เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา BEIJING AGRICULTURAL UNIVERSITY ได้ประกาศมอบปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์
สาขาการเกษตร ให้กับนักธุรกิจไทยคนหนึ่ง คือ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของซีพี
มองผิวเผิน เป็นการมอบปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์แก่บุคคลธรรดาคนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยมองว่าเหมาะสมและสมควรที่จะได้รับ
แต่สำหรับ "ผู้จัดการ" เชื่อว่า การมอบปริญญากิตติมศักดิ์ครั้งนี้ ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนทีได้รับปริญญาครั้งนี้ชื่อ ธนินท์
เจียรวนนท์ คนโตแห่งค่ายซีพี ทั้งนี้เพราะธนินท์ เคยได้รับการกล่าวถึงมาก โดยเฉพาะนับตั้งแต่การขึ้นเป็นประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารเครือซีพีเมื่อปี
2532 อันเป็นยุคที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
และเริ่มมีการรุกคืบธุรกิจของค่ายซีพีเข้าสู่ประเทศจีนทั้งประเทศ นิตยสาร
FAR EASTERN ECONOMIST เคยกล่าวถึงธนินท์ทันทีที่รับตำแหน่งประธานในปี 2532 ด้วยการนำเรื่องของเขาขึ้นปกนิตยสารฉบับดังกล่าวพร้อมทั่งชี้อนาคตว่า ภายใต้การนำของธนินท์
ซีพีกำลังจะกลายเป็น "มิตซูบิชิแห่งตะวันออกเฉียงใต้" ไปในอนาคตซึ่งก็คือ
กลุ่มซีพี จะมีเครือข่ายในธุรกิจแทบจะทุกแขนงและกระจายอยู่ในแทบทุกประเทศในเอเซียตะวันอออกนั่นเอง
ไม่ว่า FAR EASTERN ฯ จะมองถูกหรือผิด แต่เป็นเรื่องที่ควรรับฟังมิใช่หรือ?
สำหรับกลุ่มธุรกิจของซีพีนั้น ธนินท์กล่าวว่า จะแบ่งอออกเป็น 8 สายงาน ได้แก่1)สายอุตสาหกรรมเกษตร
2)สายเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 3)สายเมล็ดพืชและเคมีเกษตร 4)สายการค้าระหว่างประเทศ
5)สายการค้าที่ดินและเคหะ 6)สายบริการย่อย 7)สายเปโตรเคมี 8)สายอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมยานยนต์
และจากการตรวจสอบของ "ผู้จัดการ" พบว่า สายธุรกิจท่กำลังโตเร็วมากๆ ของซีพี คือสายปิโตรเคมี และสายอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น เป็นธุรกิจที่ซีพีลงทุนแล้วในประเทศจีน (ดูตารางประกอบ)
"เรามาจากเมืองจีนและมาเจริญก้าวหน้าในไทย เมื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้ไทยก็ให้ช่วยกลับไปสร้างความเจริญให้จีนด้วย" ธนินท์
หรือชื่อเดิมว่า ก๊กมิ้น แซ่เจีย กล่าวถึงคำสั่งเสียของ เอ็กซอ แซ่เจีย ผู้เป็นบิดา อย่างไรก็ตาม คนในซีพีกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า
เป้าหมายธุรกิจของธนินท์ ในฐานะหัวเรือใหญ่ของซีพีนั้น ไม่ได้อยู่แค่ประเทศจีนเท่านั้น
หากแต่มองว่า ที่ไหนที่เหมาะสมซีพีก็จะไปที่นั่น
อย่างเช่น การไปลงทุนในธุรกิจนากุ้งที่อินโดนีเซีย เหมือนที่ครั้งหนึ่ง
ธนินท์เคยกล่าวไว้ว่า "ตลาดโลกนี้เป็นของเรา" นั่นเอง!!! อย่างไรก็ตาม
หลายคนยอมรับว่า
ความสำเร็จส่วนหนึ่งของซีพีหรือเจริญโภคภัณฑ์ มาจากการอาศัย CONNECTION
กับเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ในวงราชการที่พวกเขามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการรุกธุรกิจในไทยหรือต่างประเทศ
อย่างเช่น กรณีการได้รับสัมปทานโครงการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมายขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
(ทศท.) ที่ถือเป็น CASE STUDY ครั้งสำคัญของการเจรจาต่อรองในไทยทีเดียว
และคนในวงการธุรกิจก็เชื่อว่า ปริญญากิตติมศักดิ์ของธนินท์ครั้งนี้ ก็มาจากความสัมพันธ์ที่ดีของธนินท์กับผู้นำรัฐบาลจีน
ทั้งในระดับรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางนั่นเอง
ผู้รู้เรื่องดังกล่าวคนหนึ่งอรรถาธิบายว่า นอกเหนือจากความสัมพันธ์ที่ดีของธนินท์กับผู้ว่าราชการแทบทุกมลฑล (โดยเฉพาะมลฑลไหหลำ) แล้ว ธนินท์ยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำรัฐบาลกลาง ระดับรองประธานาธิบดี ที่ชื่อ เจี่ย เจ๋อ หมิน อดีตผู้ว่าการมณฑลเซี่ยงไฮ้
ซึ่งเติบโตทางการเมืองมาก โดยคุ้นเคยตั้งแต่รองประธานธิบดีคนดังกล่าว ยังเป็นผู้ว่าราชการมลฑลหนึ่งในประเทศจีน
ผู้รู้เรื่องดังกล่าว ยังได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของซีพีนอกเหนือจากที่มีอยู่ในจีนในขณะนี้ว่า
กลุ่มซีพีได้รับข้อเสนอจากรัฐบาลจีน ให้ดำเนินการสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในประเทศจีนจำนวน 200 แห่งทั่วประเทศ (ทราบมาว่าขณะนี้สามารถดำเนินการแล้วประมาณ 30แห่ง) และยังเป็นกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ที่สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านสิทธิพิเศษทางภาษีอากรด้วย ในรูปของการส่งเสริมการลงทุนคล้ายๆ กับบีโอไอในไทยนั่นเอง อย่างไรก็ตาม
มีการพูดถึงกันว่า
ธุรกิจที่ธนินท์ต้องการดำเนินการมากที่สุดในประเทศจีนในขณะนี้ก็คือ โรงกลั่นน้ำมัน
เพื่อที่จะซัพพอร์ตโครงการปิโตรเคมีของซีพี เนื่องจากประเทศจีนกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก "คุณธนินท์ต้องการที่จะทำให้ครบวงจร
เพราะปิโตรเคมี จำเป็นที่ต้องมีโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อป้อนวัตถุดิบให้กับโครงการ"
แม้ในชีวิตธนินท์จะได้รับปริญญากิตติมศักดิ์มาแล้วหลายใบ เช่น ปริญญาบัตรเทคโนโลยีการเกษตรดุษฎีกิตติมศักดิ์
สาขาบริหารธุรกิจการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เชียงใหม่
ปริญญาบัตรพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หรือกระทั่งปริญญาวิทยาศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิต สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยเกษตร
แต่ดูเหมือนว่า ยังไม่น่าจะต้องกล่าวถึง เท่ากับการได้รับปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเกษตรกรรมแห่งปักกิ่งครั้งนี้
เพราะการได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ครั้งนี้นอกเหนือจาก CONNECTION ที่ธนินท์มีกับผู้นำภาครัฐของจีนแล้ว ยังมีความหมายถึงการขยายตัวทางธุรกิจของซีพีในประเทศจีจอีกด้วย