|
ภารกิจของธารินทร์ นิมมานเหมินทร์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2538)
กลับสู่หน้าหลัก
กระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังเลือกตั้งนำพาคณะรัฐมนตรีชุดบรรหาร 1 ทยอยประจำกระทรวงต่างๆไปแล้ว
ขณะที่รัฐมนตรีของรัฐบาลชวน ต่างเก็บข้าวของกลับบ้านใครบ้านมัน แต่ทว่าสิ่งที่พวกเขาเหลือทิ้งไว้และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดคือมติคณะรัฐมนตรี
โดยเฉพาะประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดตั้งแบงก์ใหม่ที่ยังเหลือตกค้างจากรัฐมนตรีคลังคนก่อน ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ มาสู่สุรเกียรติ เสถียรไทยเจ้ากระทรวงคนใหม่
ก่อนที่จะเริ่มต้นเดินทางกันต่อดิฉันคิดว่าผลงานของรัฐมนตรีคลังคนเก่ามีนัยสำคัญซึ่งไม่ควรผ่านเลยไป
ประกาศกระทรวงฉบับที่ว่านี้ เป็นเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในมติที่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีชุด “ทิ้งทวน” ของอดีตนายกฯชวน หลีกภัยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538
ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ คือผู้ที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังของเรื่องนี้เขาเป็นคนคิดเอง, วางกฎเกณฑ์และผลักดันเข้าครม. จนเป็นผลสำเร็จทันรถไฟขบวนสุดท้ายเขาให้เหตุผลที่ต้องเร่งรีบพิจารณาให้เสร็จว่าต้องการให้พ้นจากการแทรกแซงของนักการเมือง
แต่ดิฉันคิดว่าหากมองอีกมุมหนึ่งให้ดีคุณธารินทร์บอกอะไรกับเราหลายอย่างผ่านรายละเอียดของกฎเกณฑ์จัดตั้งแบงก์ใหม่ชิ้นนี้
เงื่อนไขมีอยู่ว่า
ประการแรก ธนาคารพาณิชย์ที่จัดตั้งใหม่ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 7,500 ล้านบาทชำระเต็มจำนวนทันที
นั่นหมายความว่าการลงทุนตั้งแบงก์ครั้งนี้จะต้องมีอัตราผลตอบแทนต่อเงินลงทุนสูงกว่าการเอาเงินไปฝากหรือให้คนอื่นกู้สมมติว่าอยู่ในระดับ 15% นั่นก็คือแบงก์นี้จะต้องมีกำไรไม่ต่ำกว่าปีละ 1,125 ล้านบาท ไม่เช่นนั้นก็เอาเงินลงทุนนี้ไปฝากแบงก์ไว้ดีกว่าไม่ต้องเสี่ยง
ประการต่อมา กลุ่มแกนนำ กลุ่มผู้ร่วมยื่นคำขอและกลุ่มสถาบันการเงินต่างชาติ(ถ้ามี) จะถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์รวมกันได้เพียงร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนที่เหลืออีก 50% จะต้องกระจายสู่สาธารณชนโดยแบ่งกระจายภายในจังหวัดที่ตั้งแบงก์ 100%
ในทางปฏิบัติการหาเงินสดสำหรับทุนจดทะเบียนถึง 7,500 ล้านบาทนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย กฎเกณฑ์นี้บังคับกลายๆอยู่แล้วว่าจำเป็นต้องหาพันธมิตรและในความเป็นจริงทางผลประโยชน์ธุรกิจแม้ผู้ถือหุ้นจะเป็นพันธมิตรที่เข้าใจกันมากเพียงใดหากแตกกลุ่มออกไปมากเท่าใดนั่นคือความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่มีตัวอย่างให้เห็นบ่อยครั้งถึงความไม่ลงรอยกันในเวลาต่อมา
เงื่อนไขนี้จึงเอื้อต่อการไม่มีผู้ใดเป็นเสียงข้างมากตรงตามความต้องการของรัฐบาลชวน ไม่ต้องการให้ใครผูกขาด แต่ขัดกับธรรมชาติของธุรกิจที่ว่า ผู้ลงเงินก็ย่อมต้องการสิทธิและเสียง ในการควบคุมเงินก้อนนั้นให้เกิดดอกออกผลไปตามที่เขาต้องการคงไม่มีใครที่หวังลงเงินโดยไม่ต้องการอำนาจในการควบคุม
ผลพวงที่ตามมาอีกประการคือ เมื่อไม่มีใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มีสิทธิออกเสียงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็จำต้องพึ่งพิงนักบริหารมืออาชีพในอุตสาหกรรมการเงินที่ขาดแคลนอย่างสาหัส การล่าซื้อคนในวงการช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาจนราคาค่าตัวถูกปั่นขึ้นไปหลายเท่าก็ไม่ช่วยให้คุณภาพเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะนักการธนาคารซึ่งต้องใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์กว่าจะจับได้ไล่ทันลูกหนี้ที่มาข้อกู้เงินและบ่มเพาะการมองธุรกิจในระยะยาวไม่ใช่ระยะสั้นเหมือนธุรกิจด้านตลาดทุน
ผู้ที่จะเข้ามาใหม่ยังต้องรักษาคำมั่นสัญญาว่าจะเป็น Financial Arms ของรัฐบาลยามสถานการณ์คับขันอีกด้วย
เงื่อนไขทั้งหมดสวยหรูเต็มไปด้วยเหตุผล แต่ไม่เอื้อต่อการเกิดธุรกิจธนาคารพาณิชย์รายใหม่ ไม่มีนักธุรกิจคนใดอดทนเสียสละต่อประเทศชาติ ตราบใดที่ยังรักษากระเป๋าเงินของตัวเองไว้ไม่ได้
พูดง่ายๆว่าไม่มีนักการเงินคนใดที่ทุ่มเทตัวเองเพื่อกอบกู้นโยบายกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น โดยกระโจนเข้าสู่ธุรกิจตามหัวเมืองซึ่งมีไม่มากพอที่จะทำรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำอีกทั้งยังมีพันธะเงื่อนไขที่ขัดต่อธรรมชาติธุรกิจที่พะรุงพะรังพ่วงไปด้วย
น่าประหลาดที่ผู้ถือหุ้นแบงก์พาณิชย์ซึ่งใจจดจ่อกับการเฝ้ามองคู่แข่งหน้าใหม่ต่างโล่งอกเมื่อเห็นกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผ่านครม. แทนที่พวกเขาจะมีปฏิกิริยาต่อต้านตามธรรมชาติที่ไม่ต้องการเพิ่มคู่แข่งทางธุรกิจ กลับพากันชื่นชมว่ารัฐบาลตั้งเงื่อนไขได้ถี่ถ้วนรอบคอบ พร้อมใจกันยืนยันความมั่นใจว่าระบบการเงินไทยจะมั่นคงแข็งแรงอย่างแน่นอน
ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหม่แบงก์ไทยพาณิชย์ก็พลอยโล่งใจไปด้วย
ภารกิจของเขาลุล่วงไปแล้ว!
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|