แอลสตาร์ในสายฝน

โดย ยังดี วจีจันทร์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ตำแหน่งของแอล-สตาร์ คือ 116 องศาตะวันออก ข้อเด่นคือเป็นดาวเทียมที่ออกแบบมาทางด้านบรอดคาสติ้งโดยเฉพาะ และสามารถบีบลำแสงให้ตกลงในบริเวณที่ต้องการ 3 ส่วน

ปัญหาภาพไม่ชัด มิใช่เรื่องเล็กน้อย เมื่อคิดทำธุรกิจทีวี ไดเร็กต์ ทู โฮม หรือ DTH แม้แต่รัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งร่วมลงทุนในโครงการ "มีแซท เน็ตเวิร์ก ซิสเต็ม" ก็ปวดหัวกับปัญหานี้มาแล้ว

โครงการนี้เปิดให้บริการโทรทัศน์ 40 ช่อง โดยเป็นที่รู้จักกันในนามแอสโทรเน็ตเวิร์ก ต้องประสบปัญหาในระหว่างซอฟท์ลอนช์เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เพราะฝนตกหนัก คลื่นสัญญาณหายไป ต้องเลื่อนกำหนดแพร่ภาพ แล้วแก้ปัญหาด้านเทคนิคเป็นการใหญ่ โดยใช้วิธีเพิ่มแรงสัญญาณจากดาวเทียมไปยังจานรับสัญญาณ แต่ก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด

แอล-สตาร์ จะเผชิญปัญหาเหมือนมีแซท หรือไม่?

ในการกำหนดความเข้มของสัญญาณ แอล-สตาร์จะไม่ปล่อยลำแสงกระจายไปทุกที่ เพราะจะทำให้ความเข้มลดลง นี่จึงเป็นเหตุให้ต้องแบ่งลำแสงออกเป็นสามส่วนคือ เขตแหลมทอง เขตชมพูทวีป และเขตเอเชียตะวันออก

"แอล-สตาร์แต่ละดวง มีเคยูแบนด์ทั้งหมด 32 ทรานสปอนเดอร์ กำลังส่งของดาวเทียมดวงนี้ต้องถือว่าแรงที่สุด ในบรรดาดาวเทียมประเภทเคยูแบนด์เรียกว่า ซูเปอร์ ไฮ-เพาเวอร์ เคยูแบนด์ ภาพจะไม่ล้ม ถ้าเราจะทำโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในอินเดียก็ต้องคำนึงถึงฤดูมรสุม" สนธิกล่าว

สุรเดช มุขยางกูร กรรมการผู้จัดการของ ABCN กล่าวว่า "ความแรงของสัญญาณที่มีกำลังส่งถึง 8.5 กิโลวัตต์ จะทำให้แอล-สตาร์สามารถเอาชนะอุปสรรคในการส่งสัญญาณได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศอย่างไร"

แหล่งข่าวใน ABCN ให้ความเห็นว่า โดยทฤษฎีก็ต้องเป็นเช่นนั้น เพราะแอล-สตาร์ได้รับการออกแบบ โดยการขจัดจุดอ่อนของดาวเทียมดวงอื่นๆ แต่ในการแพร่ภาพที่เป็นจริง ก็ต้องคอยดูกันต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.