจะดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ ประกอบด้วย

โครงการ World Community Grid เป็นโครงการที่ไอบีเอ็มร่วมกับหลายหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษาและโครงการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมชั้นนำของโลก ในการประยุกต์เทคโนโลยีกริดคอมพิวติ้งมาสร้างคุณประโยชน์ ที่มุ่งบรรเทาและช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ทั้งทางด้านการแพทย์สาธารณสุข ในการค้นคว้าและวิจัยเพื่อเข้าใจถึงสาเหตุของโรคติดต่อร้ายแรงอย่างเอดส์ อัลไซเมอร์ มะเร็ง และโรคอื่นๆ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการวิจัยเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติร้ายแรง มลพิษในบรรยากาศโลก และการแก้ปัญหาทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและอาหารสำหรับประชากรโลก ซึ่งกำลังเป็นปัญหารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งไอบีเอ็มจะเปิดตัวโครงการ World Community Grid อย่างเป็นทางการในประเทศไทยในงาน InnovAsia 2005 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 21-23 กันยายนนี้

โครงการ Genographic เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างไอบีเอ็มและ The National Geographic Society เพื่อศึกษาเส้นทางการอพยพและการตั้งรกรากของชาติพันธุ์มนุษย์ทั่วโลก และศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างมนุษย์ต่างชาติพันธุ์ ที่กำหนดช่วงเวลาในการศึกษาไว้ 5 ปีเต็ม

สำหรับโครงการ Genographic ประกอบด้วยงาน 3 ส่วนหลัก คือ 1. Field Research เป็น การเก็บตัวอย่างเลือดจากชนเผ่าท้องถิ่น ซึ่งดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันที่ศึกษาและเชี่ยวชาญทางด้านชาติพันธุ์มนุษย์ ซึ่งในตัวอย่างเลือดจะมี DNA ที่เก็บข้อมูลด้านชาติพันธุ์ของมนุษย์ที่ช่วยสืบค้นถอยหลังไปถึงบรรพบุรุษนับเนื่องเป็นหลายร้อยยุค

2. Public Participation and Awareness Campaign เป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคลทั่วไปที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยสั่งซื้อชุดตรวจ Genographic Participation Kit ได้ในราคา 99.95 เหรียญสหรัฐ รวมค่าจัดส่งและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ผ่านเว็บไซต์ของ National Geographic Society

3. Genographic Legacy Project เป็นรายได้จากการขายชุดตรวจ Genographic Participation Kit ซึ่งจะเป็นทุนสนับสนุนให้กับโครงการวิจัยสนามของ National Geographic Society ในอนาคต และสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยหลักด้านวัฒนธรรมโลกต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.