|
“บรรหาร” หลังเลือกตั้ง 2 กรกฎาคม
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2538)
กลับสู่หน้าหลัก
บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนักการเมืองที่ถูกปรามาสจากสังคมไทยว่ามีจุดอ่อนเปรียบเสมืองแผลทั้งตัวด้านความฉ้อฉลและมีขีดความสามารถเพียงแค่เป็นผู้จัดการรัฐบาลเท่านั้น
แต่ข้อเท็จจริงวันนี้ เขากำลังเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของไทยที่ผ่านการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ที่เกิดจากอิทธิพลกระบวนการพลวัตของเอเชียและการไหลบ่าของผลิตผลข้อมูลข่าวสารที่ระบบถูกเปิดกว้างขึ้นจากทุกตารางกิโลเมตรของประเทศไทย
มีการจับตาอย่างใกล้ชิดจากกลุ่มที่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยว่าเขาจะสามารถสลัดคราบนักการเมืองแห่งทศวรรษ 70 ให้กลายเป็นนักการเมืองที่เพียบพร้อมสำหรับทศวรรษ 2000 ได้หรือไม่
ดูเหมือนว่ากลุ่มพลังทางเศรษฐกิจจะถูกทำให้เชื่อว่าภาพของบรรหารที่เกิดจากช่วงการรณรงค์เลือกตั้งเป็นความจริง ไม่ใช่การสร้างภาพ
ความเชื่อถูกกำหนดขึ้นมาจากภูมิหลังของเขาที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนนักการเมืองที่มั่งคั่งจากธุรกิจสมัยใหม่เป็นที่ทราบกันดีว่าบรรหารร่ำรวยมาจากการทำธุรกิจโซดาไฟ ที่ใช้วัตถุดิบจากแหล่งเกลือในต่างจังหวัด การทำธุรกิจคลอรีนและการเป็นหุ้นส่วนสำคัญของธุรกิจก่อสร้างสี่แสงการโยธา
ถ้าประเมินผลประโยชน์ของบรรหารแล้ว จะเห็นว่าเขามีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับวิถีการผลิตแบบเก่า
ดังนั้น บรรหารจึงแตกต่างจากนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ไต่เต้ามาจากฐานธุรกิจสมัยใหม่
“เขามีบุคลิกส่วนตัวที่น่าทึ่งมาก ขยัน จำแม่น ติดตามงานและตัดสินใจเร็ว” ชวลิต ธนะชานันท์ อดีตรัฐมนตรีช่วงกระทรวงการคลังที่เคยทำงานกับบรรหารมาเมื่อ 5 ปีก่อนเคยเล่าให้ผมฟัง
ความขยันและติดตามงานดูเป็นภาพฝังใจสำหรับคนสุพรรณที่เคยเห็นเขาเนรมิต ความเจริญด้านสาธารณูปโภคให้กับจังหวัด ชนิดคนเมืองหลวงยังต้องอิจฉาด้วยเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น
แหล่งข่าวของผมท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าบรรหารเป็นนักการเมืองคนเดียวที่มีประสบการณ์และความชำนาญการจัดงบประมาณของรัฐมากที่สุด เนื่องเพราะเป็นกรรมาธิการงบประมาณของรัฐสภามานานต่อเนื่องกันถึง 15 ปี
ก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ขณะเป็นผู้นำฝ่ายค้านรัฐบาลกลางออสเตรเลียเชิญเขาเป็นแขกของรัฐบาลเพื่อต้องการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียท่ามกลางที่ปรึกษาหนุ่มผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ดอกเตอร์สุรเกียรติ เสถียรไทยและบุตรสาวของเขาเอง กัญจนา ศิลปอาชาจากมหาวิทยาลัยบอสตัน
ตรงนี้แหละที่ผมเห็นว่ามีความหมายต่อความเป็นนักการเมืองของบรรหารมากเพราะการเดินทางไปออสเตรเลียครั้งนั้นมีคุณค่าต่อภาพพจน์ของเขามากกว่าการโฆษณาด้วยเงินจำนวนล้านๆ
ขณะเดียวกันผมก็เชื่อว่าวันนี้ ออสเตรเลียคิดถูกที่เชิญบรรหารไปในฐานะแขกรัฐบาล
ผมเชื่อในกฎการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์เพื่อความอยู่รอดเช่นนี้แล้ว ผมจึงเชื่อว่าบรรหารกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลง เพราะเขาก็ต้องการอยู่รอดในเวทีการเมืองยุคใหม่ที่ถูกห้อมล้อมด้วยพลวัตของความเป็นสากลในมิติทางเศรษฐกิจ
เขาต้องการความเข้าใจลักษณะความเป็นพลวัตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในตลาดเอเชียที่กำลังตกเป็นเป้าหมายการกดดันจากสหรัฐฯ และการแข่งขันเพื่อชิงความได้เปรียบต่อกันในหมู่ประเทศอาเชียน
สิ่งนี้คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับบรรหารทางด้านรูปการจิตสำนึกหรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เขากำลังบ่มเพาะวิสัยทัศน์ของตัวเองเพื่อความเป็นผู้นำในรัฐบาล
บรรหารวันนี้กำลังสลัดบุคลิกและรูปการจิตสำนึกในฐานะ “ผู้จัดการรัฐบาล” เป็น “ผู้นำรัฐบาล”
ตลอดชีวิตการเป็นรัฐมนตรีของบรรหาร เขาบริหารนโยบายของเขาโดย “แอบอยู่ข้างหลัง” ผู้นำรัฐบาลแต่ละคนๆตลอดตั้งแต่พลเอกเปรม พลเอกชาติชาย
ผมเชื่อว่าวันนี้เขาไม่สามารถแอบอยู่ข้างหลังได้ต่อไปเขาต้องเปิดกว้าง และโปร่งใสกับกระบวนการตัดสินใจเศรษฐกิจสมัยใหม่
แน่นอน ผมเชื่อว่าเขาทำตามสัญญาแน่ในความเป็นคนฉับไว กล้าตัดสินใจสำหรับโครงการเศรษฐกิจสมัยใหม่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|