|

2 โลว์คอสต์จับมือสู้นกแอร์
ผู้จัดการรายวัน(4 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
สายการบินต้นทุนต่ำเร่งหาลู่ทางลดต้นทุนรับยุคน้ำมันแพง ล่าสุดวัน ทู โก บาย โอเรียนท์ไทย จีบไทยแอร์ เอเชียเปิดศึกปะทะนกแอร์ของการบินไทย (ทีจี) เผยเคยร่วมมือมาแล้วแต่ไม่ชัดเจนเท่าครั้งนี้ เบื้องต้นจัดตารางแผนเส้นทางการบินให้เหลื่อมเวลากัน และแชร์ผู้โดยสารร่วมกัน
นายอุดม ตันติประสงค์ชัย ประธาน บริษัท โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จำกัด ผู้ให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ วัน ทู โก บาย โอเรียนท์ไทย เปิดเผยว่า เนื่องจากธุรกิจการบินในปัจจุบันนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ หลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงทำให้ประชาชนต้องมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย จึงจำเป็นที่จะต้องหาทางลดต้นทุนดำเนินการทางการบิน ขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งการบริการที่ไม่กระทบกับผู้โดยสาร ซึ่งผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำส่วนมากมักจะแข่งเรื่องลดราคาส่งผลต่อการขาดทุน ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้จะทำให้ธุรกิจดังกล่าวนี้ลำบากและอาจอยู่ไม่รอด
ล่าสุดขณะนี้ทางวัน ทู โก บาย โอเรียนท์ไทยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาหารือกับทางนายทัศพล แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสายการบินไทยแอร์เอเชีย เพื่อหาความร่วมมือกันในการทำธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำในภาวะที่เศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ อีกทั้งเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการต่อสู้กับสายการบินต้นทุนต่ำอย่างนกแอร์ที่มีการบินไทยสนับสนุนอยู่ ซึ่งความจริงแล้วทั้งสองฝ่ายก็มีการร่วมมือกันมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่เต็มที่มากนักเท่าครั้งนี้ที่มีความชัดเจนมากขึ้น จากที่ผ่านมาเคยมีการร่วมมือกันมาบ้างแล้ว เช่น หลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มภาคใต้ของไทย ซึ่งไม่ใช่แค่ 2 สายการบินนี้ที่จับมือกันยังมีสายการบินอื่นๆ ที่ร่วมแชร์ผู้โดยสาร เป็นต้น
โดยในเบื้องต้นนี้ทั้งวัน ทู โก และไทยแอร์เอเชีย ได้จัดทำตารางการบินร่วมกัน โดยเฉพาะในเส้นทางเดียวกัน ให้มีระยะเวลาการบินที่ห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง จากเดิมที่ระยะเวลาการบินในเส้นทางเดียวกันจะห่างกันแค่ 30 นาที- 1 ชั่วโมงเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ยังได้เตรียมที่จะแบ่งเบาภาระด้วยการแชร์ผู้โดยสารร่วมกัน ในกรณีที่บินเส้นทางเดียวกันแต่ไม่เต็มลำของทั้งสองฝ่าย เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการลดเที่ยวบินไปบ้างแล้วในแต่ละเส้นทางเช่น กรุงเทพฯ-ภูเก็ต
ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันนี้สายการบินต้นทุนต่ำมักจะเกิดปัญหาที่คล้ายกันอย่างมาก อาทิ จำนวนที่นั่งผู้โดยสารที่มีเหลือในบางเที่ยวบิน การออกบินของเครื่องบินที่ไม่ตรงเวลาตามกำหนด ซึ่งทำให้ผู้โดยสารเกิดความไม่พอใจและไม่อยากจะมาใช้บริการสายการบินต้นทุนต่ำอีกหากไม่แก้ไขปัญหาดังกล่าว
นายอุดมกล่าวด้วยว่า ในอนาคตทั้ง 2 บริษัทจะมีการร่วมมือกันทางการตลาดมากขึ้น เพื่อที่จะได้สามารถต่อสู้กับสายการบินนกแอร์ที่มีการบินไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และคอยสนับสนุนทางการตลาดและโอบอุ้มมาตลอด โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ก็เคยมีข้อตกลงในเรื่องของการแบ่งที่นั่งกับทางการบินไทยเพื่อส่งผู้โดยสารให้กันและกันถ้าหากเกิดปัญหาขึ้นมา แต่ในสภาพความเป็นจริงเมื่อเกิดเหตุการณ์ขัดข้องขึ้นมาจริงๆ ก็ไม่ได้รับความร่วมมืออย่างแท้จริง ซึ่งการเป็นพันธมิตรของการบินไทยนั้นก็จะทำกับสายการบินอื่นเหมือนกับเป็นแค่ผู้โดยสารเพียงคนหนึ่งเท่านั้น
นอกจากนี้การจับมือของทั้ง 2 บริษัทนี้ ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งขั้วอย่างชัดเจนของธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำได้เป็นอย่างดี รวมถึงยังเป็นการแก้ไขจุดบอดและข้อด้อยของการให้บริการแอร์โลว์คอสต์ที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ ให้มีประสิทธิภาพดีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม วัน ทู โก บาย โอเรียนท์ไทยและแอร์เอเชียยังมีความแตกต่างกันอยู่ในส่วนการดำเนินธุรกิจเรื่องราคาขายตั๋วโดยสาร ซึ่งในส่วนของแอร์เอเชียจะใช้กลยุทธ์ราคาถูกในการทำการตลาดเพื่อล่อใจลูกค้า เช่น ราคาเริ่มต้น 999 บาท หรือการที่ลูกค้าโทร.มาจองก่อนจะได้ตั๋วราคาถูกกว่า เป็นต้น ขณะที่โอเรียนท์ไทยมีนโยบายที่ชัดเจน คือ ราคาเดียวทุกที่นั่ง โดยราคาเริ่มต้นที่ 1,500 บาท (ยังไม่รวมค่าภาษีและธรรมเนียมภาษีสนามบิน)
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|