|
โบรกเกอร์นอกรุมแย่งเค้กในรัสเซีย
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2538)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังจากล้มลุกคลุกคลานมานับครั้งไม่ถ้วน ตลาดหุ้นรัสเซียกำลังก้าวย่างเข้าสู่ยุคใหม่และหลังจากที่สภาพคล่องและราคาหุ้นในตลาดเริ่มกระเตื้อง บรรดาผู้เล่นหน้าใหม่ก็ทยอยเข้าไปตั้งธุรกิจโบรกเกอร์ในตลาดแดนหมีทันทีเพราะต้องการผลักดันบริษัทรัสเซียที่ทุนน้อยเข้าสู่ตลาดโลก
การที่ตลาดทุนรัสเซียเริ่มคึกคักขึ้นต้องขอขอบคุณเบอริส จอร์แดน โบรกเกอร์อัจฉริยะแห่งซีเอสเฟิร์สท บอสตัน (ซีเอสเอฟบี) ในมอสโกที่แยกตัวออกมาตั้งกิจการของตัวเองในเดือนเมษายนที่ผ่านมาร่วมกับธนาคารรัสเซีย ทั้งนี้ในช่วงที่เขาทำงานให้โบรกเกอร์สหรัฐฯนั้น จอร์แดนคนเดียวผันเงินเข้ามาในตลาดทุนรัสเซียเป็นมูลค่ากว่าล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ทำให้ซีเอสเอฟบีครองตลาดทุนรัสเซียในสัดส่วนสูงถึง 2 ใน 3
แต่การที่จอร์แดนแยกตัวออกไปนั้น นอกจากจะทำให้ซีเอสเอฟบีขาดโบรกเกอร์มือดีไปแล้ว ยังเป็นการจูงใจให้ผู้เล่นรายอื่นดาหน้าเข้ามาในตลาดหมีกันเป็นทิวแถวตามอย่างเขา ด้วยความหวังที่ว่าบริษัทรัฐบาลกำลังจะระดมทุนจากต่างชาติครั้งใหญ่ นั้นหมายถึงกิจการวาณิชธนกิจของพวกตนย่อมต้องมีลูกค้ามาให้รับใช้มากขึ้น ทั้งในด้านการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะและการเสนอขายพันธบัตรแปลงสภาพได้
อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล่านี้กลับต้องเผชิญปัญหาที่มาจากตัวรัฐบาลแดนหมีเอง กล่าวคือในขณะที่วาณิชธนกิจเหล่านี้ต้องการชิงส่วนแบ่งธุรกิจการรับทำอันเดอร์ไรต์ให้บริษัทในตลาดหุ้นรัสเซียและบริษัทขนาดเล็กๆแต่รัฐบาลกลับตัดสินใจปกป้องหุ้นส่วนใหญ่ของรัฐบาลในบริษัทที่ต่างชาติกำลังหมายตาเอาไว้ อย่างรายก๊าซปรอม, รอสเตเลคอมและบริษัทน้ำมันที่สำคัญๆอีกหลายแห่ง
แต่กระนั้นก็หาทำให้วาณิชธนกิจเหล่านี้ย่อท้อโดยเฉพาะวาณิชธนกิจรายใหญ่ๆอย่าง มอร์แกน เกร็นเฟล อินเวสต์เมนต์ เซอร์วิส, เอ็มซี ซิเคียวริตี้, เอ็นไอจี แบงก์และซีเอสเอฟบีเองที่กำลังสร้างฐานการดำเนินงานไปทั่วโลก
ส่วนรายอื่นจะเป็นแค่การเข้ามาลองทดสอบตลาดดูก่อนอย่างโซโลมอน บราเธอร์ที่ลงนามรับเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินให้กับมอสเอเนโก้ของรัสเซีย และเมอร์ริลลินซ์ที่กำลังเป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาลในการเข้าไปซื้อพันธบัตรยุโรป ส่วนรายอื่นได้แก่ไคลน์เวิร์ธ เบนสันและมอร์แกน สแตนเล่ย์
ขณะเดียวกัน ไอเอ็นจีกำลังจัดหาเงินทุนให้กับตลาดหุ้นรัสเซียอย่างหนักด้วยการออกใบรับฝากหุ้นของบริษัทจำนวน 6 รายในตลาดหุ้นรัสเซีย โดยให้ไปตกลงซื้อขายหุ้นดังกล่าวกันที่ตลาดหุ้นยุโรป
แต่อย่างที่บอกแต่ต้นว่าแม้ว่าการรุกตลาดวาณิชธนกิจรัสเซียจะต้องใช้ต้นทุนสูง แต่ไม่ได้ทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่ท้อถอยแต่อย่างใด ล่าสุดไพโอเนียร์ กรุ๊ปยอมจ่ายเงิน 10 ล้านดอลลาร์เข้าซื้อหุ้นในกองทุนเฟิร์สท เวาเชอร์ ฟันด์
ส่วนตัวจอร์แดนเองก็ยังไม่ได้เปิดเผยว่าเขามีแผนการอะไรในอนาคตและจะร่วมทุนกับใคร แต่แหล่งข่าววงในเปิดเผยว่า เขาจะร่วมทุนกับธนาคารอันเอ็กซิมแบงก์ ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีเพราะทำให้ตลาดทุนรัสเซียมีผู้เล่นในประเทศเองและเป็นรายที่มีความแข็งแกร่งด้านการเงินเสียด้วย
แต่ในที่สุดแล้วนักวิเคราะห์ลงความเห็นว่า ธุรกิจโบรกเกอร์ในรัสเซียจะถูกครอบครองโดยบริษัทท้องถิ่นเพราะโบรกเกอร์รัสเซียมีความแข็งแกร่งพอที่จะผนวกกิจการกับของชาติตะวันตกอย่างราย ซี เอ แอนด์ โคที่เข้าไปซื้อหุ้นในแอตแลนติก ซิเคียวริตี้ แอนด์ แคปปิตัล แมเนจเมนต์ อิงค์ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ทว่านักวิเคราะห์ก็ลงความเห็นว่า ต่อให้รัฐบาลเปิดทางสะดวกให้มีการแปรรูปอันจะนำไปสู่การเสนอขายหุ้นของบริษัทรัฐบาลบรรดาบริษัทโบรกเกอร์ต่างชาติอาจจะพบว่าตนกำลังต่อสู้กันอย่างหนักเพื่อแย่งขนมเค้กจำนวนไม่กี่อันเท่านั้นก็เป็นได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|