|
"ดีแทค" เตรียมขอไลเซนส์ไอเอสพี-3G ยุทธศาสตร์สื่อสารความเร็วสูงครบวงจร
ผู้จัดการรายวัน(6 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ดีแทคเตรียมขอใบอนุญาตอินเทอร์เน็ต และมือถือ 3G หวังให้บริการครบวงจรครอบคลุมด้านสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงทั้ง 3G, EDGE, GPRS, Wi-Fi และ Wi-Max บนอุปกรณ์ไร้สายทั้งโทรศัพท์มือถือและพีดีเอ พร้อมเปิดบริการ DTAC PushMail ให้บริการรับส่งอีเมลสำหรับลูกค้าองค์กร ก่อนให้บริการลูกค้ายาฮู ฮอตเมลทั่วไปอีก 3 เดือนหน้า
นายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ร่วม บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมุนิเคชั่นหรือดีแทคกล่าวว่าดีแทคมีแผนที่จะขอใบอนุญาตการเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เนื่องจากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สายอย่าง Wi-Fi และ Wi-Max สามารถมาเชื่อมต่อกับโครงข่ายโทรศัพท์มือถือได้ รวมทั้งอุปกรณ์ปลายทางอย่างพีดีเอ สามารถใช้บริการได้ทั้งการเป็นโทรศัพท์มือถือและเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วย Wi-Fi และ Wi-Max เพื่อให้ในอนาคตดีแทคสามารถให้บริการได้ครบวงจร
ดีแทคยังมีแผนที่จะขอใบอนุญาตการให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G ทันทีที่กทช.ออกหลักเกณฑ์ให้ใบอนุญาตซึ่งคาดว่าจะเป็นต้นปีหน้า เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของเครือข่ายที่ดีแทคจะวางระบบ 3G ในกรุงเทพฯ เพื่อให้บริการมัลติมีเดียครบวงจร เนื่องจากระบบ 3G ต้องใช้เงินลงทุนสูงไม่สามารถวางโครงข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศได้ ส่วนเทคโนโลยี EDGE ซึ่งเร็วกว่า GPRS 4 เท่าจะอยู่ในหัวเมืองใหญ่ๆ เพื่อการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง แต่ถ้าหากไกลกว่านั้นในระดับอำเภอจะเป็นเทคโนโลยี GPRS ซึ่งกว่า 5 พันสถานีฐานของดีแทคทั่วประเทศรองรับ GPRS ทั้งหมด
"ยุทธศาสตร์เครือข่ายของดีแทคจะมีทั้ง 3G, EDGE และ GPRS เพื่อให้บริการสื่อสารข้อมูลครบวงจร ให้ลูกค้าใช้ได้สะดวกต่อเนื่อง (Seamless) ทั่วประเทศ ถึงแม้ความเร็วจะแตกต่างกันบ้างก็ตาม"
นายซิคเว่กล่าวว่า ดีแทคยังเปิดให้บริการ DTAC PushMail ซึ่งเป็นบริการต่อยอดของ Mobile Business Solution ที่ดีแทคมีเป้าหมาย 3 อย่างคือ 1. เพื่อหลีกหนีการแข่งขันด้านราคา สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วยการเสนอบริการให้ลูกค้าองค์กรในลักษณะโซลูชัน โดยอาศัยความได้เปรียบในเรื่อง GPRS ที่ดีแทคครอบคลุมทั่วประเทศ 2. เพิ่มรายได้ต่อเลขหมาย เพราะบริการ PushMail ลูกค้าจะต้องเสียค่าบริการเพิ่มประมาณ 600 บาทต่อการใช้งาน 1 คน ซึ่งเท่ากับจะเพิ่มรายได้ต่อเลขหมาย ซึ่งปัจจุบันลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่จะมีรายได้ต่อเลขหมายประมาณ 2 พันบาท แต่ถ้าเป็นองค์กรขนาดรองลงมาจะมีรายได้ประมาณ 1,500 บาท และ 3. จะทำให้ลูกค้าองค์กรอยู่กับดีแทคนานขึ้น เพราะเป็นบริการในลักษณะ Long Term คนใช้แล้วจะติด เป็นกลยุทธ์ CRM ในการรักษาฐานลูกค้า
นายสันติ เมธาวิกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายลูกค้าดีแทคกล่าวว่า บริการ DTAC PushMail มุ่งลูกค้าองค์กรเป็นหลักในช่วงแรก โดยลูกค้าสามารถรับส่งอีเมลองค์กรและตารางการนัดหมายได้อย่างสมบูรณ์แบบบนโทรศัพท์มือถือหรือพีดีเอ รวมทั้งยังสามารถเปิดเอกสารแนบที่มาในรูปแบบต่างๆ ได้ และยังสามารถตรวจสอบแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงตารางนัดหมายที่ส่งมายังอีเมลแอดเดรสองค์กรของผู้ใช้ DTAC PushMail สามารถลดขนาดข้อมูลลงกว่าครึ่ง เพื่อเพิ่มความเร็วในการดาวน์โหลดและประหยัดค่าใช้จ่าย รวมทั้งมั่นใจได้ว่าข้อมูลจะปลอดภัยด้วยระบบรักษาความปลอดภัยมาตรฐานสากลที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเลือกใช้ และที่สำคัญใช้งานง่ายเหมือนการส่ง SMS
สำหรับเป้าหมายในครึ่งปีหลัง ดีแทคคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการประมาณ 3 พันราย และคาดว่าในปีหน้าจะมีผู้ใช้บริการ 1 หมื่นราย ซึ่งดีแทคเชื่อว่าบริการ DTAC PushMail จะเพิ่มรายได้ต่อเลขหมายอีกอย่างน้อย 25% นอกจากนี้อีกประมาณ 3 เดือน ดีแทคจะให้บริการ PushMail กับลูกค้าทั่วไปที่ใช้เมลของยาฮู หรือฮอตเมล (POP3) ซึ่งจะคิดค่าบริการในลักษณะแพกเกจเหมาจ่ายที่ไม่สูงเหมือนลูกค้าองค์กร
ปัจจุบันลูกค้าองค์กรดีแทคมีอยู่ประมาณ 4 พันองค์กร โดยที่มีลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ทดลองใช้ DTAC PushMail อย่างสถาบันการเงินเช่น ธนาคารกสิกรไทย กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างเช่นบริษัทในเครือซิเมนต์ไทย กลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าไอทีเช่น เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|