|
กสิกรไทยนำร่องขึ้นดอกกู้
ผู้จัดการรายวัน(1 กรกฎาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์กสิกรไทยสุดอั้นนำร่องปรับดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก 0.25% เพื่อสอดคล้องกับภาวะตลาดที่อยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น อีกทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ของแบงก์ต่ำกว่าระบบอยู่แล้ว เมื่อปรับขึ้นจึงอยู่ในระดับเดียวกับแบงก์ใหม่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.นี้เป็นต้นไป ด้านแบงก์กรุงศรีอยุธยายังยืนอัตราเดิมขอดูผลกระทบระยะหนึ่ง คาดแบงก์พาณิชย์อื่นๆ ขยับตาม
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ 0.25% ให้สอดคล้องกับภาวะตลาด โดยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้อยู่ในระดับเดียวกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งอื่น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีเอ็มแอลอาร์ (MLR) จาก 5.50% ปรับเป็น 5.75% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เบิกเกินบัญชี (MOR) จาก 5.75% ปรับขึ้นเป็น 6.0% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยชั้นดี (MRR) จาก 6.0% เป็น 6.25% ทั้งนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป
สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR, MOR และ MRR ของธนาคารอยู่ในระดับต่ำที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ มาตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2546 ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะตลาด ธนาคารจึงได้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้มาอยู่ในระดับเดียวกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งอื่น
"ที่ผ่านมาแบงก์กสิกรไทยนับเป็นผู้นำในการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดการเงินของไทยเพื่อส่งเสริมการใช้สินเชื่อมาโดยตลอด ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพคล่องและภาวะตลาด ที่มีแนวโน้มของดอกเบี้ยขาขึ้น"
นอกจากนี้ธนาคารได้พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 24 เดือน จาก 1.25% เป็น 1.75% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 36 เดือน จาก 1.50% เป็น 2.0% ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สินภายในธนาคารมีความเหมาะสม รวมทั้งให้มีอัตราที่สอดคล้องกับแนวโน้มภาวะตลาดการเงินในระยะยาว นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ฝากเงินในการเลือกฝากเงินในระยะยาว เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยยังมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่พอสมควร ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งระดมเงินฝากแต่ประการใด
สำหรับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ยังไม่มีการประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก โดยจะขอรอพิจารณาผลกระทบ ของการปรับดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ก่อน โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ณ วันที่ 30 พ.ค. เงินฝากออมทรัพย์อยู่ที่ระดับ 0.75% ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน อยู่ที่ระดับ 1% เงินฝากประจำ 6 เดือนและ 12 เดือนอยู่ที่ระดับ 1.25% เงินฝากประจำ 24 เดือนอยู่ที่ระดับ 1.75% เงินฝากประจำ 36 เดือนอยู่ที่ระดับ 2.25%
ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารยังไม่ได้มีการปรับขึ้นเลยตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2546 โดยดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มแอลอาร์อยู่ที่ระดับ 5.75% เงินกู้เอ็มโออาร์ อยู่ที่ระดับ 6% และดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มอาร์อาร์อยู่ที่ระดับ 6.25% ซึ่งการจะปรับดอกเบี้ยนั้น ธนาคารจะพิจารณาตามสภาพคล่องและการบริหารเงิน รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ด้วย
ก่อนหน้านี้บล.ทรีนีตี้ คาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในสิ้นปีอยู่ในระดับ 3.75-4% หลังจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลดลง ขณะเดียวกันคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย R/P 14 วัน ในทิศทางเดียวกัน โดยในเบื้องต้นประเมินว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2 ครั้ง ส่งผลให้สิ้นปีอัตราดอกเบี้ยน่าจะอยู่ในระดับ 3-3.25% จาก 2.5% ในปัจจุบัน
มองว่าอัตราดอกเบี้ยเฟดจะปรับขึ้นไม่รุนแรงเช่นที่ผ่านมา เพราะสหรัฐฯ มีปัจจัยลบค่อนข้างมากทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโตเท่าที่ควร โดยคาดว่าสิ้นปีจะมีการปรับขึ้นไม่เกิน 4% จาก 3% ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้แบงก์ชาติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดช่องว่างในระดับประมาณ 3.25%
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย R/P 14 วัน จะสะท้อนให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมองว่าธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดเล็กจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีสภาพคล่องในระดับสูง โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีเงินฝากล้นระบบถึงประมาณ 10% และยังคาดว่าจะทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับขึ้นก่อนอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|