เศรษฐกิจเติบโตได้ด้วยนวัตกรรม


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ศตวรรษที่ 20 ได้ให้คณิตศาสตร์ที่มีพลังสูงแก่นักเศรษฐศาสตร์ แต่มิได้ช่วยเหลือพวกเขาในการไขปัญหาพื้นฐานที่สุดที่ว่า “อะไร ทำให้เศรษฐกิจเติบโต” แนวคิดสาขาหนึ่ง ซึ่งสืบย้อนไปถึงปรมาจารย์ผู้มีชื่อว่า อาดัม สมิธ บอกไว้ว่า โภคทรัพย์ใหม่ ๆ นั้น จะเกิดมาจากการลงทุนในด้านเกษตรกรรมและโรงงาน แนวคิดฟากตรงข้ามเป็นของจอห์น เมย์นาร์ด คีนส์ ซึ่งเห็นว่าความเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของผู้บริโภค ทว่าแนวคิดทั้งสองนี้ ไม่ใช่ประเด็นที่ถูกนำมาถกเถียงกันตามสถานที่สัมมนาทั้งหลายอีกต่อไปแล้ว ในทศวรรษที่ 1990 นี้ ผู้คนต่างพูดถึงแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่วัย 39 ผู้มีชื่อว่า พอล โรเมอร์ ที่ว่า “ความคิดคือสิ่งที่ผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต”

โรเมอร์ มิได้ต่อต้านการลงทุน แต่เขากล่าวว่า การลงทุนในสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว จะไม่ทำให้เรามั่งคั่งขึ้นนานนัก โภคทรัพย์ที่แท้จริงสร้างได้จากนวัตกรรม ไม่ว่ามันจะเป็นนวัตกรรมเล็ก ๆ เกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์ของถั่วเหลืองให้ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย หรือว่าเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่อย่าง ชิปคอมพิวเตอร์ นโยบายสำคัญที่สุดที่รัฐบาลสามารถจะดำเนินได้ มิได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาษีหรือการใช้จ่าย หากอยู่ที่การเร่งจังหวะก้าวของนวัตกรรม

คนหัวเก่ายังพอฟังทัศนะเช่นนี้ได้อยู่ ทว่าโรเมอร์ มีความคิดซับซ้อนกว่านั้น เขามิได้หลับหูหลับตาสนับสนุนการปล่อยให้ตลาดเป็นตัวบงการเศรษฐกิจ เขาบอกว่า “การพาณิชย์ที่ปล่อยให้เป็นไปเองโดยที่รัฐบาลมิได้เข้ามาแทรกแซงเลยนั้น มิใช่ระบบที่ดีที่สุด สำหรับนวัตกรรม หากรัฐบาลสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ที่เกื้อหนุนนวัตกรรมได้มากมาย ระบบการจัดสรรที่ดินให้แก่ประชากรที่สภาคองเกรสส์ของสหรัฐได้สร้างขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980 เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในการเกษตร เป็นตัวอย่างที่ดีอย่างหนึ่ง การส่งเสริมการฝึกอบรมก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน โรเมอร์กล่าวว่า ในบางกรณี การคุ้มครองสิทธิบัตรเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่สำหรับรัฐบาลแล้ว การให้ความคิดต่าง ๆ ไปฟรี ๆ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด รายละเอียดของสิ่งที่รัฐบาลทำ มีความสำคัญมากยิ่งกว่าแนวกว้าง ๆ และคำแนะนำของพอล โรเมอร์ ก็คือคำที่คงจะได้เคยได้ยินได้ฟังกัน มานานแล้วว่า “จงระวังเรื่องรายละเอียด”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.