|

ข่าวลือลดค่าเงินบาท “ลองของ” โฆษกแบงก์ชาติคนใหม่
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2538)
กลับสู่หน้าหลัก
ข่าวลือ “ลดค่าเงินบาท” ที่เกิดจากฤทธิ์ร้ายเม็กซิโกโฟเบียได้เริ่มโหมกระแสขึ้นตั้งแต่ วันพุธที่ 11 มกราคม นักลงทุนฮ่องกงและอเมริกาบางคนเริ่มมีคำสั่งซื้อดอลลาร์คืนขายเงินบาท เพราะไม่มั่นใจว่าวิกฤติลดค่าเงินบาทอาจจะเกิดขึ้นในไทย โดยมีสมมุตฐานมาจากการตีความข้อเขียนวิเคราะห์ของจิม วอคเกอร์ ที่ตีพิมพ์ในอาเชี่ยนมอร์นิ่งไลน์ของเครดิต ลิยอนแนส์ ซิเคียวริตี้ โบรกเกอร์ใหญ่ที่ฮ่องกง
รุ่งขึ้นวันพฤหัส สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายหนัก เมื่อแบงก์พาณิชย์ไทยเริ่มเห็นคำสั่งซื้อดอลลาร์เข้ามามาก และในตลาดรับซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลหรือ “อาร์พี” ในเช้าวันนั้นมีการขอกู้มาก ๆ
ตกบ่าย “ฮอตไลน์” ถึงแบงก์ชาติเป็นไปจากทุกสารทิศ ไม่ว่าเสียงจากแบงก์พาณิชย์ไทยเทศที่รีบแจ้งแบงก์ชาติว่า ในตลาดฮ่องกงและสิงคโปร์มีคำสั่งซื้อดอลลาร์และขายเงินบาทมากผิดปกติ
“เหตุการณ์นี้ต้องเรียกว่า ATTACK แบบขายเงินทุกสกุลในละแวกภูมิภาคนี้ คือขายทั้งเงินบาท เงินริงกิต เงินเปโซ เป็นที่คาดหมายว่าเป็นการลดพอร์ตการลงทุนแถบเอเชียนี้ เพื่อเอากลับไปลงทุนในประเทศเม็กซิโกที่ตลาดหุ้นที่โน่นตกลงมาก ๆ บางคนก็ว่า พอร์ตของเขาในเม็กซิโกขาดทุนมาก จึงต้องลดพอร์ตที่นี่เพื่อเอาไปชดเชยกัน” นพมาศ มโนลีหกุล ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการแบงก์ชาติ เล่าให้ฟัง
ผลกระทบจากการถอนพอร์ตของนักลงทุนต่างชาติที่มีความเคลื่อนไหวเงินทุนระยะสั้นผนวกกับข่าวการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้ส่งผลสะเทือนหนักต่อดัชนีตลาดหุ้นไทย จนกระทั่งถึงวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นลงลึกเหลือเพียง 1191.26 จุดเท่านั้นเอง
ท่ามกลางภาวะสับสนของกระแสข่าวลือ สถาบันการเงินแต่ละแห่งก็ต้องป้องกันตัวเอง ด้วยวิธีการโค้ดราคาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสกุลดอลลาร์สูงพรวดจาก 25.25 พุ่งเป็น 25.80 บาทต่อดอลลาร์
ภาวะผันผวนสุดขีด ได้กลายเป็นไฟลามทุ่งที่โฆษกแบงก์ชาติคนใหม่ต้องรับภารกิจสำคัญออกมาแถลงข่าวดับกระแสตื่นตระหนก ดังที่เธอเล่าให้ฟังว่า
“พอเราทราบเหตุการณ์ปั๊ป ทางเราก็วิเคราะห์สถานการณ์แล้วเห็นว่า ต้องทำให้สถาบันการเงินมั่นใจก่อน คือหนึ่ง- เราออกข่าวยืนยันว่าไม่มีการลดค่าเงินบาท ขณะเดียวกันเราก็ปล่อยเงินนับเข้าตลาดเงินผ่านทางตลาดรับซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล และ LOAN WINDOW พร้อมทั้งยืนยันกับแบงก์พาณิชย์ไทยว่าจะช่วยสนับสนุนเต็มที่ให้เขาขายดอลลาร์ไปได้เท่าที่จำเป็นถ้าเขาต้องการเงินบาทเราก็ยินดีปล่อยให้ หรือถ้าเขาจะเปิดออฟฟิศขายดอลลาร์ รับซื้อบาทคืนจากสาขาในต่างประเทศเช่น ลอนดอนหรือนิวยอร์ก เราก็ให้ทำได้”
ตกเย็นวันนั้น ปัญหาดูเหมือนเริ่มคลี่คลาย อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ลดจาก 25.80 เป็น 25.25-25.30 บาท แต่ก็ยังนับว่าสูงพอสมควร
เช้าตรู่ของศุกร์ 13 ฝันร้ายปรากฏมาในรูปของอินเตอร์แบงก์เรตที่ให้กู้ยืมกันระหว่างแบงก์กระโดดขึ้นไปสูงมาก ๆ จาก 10-13% เป็น 30-50% และบางแบงก์ไทยโค้ดราคากันสุดฤทธิ์สุดเดชถึง 100% ก็มีเหตุผลคือป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง
แบงก์ต่างประเทศในไทยแทบกระอักเลือด เพราะไม่มีปัญญาไปหาเงินบาทมา ทั้ง ๆ ที่ ได้รับคำสั่งซื้อเงินบาทจากต่างประเทศเข้ามามาก เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่จึงวิ่งมากู้กับแบงก์พาณิชย์ไทยซึ่งก็ตกที่นั่งลำบาก เหมือนกันคือ ขาดเงินบาท !?
ประสบการณ์จากการลดค่าเงินบาทในปี 2527 แบงก์ชาติจึงประกาศยืนยันความสนับสนุนเต็มที่ในการปล่อยเงินเข้าทั้งในตลาดรับซื้อคืนพันธบัตรและ LOAN WINDOW ขณะเดียวกัน แบงก์ต่างประเทศก็สามารถเอาดอลลาร์มา SWAP ประกันความเสี่ยงขายแลกดอลลาร์เป็นเงินบาทได้ โดยมีสัญญาว่าอีก 7 วันเอาเงินบาทมาซื้อดอลลาร์คืนไป
“แบงก์ต่างประเทศเขาจึงหาเงินบาทได้โดยไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและการปล่อยเงินบาทในแง่ของแบงก์ชาติ เราคิดดอกเบี้ยเขาแค่อัตรา 9.5% เท่ากับ เปิดหน้าต่าง LOAN WINDOW ให้เขา เพราะแบงก์ต่างประเทศในไทยไม่มีหรือแทบจะมีพันธบัตรน้อยมากที่จะเอามาแลกเงินบาทได้” นพมาศเล่าให้ฟังถึงความช่วยเหลือนี้
ปรากฏว่า สิ้นวันศุกร์ 13 ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจของคนแบงก์ชาติ อินเตอร์แบงก์เรต ลดลงมาเหลือเพียง 11% จากตอนเช้าที่ตัวเลขขึ้นไปแบบบ้าเลือดถึง 40-50% ส่วนดอลลาร์ก็ลดลงเหลือ 25.10-25.15 บาท
สัปดาห์ต่อมา ความมั่นใจเริ่มคืนกลับสู่ภาวะการเงินไทย ขณะที่แบงก์ชาติได้ดำเนินนโยบายต่อเนื่อง ในการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบและเปิดหน้าต่างกู้ยืมให้ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ลดมา ๆ จนใกล้เคียงกับอัตราที่ทุนรักษาระดับกำหนดไว้ 25.04 บาท และอินเตอร์แบงก์เรตเหลือ 10-13%
บทเรียนต้นปีจากข่าวลือลดค่าเงินบาทนี้ ได้สะท้อนว่ายังมีงานด้านนโยบายอีกอย่างหนึ่ง ที่แบงก์ชาติต้องเร่งมือทำนั่นก็คือ “การพัฒนาตลาดตราสารการเงิน” เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เพราะบางแบงก์มีพันธบัตรของรัฐบาลสำรองน้อยมาก เนื่องจากแบงก์คิดว่าพันธบัตรรัฐบาลให้รายได้แก่แบงก์น้อยเกินไป แต่ในยามวิกฤต เมื่อหน้าต่าง LOAN WINDOW ของแบงก์ชาติเปิด หากใครมีพันธบัตรน้อยก็กู้ได้น้อย นี่คือปัญหา!
หลังมรสุมข่าวลือผ่านพ้นไป ฟ้าเริ่มใส ในงานเลี้ยงสื่อมวลชน ผู้ว่าแบงก์ชาติและคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงมีอารมณ์ชื่นมื่นพอที่จะร้องรำทำเพลงได้อย่างสนุกสนาน
แต่คนที่ยิ้มสวยในงานเห็นจะไม่พ้น “นพมาศ มโนลีหกุล” โฆษกสาวที่มีลักษณะโหงว- เฮ้งเด่นที่ “ไฝมหาลาภ” สองเม็ดเล่าให้ฟังถึงภารกิจใหม่ที่ทำนี้ว่า
“ไม่เบื่อ และไม่ตื่นเต้นเลยเมื่อทราบข่าวลือ เพราะเคยเห็นอย่างนี้มาแล้วในเมืองนอก เพราะเมื่อก่อนตามข่าวต่างประเทศ แต่คงตื่นเต้นเมื่อเทียบกับปี 2527 ที่เคยลดค่าเงินบาท แต่หนนี้เรื่องมันง่ายกว่ากันเยอะเลย เพราะมันเป็นเพียงข่าวลือ แต่หนที่แล้วเราไม่มีเงินจริง ๆ !!
ภารกิจข้างหน้ายังรอการพิสูจน์จากโฆษกแบงก์ชาติคนใหม่อีกมากมาย จับตากันให้ดีว่า ผู้หญิงเก่งคนนี้จะทำหน้าที่ได้ดีสักเพียงใด ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ผันผวนยิ่งกว่าที่เคยมีมา
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|