การเมืองก่อนเปลี่ยนยุค


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ชัยชนะของพรรคชาติไทยและคุณบรรหาร ศิลปอาชามองได้หลายแง่มุม

ผมอยากจะมองให้ไกลออกไปสักหน่อย !

ด้านหนึ่ง หมดยุคเผด็จการทหารทั้งทางตรงและทางอ้อมแล้วเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เป็นตัวหยุดยั้งไม่เพียงแต่พลังประชาธิปไตยภายในประเทศเท่านั้น แต่โลกานุวัตรที่วิ่งกระทบสังคมไทยโดยรวม ทำให้ไม่มีใครกล้าแม้แต่จะคิดนำระบอบเช่นว่ากลับมาอีก

แต่อีกด้านหนึ่ง ยุคของประชาธิปไตยที่มีความหมายแค่การเลือกตั้งไม่น่าจะอยู่ได้นานนัก

พรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยเป็นพรรคใหญ่ทั้ง 2 พรรคผลัดกันขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีครบแล้ว คุณชวน หลีกภัยไม่ได้พิสูจน์ว่าการเป็นนักเลือกตั้งอาชีพมา 21 ปีมีความหมายอะไรกับการเป็น CEO ของ Thailand Inc. ขณะที่คุณบรรหาร ศิลปอาชายังคงเป็น CEO ภายใต้ระบบเดิมที่ยังไม่ได้รับการปรับ จะต้องเผชิญอุปสรรคทั้งภายในพรรคตนเองพรรคร่วมรัฐบาลและกลไกรัฐที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย

วันนี้ทุกคนพูดถึงแต่การปฏิรูปการเมือง

แม้จะด้วยความเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้างและมีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลายกันไป

แต่ที่แน่ๆคือระบบการเมืองปัจจุบันถูกท้าทายอย่างรุนแรง

คุณชวน หลีกภัยก็ดี คุณบรรหาร ศิลปอาชาก็ดี พรรคประชาธิปัตย์ก็ดี พรรคชาติไทยก็ดี หากจะมีความเป็นตัวแทนของกลุ่มทุน ก็เป็นกลุ่มทุนอุตสาหกรรม กลุ่มทุนท้องถิ่น ระบบอุปถัมภ์ฯลฯ เรียกได้ว่าในทางประวัติศาสตร์เริ่มจะล้าหลังแล้ว

ต่างกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร !

คนๆนี้เป็นกลุ่มทุนสื่อสารโทรคมนาคม กลุ่มทุนของโลกยุคคลื่นลูกที่สาม ที่ก้าวเข้ามาสู่กิจกรรมช่วงชิงอำนาจรัฐด้วยตนเองแม้ว่ากิจการของเขาจะได้มาด้วยสัมปทานจากรัฐ แต่นั่นก็มีความหมายทางประวัติศาสตร์ เพราะรัฐที่เคยผูกขาดกิจการสื่อสารโทรคมนาคม ต้องปล่อยมือให้ภาคเอกชน ก็แหละเมื่อภาคเอกชนถือสัมปทานที่อาจถูกกระทบง่ายๆด้วยการเมืองเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะต้องเข้ามากุมอำนาจรัฐเพื่อพิทักษ์สัมปทานที่ได้มา ในขณะที่กลุ่มอื่นๆก็ต้องเข้ามาทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างน้อยก็เพื่อให้การลงทุนด้านนี้มีเสรีมากขึ้น ไม่ถูกผูกขาดโดยรัฐหรือโดยกลุ่มเอกชนที่กระโจนเข้าสู่กระแสการเมือง

การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้วุ่นวายพอเป็นกระสายเพราะการตัดสินใจของคนๆหนึ่ง

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

ผมจะไม่วิเคราะห์ว่าคนๆนี้พลิกฟื้นชีวิตจากการถูกเมินว่าไร้ค่า ไร้ราคา ไร้ความหมาย ขึ้นมาเป็นพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากเป็นอันดับ 3 ของทั้งหมดและเป็นอันดับ 2 ในรัฐบาลผสมที่มีบทบาทสูงยิ่งเพราะอะไร แต่จะขอวิเคราะห์การเลือกกระทรวงของหัวหน้าพรรคความหวังใหม่แทน

หากพล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธในฐานะที่มี 57 เสียง เลือกนั่งกระทรวงมหาดไทยควบรองนายกรัฐมนตรีตามเดิม คุณบรรหาร ศิลปอาชาก็คงอนุโมทนาสาธุ เพราะไม่มีใครคัดค้านแน่แต่การพลิกล็อกครั้งนี้ทำให้ Faction ต่างๆ ในพรรคชาติไทยที่ยังไม่ทันเกมในกระแสโลกใหม่ต่างรุมทึ้งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกันพัลวัน ในเชิงการเมืองแล้วพรรคชาติไทยมีหวังรับเละแน่

แต่ช่างเถอะ นั่นไม่ใช่ประเด็นที่ผมจะอภิปราย ณ ที่นี้

ประเด็นคือ 2 กระทรวงหลักที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธเลือก

กระทรวงคมนาคม

กระทรวงกลาโหม

กระทรวงคมนาคมมีบทบาทสูงมากในโลกยุคใหม่ เพราะประเทศไทยยังไม่มี Independent Regulatory Agency วางกรอบดูแลการแข่งขันด้านนี้ เจ้ากระทรวงคมนาคมจึงยิ่งใหญ่เอาการ

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายทหารเหล่าสื่อสาร เคยมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์กองทัพบก เขาเป็นคนฉลาดติดตามความเปลี่ยนแปลงในโลกอยู่ตลอดเวลา การจงใจเลือกกระทรวงคมนาคมทำให้ผมมองเห็นได้ว่าคนๆนี้ยังไม่ตาย และจะไม่ตายง่ายๆตรงกันข้าม ผมมองว่าโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอยู่แค่มือเอื้อม

เพราะพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธเลือกกระทรวงกลาโหมควบคู่ไปด้วยทำไมและเขาจะได้อะไร

สิ้นเดือนกันยายน 2539 ผู้บัญชาการทหาร 3 เหล่าทัพจะเกษียณอายุราชการพร้อมกัน ไม่ต้องพูดถึงการโยกย้ายประจำปีนี้ การโยกย้ายกลางปีหน้าไม่จำเป็นต้องเล่นพรรคเล่นพวก แต่ “ทหารเก่าไม่มีวันตาย” ผู้เคยได้รับสมญาว่าขงเบ้งทัพบกคนนี้สามารถผูกพันธมิตรกับผู้นำกองทัพทั้ง 3 เหล่าได้ไม่ยาก

โครงการต่างๆที่ประสานกองทัพเข้ากับกิจกรรมพัฒนา อาทิโครงการอีสานเขียวจะต้องกลับมาแน่นอน

มิพักต้องพูดถึงโครงการใหม่อื่นๆ ที่จะให้กำลังพลในกองทัพมีบทบาทต่อสังคมมากขึ้น

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธจะมีแต่ได้กับได้

ไม่ต้องปวดหัวเรื่องกระจายอำนาจ ไม่ต้องยุ่งยากกับการโยกย้ายตำรวจ

และไม่ต้องรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ทำอะไรไม่ค่อยได้ในระบบปัจจุบัน

สมการ ‘คมนาคม + กลาโหม’ จะนำมาซึ่งคำตอบอย่างไรผมไม่รู้

รู้แต่ว่าไม่ธรรมดาแน่นอน !


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.