|
ธ.ไทยยกทัพรุกธุรกิจการเงินจีน
ผู้จัดการรายวัน(5 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์พาณิชย์ไทย ฉวยจังหวะจีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก รุกธุรกรรมด้านการเงิน นำร่องโดย 3 แบงก์ใหญ่ "ไทยพาณิชย์" ประกาศจับมือ "China Exim Bank" หวังต่อยอดธุรกิจระหว่าง 2 ประเทศ ขณะที่แบงก์กรุงเทพ เปิดสาขาปักกิ่งเพิ่ม ตั้งเป้าขยายสินเชื่อ 4 พันล้านบาท ส่วน "กสิกรไทย" เตรียมเจรจาธนาคารท้องถิ่นลุยปล่อยกู้ธุรกิจเอสเอ็มอี
สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก หลังจากที่ได้มีการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศสนใจเข้าไปลงทุนในประเทศจีนเป็นจำนวนมาก เพราะเล็งเห็นว่าจีนยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก จึงเป็นแรงดึงดูดให้นักลงทุนต่างประเทศหลั่งไหลเข้าไปในประเทศจีนรวมถึงนักธุรกิจในประเทศไทยด้วย
ขณะที่ภาคการเงินของไทย ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เองก็ได้ขยายธุรกรรมทางด้านการเงินในประเทศจีนเช่นเดียวกัน โดยล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศเข้าไปทำธุรกิจอย่างเป็นทางการ ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ก็มีแผนที่จะร่วมกับสถาบันการเงินของจีนทำธุรกรรมด้านการเงินเช่นเดียวกัน
นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงรูปแบบการเข้าไปดำเนินธุรกรรมการเงินของธนาคารพาณิชย์ในประเทศจีน ว่ามีอยู่ 3 รูปแบบหลัก คือ การเปิดสาขาในประเทศจีน ซึ่งธนาคารกรุงเทพยึดรูปแบบนี้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดำเนินการมาเป็นเวลานาน และได้ผลดีในอดีตที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันรูปแบบดังกล่าวอาจจะไม่ได้ผลดีมากนัก เพราะการเปิดสาขาสามารถทำธุรกรรมขนาดใหญ่ๆ ไม่ได้สร้างผลกำไรกลับคืนมาได้น้อย
รูปแบบที่ 2 การเข้าไปซื้อกิจการของธนาคารในประเทศจีน ซึ่งขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเริ่มนิยมหันมาใช้รูปแบบนี้ เพราะสามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าการเปิดสาขา แต่ขณะนี้ยังติดปัญหาข้อกำหนดของทางการจีนที่กำหนดให้ต่างชาติ ถือหุ้นได้ไม่เกิน 20% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยไม่สามารถใช้วิธีการนี้ได้ เพราะยังมีขนาดเล็กอยู่เมื่อเทียบกับธนาคารอื่น
รูปแบบสุดท้าย การสร้างความสัมพันธ์กับธนาคารในประเทศจีนเพื่อต่อยอดการดำเนินธุรกิจ ล่าสุดธนาคารไทยพาณิชย์เองได้ใช้รูปแบบดังกล่าว ด้วยการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (The Export-Import Bank of China)
"แบงก์กรุงเทพเข้ามาทำธุรกิจในจีนนานแล้ว และมีสาขารวมถึง 4 แห่ง หากไทยพาณิชย์จะใช้รูปแบบเดียวกันก็คงจะช้า หรือเดินตามหลังแบงก์กรุงเทพ ดังนั้นธนาคารจึงต้องใช้แนวทางการสร้างความสัมพันธ์กับแบงก์จีน ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่ดีและเหมาะสมกับธนาคาร"
นายวิชิตกล่าวว่า ขณะนี้จีนเป็นเป้าหมายของธุรกิจการค้าและการลงทุนจากทั่วโลก ทำให้การขยายธุรกิจเข้าไปในจีนทวีการแข่งขันสูงขึ้นอย่างมาก ธนาคารจึงร่วมมือกับ China Exim Bank เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทย-จีนอย่างเป็นทางการ อาทิ การจัดหาและระดมเงินทุน-สินเชื่อสกุลเงินบาท-หยวนให้กับโครงการร่วมทุน แผนการลงทุนของเอกชนในธุรกิจอุตสาหกรรมสำคัญที่รัฐบาลของ 2 ประเทศ ให้การสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เหมืองแร่ ก่อสร้าง ฯลฯ
"นักลงทุนจีนต้องการที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ขณะที่นักลงทุนไทยเองก็ต้องการเข้าไปลงทุนในประเทศจีน ดังนั้นธนาคารทั้ง 2 แห่ง จะทำหน้าที่ประสานงานทั้งด้านเงินทุนและสินเชื่อ รวมถึงธุรกรรมด้านการเงินอื่นๆ เพื่อสนับสนุนนักลงทุนของทั้ง 2 ประเทศ ให้ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้คาดว่าภายใน 1-2 ปีนี้ จะเห็นจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น"
นายหยาง จือหลิน ประธานธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (The Export-Import Bank of China) กล่าวว่า China Exim Bank ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากหลังจากก่อตั้งขึ้น โดยมีหน้าที่หลัก 3 ประการ คือ 1. การส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกสินค้าไฮเทค จากปี 2536 ก่อนก่อตั้งที่มียอดส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 27% เพิ่มขึ้นเป็น 56% ในปี 2547
ประการที่ 2. ผลักดันให้เกิดการแข่งขันเพื่อส่งออก ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่อ่อนแอทางการเงิน เพื่อส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังประเทศนั้น โดยขณะนี้ China Exim Bank ปล่อยสินเชื่อกระจายอยู่ 128 ประเทศทั่วโลก
ประการสุดท้าย สนับสนุนผู้ประกอบการจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อกระจายสินค้าจีนออกสู่ตลาดโลก ด้วยการสนับสนุนบริษัทจีน หรือเข้าไปร่วมทุนดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ
นายหยาง กล่าวว่า China Exim Bank มีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนธุรกิจในทุกๆ ด้าน เพราะขณะนี้มีฐานเงินทุนใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินประเภทเดียวกัน และคาดว่าภายใน 1-2 ปีนี้ จะสามารถแซงขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 โดยอันดับแรก ณ ขณะนี้คือ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าสหรัฐฯ ตามลำดับ
"China Exim Bank ต้องการเข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นพิเศษ ทั้งด้านการลงทุนและการเงิน แต่ที่ผ่านมาโครงการยังไม่ใหญ่พอ แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ การพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันถือว่ามีความสำคัญมาก และขณะนี้จีนสนใจธุรกิจใหญ่ๆ ในไทยหลายโครงการ ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเกิดขึ้น"
สำหรับธนาคารกรุงเทพนั้น ล่าสุดได้เปิดสาขาที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม ตั้งเป้าระยะเวลา 3 เดือน จะปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท เนื่องจากมีฐานลูกค้าจำนวนมาก และปี 2549 จะปล่อยสินเชื่อใหม่ 12,000 ล้านบาท สิ้นปียอดสินเชื่อจะอยู่ที่ประมาณ 16,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่ 3 สาขาสามารถทำกำไรสุทธิได้ 1-1.5% ของกำไรทั้งหมดของ ธนาคารหรือประมาณ 120-180 ล้านบาท
ขณะที่นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ธนาคารอยู่ในระหว่างการเจรจากับธนาคารพาณิชย์ในจีนเพื่อที่จะขยายช่องทางธุรกรรมทางการเงินด้านการปล่อยสินเชื่อในประเทศจีน โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เนื่องจากมีสัดส่วนสูงกว่า 80% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบของประเทศจีน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|