ราคาที่คนญี่ปุ่นต้องจ่ายในการปกป้องตลาด


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าถามความเห็นบริษัทต่างชาติเรื่องที่ญี่ปุ่นปิดตลาดในประเทศรับรองว่าทุกบริษัทที่ถูกจะต้องส่ายหัวด้วยความระอาไปตาม ๆ กัน เนื่องจากมาตรการดังกล่าวนอกจากจะทำให้บริษัทต่างชาติขาดตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญที่สุดไปแห่งหนึ่งแล้ว ยังมีผลทางอ้อมทำให้คนในประเทศตกงานอีกด้วย เนื่องจากหากไม่มีกำไรจากการส่งออกสินค้าบริษัทก็ต้องปลดคนงาน

แต่ผลจากการปกป้องตลาดยังสร้างความเดือดร้อนให้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นเองอีกด้วยเพราะผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นต้องซื้อหาอาหารในราคาที่แพงกว่าที่อื่น เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าของบริษัทในญี่ปุ่นนั้นสูงมาก ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีราคาแพง ครั้นจะเลือกซื้อสินค้านำเข้า รัฐบาลก็ขึ้นภาษีจนมีราคาสูงพอ ๆ กัน

แต่ชาวญี่ปุ่นจะต้องจ่ายค่าตอบแทนของการปิดตลาดในราคาเท่าใดกันแน่ ? คำตอบนี้มีอยู่ในหนังสือ “MEASURING THE COSTS OF PROTECTION”

แต่งโดยสามนักเศรษฐศาสตร์ชาวญี่ปุ่นคือ โยโกะ ซาซานามิ, ชูจิโร อูราตะและฮิโรกิ คาวาอิ

ทั้งนี้ ทั้งสามไม่ได้เน้นการตรวจสอบราคาสินค้าในตลาดมากนัก แต่สนใจมาตรการของรัฐบาลที่ทำให้ต่างชาติเจาะตลาดญี่ปุ่นได้ยากแทนเนื่องจากประเด็นนี้จะเป็นความวิตกกังวลของต่างชาติมากกว่า รวมถึงการเปรียบเทียบราคาสินค้าอย่างเดียวกันในญี่ปุ่นกับประเทศอื่น ๆ ตรงบริเวณท่าเรือ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสินค้าที่ยังไม่มีการกำหนดอัตราภาษี

ผลสำรวจพบว่า ในปี 1989 สินค้าอาหารในญี่ปุ่นแพงกว่าสินค้านำเข้าถึง 100% ราคาวิทยุและโทรทัศน์สูงกว่าที่นำเข้ามาถึง 6 เท่า ไม่ต้องพูดถึงราคาเสื้อผ้าที่มีราคาสูงถึง 300% และราคาน้ำมัน 200%

ในปีเดียวกัน ต้นทุนที่คนญี่ปุ่นต้องจ่ายให้กับการปกป้องตลาดมีจำนวนสูงถึง 15 ล้านล้านเยน(158,400 ล้านดอลลาร์) ต่อปี หรือ 3.8% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่ต้นทุนดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยรวมเนื่องจากการปิดตลาดกลับส่งผลดีธุรกิจในประเทศ และเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสามยังสรุปว่า การที่ญี่ปุ่นนำมาตรการปกป้องตลาดมาใช้นั้นกลับยิ่งจะเป็นการทำให้สินค้าของต่างชาติเป็นที่ต้องการมากขึ้นเข้าไปอีกในที่สุดหากวัดกันที่คุณภาพและความนิยมของนอก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.