|

พีซีภาษาจีน : ต้องกล่อมก่อนใช้งาน
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2538)
กลับสู่หน้าหลัก
ในวันคริสต์มาสที่ผ่านมาในสิงคโปร์ ชายคนหนึ่งกำลังนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ของเขาซึ่งเป็นเครื่องพาวเวอร์ แมคอินทอช รุ่นใหม่ที่โรงงานแอปเปิลสิงคโปร์เป็นผู้ผลิต แต่เมื่อเขาพูดคำสั่งผ่านไมโครโฟนตามที่เครื่องของเขาบอกในจอ มันกลับไม่ยอมทำตามคำสั่งแม้ว่าเขาจะพยายามใช้วิธีต่าง ๆ ทั้งพูดเร็ว ๆ พูดช้า ๆ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งทำให้เขาใช้คอมพิวเตอร์ด้วยความยากลำบาก
นี่ไม่ใช่เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ เพราะการทำให้คอมพิวเตอร์สามารถสื่อสารด้วยภาษาจีนเป็นปัญหาใหม่ในช่วงปีใหม่นี้ที่ทางแอปเปิ้ล-อิสส์ รีเสิร์ชและสิงคโปร์ แอปเปิ้ล ดีไซน์ เซ็นเตอร์กำลังหาทางแก้ไขปรับปรุงอยู่
ก่อนหน้านี้ การจำคำพูดของคอมพิวเตอร์จำกัดอยู่เพียงแค่คำไม่กี่ร้อยคำเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะยิ่งบรรจุคำลงไปมากเท่าใด ก็หมายความว่าคอมพิวเตอร์จะต้องใช้เวลาล้วงหาคำที่ตรงกับที่มันได้ยินในพจนานุกรมของมันนานเท่านั้น เมื่อบวกกับปัญหาที่ว่าภาษาจีนนั้นคำเดียวกันอาจมีความหมายต่าง ๆ กัน และออกเสียฟังยาก ก็ยิ่งทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามเสียงสั่ง กลายเป็นปัญหาหนักอกมากกว่าเครื่องอำนวยความสะดวก
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้คณะนักวิจัยที่แอปเปิ้ล-อิสส์ ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหานี้แล้ว โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากสิงคโปร์ จีน และอังกฤษ กับวิศวกรชาวอเมริกันของแอปเปิลเพื่อปรับปรุงเครื่องที่ไม่ยอมทำงาน นั่นคือทำให้เสียงของคนเราเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับเครื่องให้ได้
วิธีแก้ปัญหาของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้คือ การอาศัยสถิติหรือคำที่ผู้สั่งใช้บ่อยที่สุด เช่นถ้าคุณอยู่ในวงการธุรกิจ คำว่า “โทร” คุณใช้บ่อยกว่าคำว่า “โท” (ที่แปลว่าปริญญาโทหรือไม้โท) เครื่องคอมพิวเตอร์ก็จะเลือกคำว่า “โทร” เป็นอันดับแรก ซึ่งถ้ามันกำกวมคุณก็ลบคำที่ใช้น้อยกว่าออกจากความถี่ได้ในภายหลัง นอกจากนี้ ผู้สั่งยังต้องสร้างความคุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์โดยการเล่านิทานให้เครื่องฟัง (ไม่ต้องห่วง มันไม่เคลิ้มหลับแน่นอน) เพื่อให้มันคุ้นกับเสียงของผู้ใช้ จากนั้นเจ้าคอมพิวเตอร์ก็จะสร้างโมเดลของรูปแบบเสียงของเจ้านายมันขึ้นมาเอง
ในที่สุด เมื่อเครื่องรู้ว่าเสียงมีความแตกต่างกันยังไง ทีนี้ไม่ว่าคุณจะพูดช้า ๆ อย่าง “สา-หวัด-ดี-คร๊าบ” หรือพูดเร็ว ๆ อย่าง “สวัสดีครับ” มันก็สามารถที่จะจดจำทั้งสองเสียงได้ แม้ว่าเครือข่ายการรับรู้ของเครื่องจะจำอะไรได้มากมาย แต่ก็ทำได้ไม่ดีนักกับการจำเสียง ดังนั้นจึงต้องการบรรทัดฐานบ้างในบางครั้ง นั่นคือเหตุที่ไม่ค่อยมีคนใช้คำว่า “ใครขายไข่ไก่” ในการบันทึกเสียง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|