"เกตส์" เจียด 200 ล้านช่วยไทย


ผู้จัดการรายวัน(1 กรกฎาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

รัฐบาลไทยเนื้อเต้น บิลล์ เกตส์โปรยยาหอม ทุ่มโปรเจกต์ดันไทยสู่สังคมดิจิตอล ชู 3 โครงการหลักภายใต้แนวคิด "Thailand Digital Inspiration" หนุน e-Learning ลดช่องว่างการศึกษา อัดเม็ดเงินร่วม 200 ล้านบาท บูรณาการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยสู่ตลาดโลก บิลล์ เกตส์ฟันธงซอฟต์แวร์จะเป็นส่วนสำคัญที่สุดในโลกดิจิตอลอนาคต ด้านทักษิณฝัน โครงการ "รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์" ไทยจะประสบความสำเร็จที่สุดในเอเชีย

นายบิลล์ เกตส์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชัน ได้เข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโอกาส เดินทางมาประเทศไทย โดยมีโอกาสร่วมหารือแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ในการหารือกันครั้งนี้ได้พูดถึงการบูรณาการเทคโนโลยีร่วมกัน รวมทั้งโครงการความร่วมมือกับรัฐบาลไทยใน 3 โครงการหลักภายใต้แนวคิด "Thailand Digital Inspiration" ซึ่งประกอบด้วย แนวทางพัฒนาโครงการ Thailand.net ที่มีการพัฒนาร่วมกันมาอย่างยาวนาน, โครงการ E-government และโครงการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด การสร้างเสริมระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศ รวมทั้งการบูรณาการด้านข้อมูลข่าวสารในภาครัฐเพื่อประโยชน์ของประชาชนไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นจุดสำคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ของประเทศไทยทั้งด้านไอซีที การศึกษา

ซึ่งทางประธานไมโครซอฟท์ยืนยันว่าจะสนับสนุนรัฐบาลไทยในประเด็นของการป้องกันและการบริหารการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ รวมทั้งส่งเสริมเรื่อง e-Learning ในขั้นพื้นฐานทั้งนี้เพื่อให้เป็นการลดช่องว่างต่างๆ และเพื่อเป็นการสร้างทักษะการทำงานของคนไทยทั้งภาครัฐและเอกชน

"เราเน้นในเรื่องของการพัฒนาและร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ส่วนเรื่อง E-Government ทางเขาทึ่งมากเพราะประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่จัดทำ ไม่มีประเทศไหนที่ทำได้เท่านี้และครบทุกอย่างทั้งด้านการบริหารและการจัดการ" นายสุวิทย์กล่าว

"ทักษิณ" ฝัน "รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ไทย"

พร้อมกันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการนำเสนอวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์แก่ผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 300 คน โดยมีนายบิลล์ เกตส์ และคณะผู้บริหารบริษัทไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชัน ร่วมรับฟังวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทย

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า การพัฒนาด้านเทคโนโลยีของไทยถือว่าอยู่ในช่วงของการย่างก้าวไปสู่การเปลี่ยนผ่านหรือการเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างเสมือนการเปลี่ยนจากตัวอ่อนเป็นผีเสื้อ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของไทยทั้งภาคสังคม ธุรกิจ การศึกษา ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะแรก เป็นเหมือนกับดักแด้แต่ในระยะต่อมาเราหวังที่จะเป็นผีเสื้อที่สวยงาม

"ประเทศไทยจะทำทุกอย่างเพื่อความเปลี่ยนแปลงโดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อที่จะแปลงทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดคือทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาโดยจะเร่งรัดให้มีคอมพิวเตอร์ทุกห้องเรียน และทุกตำบลของประเทศเชื่อมโยงเครือข่ายทางอินเทอร์เน็ตได้ภายใน 4 ปี ไม่เพียงแต่นักเรียนที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่บรรดาครูก็ต้องปรับปรุงเทคนิคการสอนใหม่เพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วย" พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว

ในส่วนของศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี หรือ PMOC และระบบการเงินการคลังภาครัฐสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่ถูกนำเสนอจากระดับผู้บริหารสู่ระดับปฏิบัติการ

ระบบ GFMIS เป็นความพยายามของภาครัฐเพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพสามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นช่วยลดทอนภัยคุกคามจากปัญหาคอร์รัปชันจะทำให้ไทยเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่มีระบบการบริหารจัดการและการคลังออนไลน์และด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าส่งผลให้รัฐสามารถดำเนินโครงการ GISMIS ได้โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือการนำระบบสารสนเทศเชิงภูมิศาสตร์เข้าสู่ระบบสารสนเทศภาครัฐเนื่องจากการเพิ่มข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้กระบวนการตัดสินใจมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้การเพิ่มมูลค่าให้กับภาครัฐโดยผ่านเทคโนโลยีคือภารกิจสำคัญของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการบริหารส่วนหน้าของรัฐบาล ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นในการสร้างรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นจริง

พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่ารัฐบาลตระหนักดีว่าต้องดำเนินการอีกหลายอย่างเพื่อให้ประชากรไทยเข้าถึงโลกออนไลน์และคอมพิวเตอร์เพื่อให้เป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐานแห่งองค์ความรู้และประชาชนสามารถเรียนรู้ได้ดังนั้นรัฐบาลต้องจัดให้มีห้องสมุดออนไลน์เครื่องคอมพิวเตอร์ราคาถูก รวมทั้งอินเทอร์เน็ตสาธารณะ ซึ่งตรงนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่

หนุนเว็บเซอร์วิส อนาคตโลกดิจิตอล

การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของเจ้าพ่อวงการไอที บิลล์ เกตส์ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์อันดับ 1 ของโลก ได้มีการร่วมมือกับรัฐบาลไทยใน 3 โครงการ มูลค่ากว่า 190 ล้านบาท ได้แก่ Thailand.Net, Partners in Learning-The Digital Phase และ Thailand Gateway โดยมีเป้าหมายเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย

โครงการ Thailand.Net มูลค่า 140 ล้านบาท ถือเป็นยุทธศาสตร์และความร่วมมือในระยะยาวระหว่างไมโครซอฟท์กับรัฐบาลไทยในการเปลี่ยนโฉมประเทศไทยให้เป็น "Global Web Services-Super Hub" โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ 1. พัฒนาทักษะ คือส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดด้านเว็บเซอร์วิส 2. พัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์ในประเทศ และ 3. พัฒนาเศรษฐกิจเป็นการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้และเพิ่มคุณค่าทางธุรกิจ

"ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเว็บเซอร์วิส ซึ่งบริการต่างๆ เหล่านั้นจะช่วยให้การส่งผ่านข้อมูลต่างๆ สามารถทำบนอุปกรณ์ประเภทใดก็ได้ อันจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อธุรกิจของไทยและเศรษฐกิจโดยรวม" บิลล์ เกตส์ กล่าว

Microsoft Developer Network (MSDN) 5 Star เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Thailand.Net เป็นการทดสอบออนไลน์ใน 5 ระดับสำหรับนักพัฒนาเพื่อผ่านการรับรองมาตรฐานในระดับสากล นักพัฒนาสามารถเลือกทดสอบได้ทุกเวลาที่ต้องการ ตัวเว็บไซต์จะออกแบบเป็นภาษาไทยและให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การอบรมด้านเว็บเซอร์วิสแก่นักพัฒนาจำนวน 69,000 คน ซึ่งทางไมโครซอฟท์ตั้งเป้าว่าจะมีนักพัฒนาจำนวน 2,600 คน ที่สามารถผ่านการรับรองมาตรฐานในระดับสากล โดยเว็บไซต์นี้จะเปิดให้ทดลองใช้งานเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2548

Partners in Learning-The Digital Phase เป็นโครงการมูลค่า 40 ล้านบาท ที่เกิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้พื้นฐานด้านไอทีของไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต

Thailand Gateway เป็นรูปแบบการดำเนินงานของ e-Government ซึ่งจะนำเอาแบบอย่างการดำเนินงานของ UK Gateway ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าดีที่สุดมาปรับใช้ โดยไมโครซอฟท์จะลงทุนในด้านของบุคลากรและการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีในระยะแรกคิดเป็นมูลค่า 4 ล้านบาทด้วย

ตลาดเว็บเซอร์วิสจะมีการขยายตัวมากกว่า 10 เท่า แตะระดับ 11,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปีพ.ศ. 2551 ตามปริมาณความต้องการที่เคลื่อนจากองค์กรขนาดใหญ่สู่กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและกลาง หรือเอสเอ็มบี

สำหรับวิสัยทัศน์ของ บิลล์ เกตส์ เกี่ยวกับอนาคตของซอฟต์แวร์ ในงานสัมมนา Thailand Digital Inspiration นั้น เกตส์มองว่า ดิจิตอลจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก ทั้งในด้านการเรียน การทำงาน และความบันเทิง คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์จะเปลี่ยนไปในทางที่เป็นโมบายและหลากหลายรูปแบบมากขึ้น มีขนาดเล็กและสามารถพกพาติดตัวไปได้สะดวก ที่สำคัญคือฮาร์ดแวร์เหล่านั้นสามารถสื่อสารถึงกันได้ ทำให้ผู้ใช้สามารถคุยกับคนอื่นๆ ได้จากทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ผลลัพธ์ก็คือการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูงขึ้น การทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และชีวิตสะดวกสบายขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากซึ่งซอฟต์แวร์ ซอฟต์แวร์จะเป็นตัวประสานสำคัญที่จะเชื่อมฮาร์ดแวร์ ระบบ และเทคโนโลยีต่างๆ เข้าด้วยกัน และนี่คือคอนเซ็ปต์ของ Web Service ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโลก .Net ของไมโครซอฟท์

"ซอฟต์แวร์จะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของโลกยุคดิจิตอลในอนาคต ซอฟต์แวร์จะมีความซับซ้อนน้อยลง สามารถบริหารจัดการคอนเทนต์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยเพิ่มโปรดักติวิตี้ และใช้งานได้อย่างสนุกมากขึ้น" เกตส์กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.