|
สมุดโน๊ต
โดย
เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2538)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้บริหารจำนวนมากหลงไหลกับคำว่า “รีเอ็นจิเนียริ่ง” หนังสือและคำปาฐกถาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม
เหมือนกับว่าทุกคนจะตระหนักว่าสังคมธุรกิจไทยกำลังต้องการการ “ยกเครื่อง” ครั้งใหญ่
แต่ในความเป็นจริงมีองค์กรใดบ้างที่ “รีเอ็นจิเนียริ่ง” แท้จริง เป็นคำถามที่ผู้บริหาร หลาย ๆ คนเลี่ยงที่จะตอบ
ขณะที่รีเอ็นจิเนียริ่งเกิดขึ้นจากปัจจัยของการพัฒนาทางด้านอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยีที่ทะลวงเข้าสู่ศูนย์กลางของอำนาจในการจัดการและบริหาร
โดยตัวมันเองก็ต้องเผชิญกับแรงสกัดกั้นที่แข็งแกร่งและฝังรากในสังคมธุรกิจไทยมานาน
ประการแรก วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า รีเอ็นจิเนียริ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่รีเอ็นจิเนียริ่ง “นิสัย” ของผู้บริหารเป็นอันดับแรก เพื่อที่จะเปิดกว้างสู่โลกทัศน์และการรับรู้ใหม่
ประการที่สอง-ผู้บริหารจำนวนมากต่างตระหนักดีว่าการรีเอ็นจิเนียริ่งคือการรื้อปรับระบบองค์กรอย่างถึงราก พวกเขายินดีต้อนรับ แต่ในฐานะมืออาชีพเขาต้องเผชิญกับ “ระบบครอบครัว” ซึ่งอาจจะถึงภาวะที่สั่นคลอนเมื่อรีเอ็นจิเนียริ่ง
มีทางใดบ้างที่องค์กรที่ต้องการรีเอ็นจิเนียริ่ง แต่ไม่การแตะต้องกับ “ระบบครอบครัว” ซึ่งเหมือนผู้บริหารตัวจริงในบริษัทแห่งนั้น?
หากมีทางออก คำว่า “รีเอ็นจิเนียริ่ง” อาจแพร่หลายยิ่งกว่านี้ในสังคมไทย
“สวนสนุก” เติบโตขึ้นมากเมื่อมันถูกผนึกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
“สวนสนุก” ในความหมายเดิมที่ตั้งอยู่เพียงลำพัง มีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงอย่างชัดเจน ขณะที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มองว่า ธุรกิจนี้เป็นส่วนหนึ่งการสร้างอาณาจักรศูนย์การค้า
ด้วยความชาญฉลาดพวกเขาผสมผสานธุรกิจศูนย์การค้าและสวนสนุกได้อย่างแนบแน่น กลายเป็นส่วนที่เสริมซึ่งกันและกันอย่างแพร่หลาย และมีอัตราการขยายตัวที่น่าสนใจพอ ๆ กับงบประมาณที่ลงทุนไปในแต่ละที่
แต่ถึงแม้จะมีเครื่องเล่นใหญ่โต และเสียงอึกทึกเพียงใดก็ตาม ธุรกิจสวนสนุกในเมืองไทยก็ยังขาดปัจจัยที่สำคัญหลายประการไม่ใช่เงินทุน
ประการแรก- สวนสนุกเมืองไทยยังขาด “จินตนาการ” พวกเขาอาจลงทุนสร้างเมือง สร้างหุ่นมากมาย แต่ทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งเหล่านั้นขาดซึ่งชีวิตชีวา
จินตนาการในสวนสนุกเมืองไทยเป็นจินตนาการที่ขาด ๆ เกิน ๆ ไปปะติดปะต่อ เหมือนเรื่องราวที่ไม่มีที่มาที่ไป
พวกเราอาจนั่งรถไฟฟ้าผจญไปในอวกาศ แต่ไม่รู้สึกเหมือนเดินทางจริง สัมผัสเพียงแค่รถที่สั่นไปมาและวิ่งเร็ว ๆ
สวนสนุกเมืองไทยขาดการสร้างบรรยากาศที่เร้าใจ สร้างจินตนาการและอารมณ์ให้เกิดความตื่นเต้นที่จะร่วมสนุก
ประการที่สอง-บริการของพนักงานสวนสนุกเมืองไทยเป็นบริการที่ให้กันแบบ “เบื่อหน่าย” พวกเขาไม่ได้ถูกปลูกฝังให้เป็นส่วนหนึ่งของ “ความสนุก”
ขณะที่ผู้ที่เดินทางไปเที่ยวสวนสนุกในต่างประเทศ จะสัมผัสได้ทันทีว่า พนักงานทำงานด้วยความกระตือรือร้น สร้างบรรยากาศตั้งแต่ผู้เล่นเข้าคิว จนสิ้นสุดการเล่น
ชุมชนเทพประทานเป็นภาพสะท้อนอีกฉากหนึ่งของความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดโดยรัฐ
30 ปีที่ผ่านมาเป็นความสูญเปล่า ไม่ใช่เป็นความสูญเปล่าของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ความสูญเปล่าของเอกชน เช่นตระกูล “กาญจนพาสน์”
เมื่อพยายามแก้ไขปัญหา แต่ด้วยความที่ล่าช้าทำให้การคลี่คลายปัญหายุ่งยากและซับซ้อนขึ้นไปอีก
ขณะเดียวกันความชอบธรรมของชาวสลัมก็มีมากขึ้น พอ ๆ กับความเข้าใจในโลกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่แทรกซึมไปได้ทุกชนชั้น ตราบใดที่พวกเขามั่นใจในสิทธิ์ของพวกเขา
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กำลังเผชิญหน้าความภาพพจน์ที่ขัดแย้งที่เป็นทั้งภาพนักบุญและนายทุน ทั้งกรณีบึงพระรามและกรณีชุมชนเทพประทาน
สำนักงานทรัพย์สินฯ ที่กำลังค่อย ๆ เปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้เช่ามาเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่พยายามผสมผสานความขัดแย้งทุกอย่างให้ลงตัว จึงต้องลำบากใจทุกครั้งที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|