อาการของโลกาภิวัตน์

โดย สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

โลกในยุคปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในมุมไหน ย่อมหนีไม่พ้นกระแสของสิ่งที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ สภาพของความเป็นหนึ่งเดียวที่ถูกเชื่อมประสานเข้าด้วยกันของโลกในทุก ๆ ด้าน อันส่งผลให้หน่วยต่าง ๆ ของสังคมอันประกอบเข้ากันเป็นประเทศหนึ่ง ๆ จำเป็นต้องมีความละเอียด ถี่ถ้วนในการพินิจพิเคราะห์ถึงเหตุ และผลของเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้เท่าทันกับพลวัตของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดอย่างรวดเร็ว ในโลกที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นโลกใบเก่าที่มีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ อย่างเชื่องช้า แตกต่างกับในปัจจุบันที่ความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันกลับกลายเป็นเงื่อนไขปกติของโลกในยุคปัจจุบัน

เหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในเม็กซิโก กล่าวคือมาตรการการลดค่าเงินอย่างฮวบฮาบส่งผลต่อภาวะตลาดหุ้น ในละตินอเมริกา และลุกลามเข้ามาสู่ภาคพื้นเอเชีย ซึ่งระลอกความตื่นตระหนกทางเศรษฐกิจนี้ก่อให้เกิดผลเป็นโดมิโน (DOMINO) ต่อประเทศต่าง ๆ ในวงกว้างอย่างน่าพอใจ ซึ่งรูปความของสภาพความเชื่อมโยงระหว่างประเทศนี้มีให้เห็นอย่างชัดเจนจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกปัจจุบัน

ภาวะการเชื่อมโยงของส่วนต่าง ๆ ของโลกในสภาพที่พรมแดน ทางภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศถูกลดความหมายลง และกลับกลายเป็นเพียงเครื่องมือในการกำหนดขนาดของประเทศ หรือภาพของอาณาเขตที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น หลังจากที่เงื่อนไขทางการเมืองระหว่างประเทศถูกทำลายลง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกัน ความไม่ลงรอยกันทางด้านการเมืองหรือการทหาร อันมีผลให้สภาพของความเชื่อมประสานระหว่างประเทศถูกจำกัดอยู่แต่ในกลุ่มของประเทศที่มีอุดมการณ์เดียวกันเท่านั้น ภาวะของการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างประเทศในกลุ่มจะเป็นไปในลักษณะของการพึ่งพิงกัน กล่าวคือประเทศเล็ก ๆ ในค่ายเสรีนิยม ก็จะมีความสัมพันธ์ในเชิงของการอยู่ภายใต้ หรือการพึ่งพาอาศัยประเทศยักษ์ใหญ่ ที่เปรียบเสมือนหัวหน้าค่ายอย่างสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ประเทศทางฝั่งค่ายคอมมิวนิสต์ ก็จะมีความสัมพันธ์ในรูปแบบเดียวกันคือ ประเทศในค่ายต่างก็มีทหารพึ่งพิง และพึ่งพาประเทศยักษ์ใหญ่ของค่ายอันเป็นประเทศนำในการกำหนด หรือชี้นำทิศทางในการดำเนินนโยบายให้กับประเทศพันธมิตรในค่า ดังนั้นการติดต่อ ปฏิสัมพันธ์กันในรูปแบบของความร่วมมือที่มีขอบเขตเงื่อนไขนี้ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศดำเนินไปอย่างจำกัด

ตรงกันข้ามกับในระยะตั้งแต่หลังทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ที่เงื่อนไขเหล่านั้นได้ สิ้นสลายลงอันเป็นอิทธิพลจากการคลี่คลายทางการเมือง โดยมียักษ์ใหญ่ในค่ายคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียต ที่เปลี่ยนแปลงประเทศ และนำมาซึ่งนโยบายการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และนโยบายเปิดประเทศ ซึ่งเป็นเงื่อนไขความจำเป็นสำคัญที่กดดันให้ประเทศในค่ายเดียวกันต้องปรับตัวตามกล่าวคือ เกิดการปฏิรูปทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศบริวารด้วย และยิ่งไปกว่านั้นจากการเปิดประเทศของประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออก ก็เป็นอีกคลื่นของการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้การเชื่อมโยงระหว่างประเทศทั้งทางด้านการค้า และการลงทุนเด่นชัดมากยิ่งขึ้นและทำให้กระแสของโลกาภิวัตน์รุนแรงขึ้นด้วย

โลกได้เปลี่ยนแปลงจากสภาพของโลก อดีตที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตามทิศทางการ ชี้นำของยักษ์ใหญ่ของค่ายคอมมิวนิสต์อย่างรัสเซีย กับค่ายเสรีนิยมอย่างสหรัฐฯ มาสู่โลกที่ประกอบด้วยตัวจักรสำคัญ ๆ ใหม่ ๆ ที่มีบทบาทและกลายมาเป็นเงื่อนไขของความเปลี่ยนแปลง กล่าวคือกลายมาเป็นโลกแห่งหลายชั่วอำนาจ (MULTI POLARISM) แทนประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจกลายมาเป็นประเทศที่มีอิทธิพลอย่างที่ประเทศ ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายต้องหันมาให้ความสนใจ หรือพึ่งพาในทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นแหล่งของความเจริญแหล่งใหม่ที่มีผลประโยชน์อย่างมหาศาล ซึ่งประเทศที่มีศักยภาพอยู่แล้วสามารถหาประโยชน์ได้ ได้แก่ประเทศในเอเชียไม่ว่าจะเป็นจีน ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เป็นต้น

ซึ่งภาพของโลกแห่งโลกาภิวัตน์ที่มีการเชื่อมโยงระหว่างประเทศนี้ มิได้เป็นไปเพียงเฉพาะในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ยังแผ่ขยายรวมไปถึงในด้านบุคลากร นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว เรื่องของความคิด อิทธิพลทางวัฒนธรรม ก็เป็นอีกกระแสหนึ่ง หรือมีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในระดับโลก กล่าวคือเป็นสภาพที่มีการเชื่อมโยงในส่วนที่เป็นนามธรรม หรือสิ่งที่จับต้องไม่ได้เกิดขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาวะความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นนี้ยังถูกเร่งเร้าด้วยสิ่งที่เรียกว่าโลกที่ไร้พรมแดน กล่าวคือ สภาพการติดต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจเหล่านี้ มีความคล่องตัวมากขึ้น จากการกำจัดอุปกสรรคระหว่างประเทศทางด้านการค้า การลงทุน คือทั้งที่เป็นอุปสรรคที่เป็นภาษี (TARIFF BARRIER) หรืออุปสรรคที่มิใช่อัตราภาษี (NCO-TARIFF BARRIER) ดังจะเห็นได้ว่า ความก้าวหน้าของการเจรจาทางการค้าเพื่อการกำจัดอุปสรรคหรือพรมแดนทางเศรษฐกิจทั้งกรอบของแกตต์ หรือเอเปก กลายมาเป็นหนทางปฏิบัติที่นานาชาติเห็นพ้อง กล่าวคือ เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งในเชิงพหุภาคี และทวิภาคี หรือเป็นความร่วมมือในกลุ่มย่อย ๆ ในระดับอนุภูมิภาคต่าง ๆ ในอันที่จะร่วมกันขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ทางการค้า การลงทุน ยิ่งไปกว่านั้น ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการติดต่อสื่อสารในระยะ 15 ปีมานี้ ก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่เอื้ออำนวยให้การเชื่อมโยงระหว่างประเทศเป็นไปได้ง่ายเข้า

จากสภาพของโลกาภิวัตน์เช่นนี้เองที่เปิดโอกาสให้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ แสดงบทบาท ที่สำคัญในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ธุรกิจหนึ่ง ๆ จากในอดีตที่เคยเป็นใหญ่ภายในพื้นที่ประเทศหนึ่ง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงสู่การขยายอาณาจักรไปสู่ประเทศต่าง ๆ และธุรกิจที่ในอดีตมิสามารถละเมิดเข้ามาประกอบการในพื้นที่บางแห่งได้ ก็กลับสามารถเข้าไปมีบทบาททางเศรษฐกิจ นอกประเทศของตนได้เช่นเดียวกันของความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นไปในทางที่ดีหรือร้าย จาก จุดใดจุดหนึ่งของโลก ก็สามารถที่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างสู่ประเทศในจุดต่าง ๆ ของโลกได้

วิกฤตการณ์ที่เกิดจากภาวะความวุ่นวายทางเศรษฐกิจในเม็กซิโก ก็เป็นภาพฉายของผลของความเชื่อมโยงที่น่าสะพรึงกลัว กล่าวคือในภาวะปกตินั้น เงื่อนไขที่เป็นแรงกดภายนอก เป็นตัวที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ประเทศ เราอยู่ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมรับกับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างความแข็งแรงให้กับอุตสาหกรรมภายใน อันเป็นประโยชน์ยิ่งกับการพัฒนาประเทศ แต่ในขณะเดียวกันในบางภาวการณ์เงื่อนไขภายนอกก็กลายมาเป็นตัวแปรสำคัญ ซึ่งอยู่นอกเหนือ การควบคุม สามารถเข้ามามีอิทธิพลที่กระทบ หรือกระตุกให้คลื่นการพัฒนาชะงักงันได้ หรือในบางกรณีอาจมีผลลบต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ดังนั้น การพัฒนาประเทศในโลกยุคโลกาภิวัตน์นี้ จึงต้องอาศัยการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งอย่างแท้จริงในเชิงของการพัฒนาศักยภาพ เพื่อความอยู่รอดในระดับระหว่างประเทศ มิใช่เป็นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจให้ใหญ่โตแบบฟองสบู่ หรือมีภาพพจน์ของการเจริญเพียงแต่ตัวเลขเท่านั้น เนื่องจากเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงที่แท้จริงเท่านั้น ที่จะเป็นภูมิต้าน ทาน ต่อกระแสความผันผวนที่เกิดขึ้นจากภายนอก ที่มีพลวัตรุนแรงกว่าโลกในยุคทศวรรษที่ 1990


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.