เงินเฟ้อ น้ำมันแพง


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

สภาพเศรษฐกิจของสหรัฐในระยะหลายปีที่ผ่านมานี้ ยากจะหาช่วงเวลาใดที่ดีไปในขวบปีที่เพิ่งสิ้นสุดลงไปได้ยากยิ่ง ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (GDP =Gross domestic product) สูงขึ้นเกือบ 4 เปอร์เซ็นต์ การจ้างงานมีเพิ่มขึ้นกว่า 3 ล้านตำแหน่ง ในขณะที่การใช้ประโยชน์จากสมรรถนะของโรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราสูงลิ่ว และประชากรก็กลับมาจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคกันอย่างคึกคักอีกวาระหนึ่ง

สภาพเศรษฐกิจดี ๆ เช่นนี้ ส่งผลกระทบทั้งในด้านดีและด้านเสียแก่ปี 1995 ที่เพิ่งเริ่มขึ้น โดยที่ประเด็นความกังวลและสนใจนั้น อยู่ที่ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งมีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเพียงแต่ว่าจะเฟ้อมากเพียงไรเท่านั้น

สิ่งที่จะมีควบคู่ตามมา เพื่อป้องกันหรือแก้ไขภาวะเงินเฟ้อ ก็คืออัตราดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้น จะสูงขึ้นเป็นพิเศษ และหากว่าภาวะเงินเฟ้อสูงมาก และหากว่าดอกเบี้ยเพิ่มสูงมาก ความถดถอยทางเศรษฐกิจก็อาจจะเกิดขึ้นได้

อันที่จริงแล้ว หน่วยงานธนาคารของสหรัฐ หรือเฟดเดอรัล รีเสิร์ฟ (Federal Reserve) ก็ได้ริเริ่มดำเนินการเพื่อยับยั้งภาวะเงินเฟ้อที่อาจจะเกิดขึ้นไปแล้ว โดยได้มีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นถึง 6 ครั้ง ในช่วงปี ค.ศ. 1994 ที่ผ่านมา แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยับยั้งความเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วจนน่าตกใจได้ไม่เป็นผลเท่าไรนัก เดือนตุลาคมและพฤศจิกายน เป็นช่วงอัตราการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการค้าปลีก เพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ดี สภาพเงินเฟ้อก็ยังไม่ปรากฏเป็นสถิติว่าอยู่ในระดับสูงนัก ลำพังการจับจ่ายซื้อของอย่างดุเดือดราวกับว่าไม่รู้จักพอ ทั้งของผู้บริโภคและของหน่วยธุรกิจ มิได้ชวนให้วิตกกังวลกับภัยเงินเฟ้อมากมายนัก แต่การใช้จ่ายในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ยิ่งดำเนินไปเนิ่นนานเพียงไร ราคาสินค้าก็มีทีท่าว่าจะเพิ่มสูงขึ้นมากเท่านั้น เมื่อประกอบเข้ากับราคาสินค้าที่สูงอยู่แล้ว และกำลังสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ และกับราคาสินค้าสั่งเข้าที่สูงขึ้น เงินเฟ้อก็เริ่มเกิดขึ้น เมื่อเติมเอาเรื่องค่าแรงที่เพิ่งขึ้นเข้าไปอีก ความพยายามที่จะรักษาระดับราคาสินค้ามิให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกินไปนัก จึงยากจะทำได้ เฟรดเดอริค มิชคิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของธนาคารกลางสหรัฐ หน่วยนิวยอร์คกล่าวว่า “ขณะนี้เรากำลังอยู่ในเขตสีเทา ถ้าหากว่า อัตราความเติบโตยังดำเนินต่อไป ในอนาคตเราจะประสบกับภาวะเงินเฟ้อยิ่งกว่านี้อีกมาก”

ในบางท้องที่ ปัญหาเงินเฟ้อได้เกิดขึ้นมาแล้ว ราคาวัตถุดิบหลายชนิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนบรรดาผู้ผลิตโวยวายกันมานานนับเป็นเดือน ๆ แล้ว โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งสมาชิกของสมาคมการบริหารการจัดซื้อ (National Association of Purchasing) เกือบ 70% ยืนยันว่า ราคาสินค้าจำพวกผลิตภัณฑ์กระดาษ ไม้ เหล็กกล้า อลูมิเนียม และสินค้าอื่น ๆ สูงขึ้นจริง ๆ และสิ่งสำคัญที่จะมีราคาสูงขึ้นและดึงให้สินค้าอื่น ๆ สูงขึ้นตามไปด้วยก็คือน้ำมัน

ในปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไปแล้ว 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปีหน้า คาดว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นไปอีก 15 เปอร์เซ็นต์

น้ำมันเคยเป็นสิ่งที่หล่อลื่นความเจริญมั่งคั่ง นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 ถึงปี ค.ศ. 1972 ความต้องการน้ำมันในสหรัฐได้เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าตัว ในญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 137 เท่า แน่นอนว่า สิ่งที่ผลักดันให้มีการใช้น้ำมันกันมากขึ้น ก็คือรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นไปเป็นลำดับ

ขณะนี้ แบบแผนอย่างเดียวกันนี้กำลังเกิดขึ้นในโลกที่สาม อาทิเช่นในเอเชียตะวันออก คาดว่าความต้องการพลังงานจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในสองทศวรรษข้างหน้า ตลอดช่วงเวลาเดียวกันนี้ คาดว่าประเทศทางลาตินอเมริกัน ก็จะต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้น 74% อาดัม ซีมินสกี้ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจพลังงาน คาดว่า เมื่อประเทศเหล่านี้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจแบบตลาดและการค้าเสรีมากขึ้น การใช้น้ำมันก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงและฉับพลัน และจะส่งผลกระทบให้น้ำมันซึ่งมีราคาบาร์เรลละ 17 ดอลลาร์ในขณะนี้ มีราคาสูงขึ้น

ราคาที่สูงขึ้น จะส่งผลให้มีการสำรวจหาและขุดเจาะน้ำมันจากแหล่งใหม่ ๆ ขึ้นมาใช้ และจะทำให้วิกฤติการณ์น้ำมัน ซึ่งหากว่าจะมีเกิดขึ้นมา ทุเลาลงทว่าในอนาคตที่มองเห็นได้นี้ ราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นก่อนเป็นการเริ่มต้นวงจรราคา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.