เมื่อธนินท์ เจียรวนนท์ ต้องขี่หลังเสือ!

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

สิ่งที่สะท้อนความยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของซี.พี ก็คือ การมีเครือข่ายอาณาจักรที่ครอบคลุมไปเกือบทุกแขนงของธุรกิจที่มีอยู่ หากเปรียบเทียบกับนิยามของอัลวิน ทอล์ฟเลอร์ เจ้าตำรับคลื่นลูกที่สามแล้ว

ซี.พี. นับเป็นเจ้าของธุรกิจไม่กี่รายที่มีธุรกิจอยู่บนคลื่นธุรกิจทั้ง 3 ลูก ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี ธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นผู้หนึ่งที่มีความศรัทธาในเรื่องเทคโนโลยีอย่างมาก

ในธุรกิจเกษตรกรรมซึ่งเติบโตมาจากกิจการเลี้ยงไก่ ธนินท์ได้นำเอาเทคโนโลยีมาเป็นส่วนผสมในการสร้างธุรกิจนี้ให้เติบโตมาแล้ว ธนินท์นำพากลุ่มซี.พี. เข้าสู่ธุรกิจเทคโนโลยีเมื่อสิบปีที่แล้ว

ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจโทรคมนาคมยังถูกผูกขาดอยู่ภายใต้ 2 หน่วยงานรัฐ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) การเติบโตของกลุ่มชินวัตร

ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดทางธุรกิจด้วยการเข้าไปผูกกับขั้วอำนาจในองค์การโทรศัพท์ฯ คว้าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ ที่ปั่นเม็ดเงินมหาศาล นับเป็นโมเดลธุรกิจที่คลาสสิกที่สุดในยุคนั้น

เช่นเดียวกับบริษัทยูไนเต็ดคอมมูนิชั่น อินดัสตรีส์ จำกัด(ยูคอม) ที่คว้าสัมปทานโทรศัพท์มือถือจากค่ายกสท.ซี่งส่งผลให้ยูคอมก้าวจากบริษัทค้าอุปกรณ์โทรคมนาคมริมถนนราชเทวีเล็กๆ

กลายมาเป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมขนาดใหญ่ในเวลาเพียงไม่กี่ปี สำหรับซี.พี.กรุ๊ป ซึ่งมีทั้งพลังเงินทุนและเครือข่ายธุรกิจ โมเดลธุรกิจโทรคมนาคมของซี.พี.จึงไม่ได้เริ่มต้นแค่บริการเสริม

แต่ธนินท์ต้องการเข้าไปถึงแก่นกลางของการวางรากฐานระบบโทรคมนาคมที่จะเข้าถึงตัวลูกค้าในระดับ MASS นั่นคือที่มาของการเข้าสู่โครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย

ซึ่งต่อมาในสมัยรัฐบาลอานันท์ปันยารชุน โครงการนี้ถูกตัดเหลือแค่ 2 ล้านเลขหมายในกรุงเทพฯ และได้เพิ่มมาอีก 6 แสนเลขหมาย รวมเป็น 2.6 ล้านเลขหมายในปัจจุบัน

ตามสไตล์ของซี.พี.แล้ว เมื่อลงมือทำอะไรต้องทำให้ใหญ่และต้องครบวงจร การงลงทุนนำไฟเบอร์ออพติกหรือใยแก้วนำแสงมาสร้างเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน

แทนที่จะเป็นแค่สายทองแดงนับเป็นรูปธรรมสะท้อนความเป็นคนที่ไม่ได้มองอะไรแค่ชั้นเดียวของธนินท์อย่างดี ด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยียุคดิจิตอล ที่มีแถบความถี่กว้างมหาศาล

ทำให้มีสมรรถนะในการสื่อสารได้ทั้งข้อมูลภาพและเสียงในเวลาเดียวกัน และยังสามารถสื่อสารได้สองทาง (อินเตอร์แอคทีฟ)

สัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานภายใต้การดำเนินงานของบริษัทเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น (ทีเอ) จึงไม่ใช่แค่โทรศัพท์เท่านั้น

แต่ยังเป็นแหล่งที่มาของบริการเสริมที่เกิดจากความสามาถของโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกนี้ไม่ว่าจะเป็น บริการเคเบิลทีวี วีดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์ เทเลเมดดิซีน โฮมช้อปปิ้ง

และอื่นๆ ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นการปฏิวัติในชีวิตประจำวันของคนในอนาคต ความหมายของการเป็นเจ้าของสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐาน 2.6 ล้านเลขหมาย ของธนินท์

จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ที่มาของรายได้จากส่วนแบ่งจากค่าใช้โทรศัพท์ และการเป็นซัปพลายเออร์

อุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้งเครือข่ายเท่านั้น แต่เท่ากับว่าทีเอกำลังกลายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางด่วนข้อมูล ที่จะปฏิวัติโฉมหน้าใหม่บริการสื่อสารในทศวรรษหน้า

เมื่อสิบปีที่แล้วธนินท์เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาจะไม่ให้ลูกมาทำธุรกิจดั้งเดิมที่ทำอยู่แล้ว เพราะทำดีก็เสมอตัว ทำไม่ดีก็โดนด่า แต่ไม่ใช่สำหรับธุรกิจใหม่ ที่เป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยี

ที่ธนินท์เลือกสานฝันด้วยทายาท ศุภกิจ เจียรวนนท์ ทายาทคนรองเข้ามามีบทบาทในกิจการของทีเอ โดยเฉพาะการรับผิดชอบบริการพีซีทีซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญต่อการขยายของโทรศัพท์พื้นฐาน

ธุรกิจโทรคมนาคมจึงมีความหมายยิ่งไปกว่านั้น คือ ความเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลเจียรวนนท์ หลังคว้าโครงการโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย

ทีเอก็เร่งกวาดใบอนุญาตทำบริการเสริมจากโทรศัพท์สาธารณะเคเบิลทีวี บริการเอสพี คู่สายเช่าความเร็วสูง บริการเอชเอส ออดิโอ เท็กซ์ อินเตอร์เน็ต ภายใต้การลงทุนของเทเลคอม

โฮลดิ้ง(ทีเอช)ซึ่งทีเอเปิดขึ้นมาเพื่อลงทุนธุรกิจบริการเสริมทั้งบนบกฟ้าอากาศ รวมทั้งบริษัทลูกที่ตั้งขึ้นมารองรับร่วม 30 บริษัท เมื่อบวกกับความยิ่งใหญ่ของซี.พี.

ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้ามองเห็นอยู่เบื้องหน้าไม่ไกล แต่ไม่มีอะไรที่แน่นอน! ภาวะต่างๆ ดูจะไม่เป็นใจให้กับการออกจากจุดสตาร์ทของทีเอเท่าใดนัก ธุรกิจโทรคมนาคมในวันนี้

ไม่ใช่ยุคของการคว้าใบอนุญาตสัมปทานสื่อสาร และนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อหากำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ใช่แหล่งรายได้ชั้นดีของทุนสื่อสารอีกต่อไป

ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาวะของการลงทุนของทีเอ ซี่งบริการเสริมทั้งหลายก็อยู่ในช่วงตั้งไข่ ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก

ยังต้องใช้เงินเพื่อเร่งสร้างโทรศัพท์พื้นฐานให้ทันกำหนดที่ให้ไว้กับองค์การโทรศัพท์ฯ ยิ่งการมาของซี.พี.ในธุรกิจโทรศัพท์ทำให้เส้นแบ่งระหว่างโทรศัพท์พื้นฐาน (FIX LINE) และโทรศัพท์มือถือ (WIRLESS COMMUNICAION) ที่มีชินวัตรและยูคอมเป็นเจ้าของพื้นที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

ความหวั่นวิตกของชินวัตรและยูคอมเจ้าของอาณาจักรมือถือที่มีต่อการมาของทีเอ ทำให้เกิดการขยายตัวของโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แน่นอนย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อโทรศัพท์พื้นฐาน

บริการโทรคมนาคมในวันนี้ไม่ใช่ตลาดที่ถูกผูกขาดอยู่แค่องค์การโทรศัพท์ฯและการสื่อสารแห่งประเทศไทย สนามของโทรคมนาคมในวันนี้ล้วนเต็มไปด้วยผู้เล่นที่ถือใบอนุญาตสัมปทานมือถือ เพจเจอร์ อินเตอร์เน็ต ทรังค์เรดิโอ ฯลฯ ที่จะมาร่วมแชร์ส่วนแบ่งตลาด นับเป็นครั้งแรกที่โทรศัพท์พื้นฐานที่เคยต้องนั่งรอเป็นปีกลับต้องอาศัยกลยุทธ์การตลาดเข่ามาช่วยกระตุ้นยอดจอง

หลังจากส่งมอบโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย ในวันที่ 30 กันยายน 2539 ทีเอก็ต้องออกโปรโมชั่น ลดแลกแจกแถมออกมาเป็นระลอกเพื่อเพิ่มยอดจอง ที่มีอยู่ 1 ล้านกว่าเลขหมาย ในภาวะเช่นนี้

ทีเอจึงจำเป็นต้องอาศัยความอึด ความอดทน ผลตอบแทนอย่างอดทนมากกว่าปกติ! โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจที่ทรุดต่ำลงและค่าเงินบาทอ่อนตัวลงส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจโทรคมนาคม

ที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล และต้องซื้อเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศ ปรัชญาธุรกิจสื่อสารของธนินท์ คือ ทีเอไม่ใช่ผู้ผลิตดาวเทียม ไม่ใช่ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ แต่ทีเอคือผู้นำเงินไป "เลือก" ซื้อเทคโนโลยี

บริการเสริมโทรศัพท์พกพาพีซีที (PERSONAL COMMUNICATION TELEPHONE) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกเลือกซื้อหามาภายใต้ปรัชญานี้ ความสำคัญของพีซีที คือ

การเป็นเทคโนโลยีที่มีส่วนผสมระหว่างโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์มือถืออยู่ในตัว พีซีที เป็นเหมือนอาวุธชิ้นสำคัยที่ทีเอต้องการนำมาทดแทนความต้องการทั้งโทรศัพท์พื้นฐาน

และโทรศัพท์มือถือในเวลาเดียวกัน เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือ ได้ทั้งยอดจองโทรศัพท์พื้นฐานเพิ่มขึ้น

และได้ส่วนแบ่งตลาดจากผู้ใช้ที่ต้องการความสะดวกในการใช้โทรศัพท์ที่สามารถพกพาติดตัวไปได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของโทรศัพท์มือถือที่โทรศัพท์พื้นฐานไม่มี บริการพีซีที เป็นการนำเอาเทคโนโลยีของ PHS (PERSONAL HANDY PHONE) จากประเทศญี่ปุ่น คือเป็นระบบโทรศัพท์พกพา ที่ใช้ไมโครเซลล์ คือ เซลล์ขนาดเล็กที่มีกำลังส่งขนาด 10-500 มิลิวัตต์

เพื่อให้โทรศัพท์ลูกข่ายมีนาดเล็กใช้พลังงานต่ำ มาใช้เป็นบริการเสริมบนโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน 2.6 ล้านเลขหมาย จำทำให้ผู้ที่ใช้โทรศัพท์พื้นฐานสามารถพกพาไปใช้นอกสถานที่ได้

โดยใช้หมายเลขเดียวกัน และเมื่อใช้รวมกับโครงข่ายอัจฉริยะ (Advance Intelligent Network) ลูกข่ายพีซีทีจะใช้เลขหมายเดียวกับโทรศัพท์พื้นฐาน ตามแผนของทีเอจะต้องเปิดให้บริการพีซีทีในเฟสแรกภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2540 มีพื้นที่ครอบคลุมเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน1,500 ตารางกิโลเมตร รองรับรับผู้ใช้ประมาณ 7 แสนราย และในเฟส 2 จะขยายพื้นที่ที่เหลืออีก 2,700 ตารางกิโลเมตร ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล เสร็จในปี 2541 รองรับผู้ใช้รวมเป็น 1 ล้านคน ซึ่งฐานผู้ใช้พีซีทีจะเป็นลูกค้าของพีซีที และองค์การโทรศัพท์ฯ ศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวว่าทีเอคาดว่าจะมียอดจองพีซีทีประมาณ 1 แสนราย หากเป็นไปตามที่คาดหมายจะทำให้ทีเอมียอดการจองโทรศัพท์พื้นฐานเพิ่มขึ้น เพราะผู้ที่จะใช้บริการพีซีทีจะต้องใช้เบอร์ของทีเอ

นอกจากนี้ทีเอจะมีรายได้จากค่าเครื่องลูกข่ายซึ่งตกประมาณ 9,000 บาท ค่าบริการรายเดือนที่เก็บจากลูกค้าที่ต้องการใช้พีซีที 200 บาทต่อเดือน และค่าใช้บริการการจะเก็บเป็นแอร์ไทม์ 2 นาทีแรก 3 บาท และนาทีถัดไปนาทีละ 1.50 บาท และเสียค่าทางไกล 3.8 และ 12 บาท ตามระยะทาง ทีเอประมาณการไว้ว่าในแต่ละเดือนจะมีรายได้จากค่าบริการใช้พีซีทีประมาณ 500 บาทต่อเดือน

ซึ่งจะทำให้ทีเอมีรายได้เพิ่มขึ้นทันที 500 ล้านบาท ความยากลำบากของพีซีที คือ การเป็นเทคโนโลยีที่นำเอาระบบพีเอชเอสมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับการใช้งานในเมืองไทย พีซีที จึงเป็นการลองผิดลองถูกครั้งสำคัญของทีเอ ! เพราะระบบพีเอชเอส ถูกพัฒนาขึ้นมาจากประเทศญี่ปุ่นจึงถูกออกแบบให้เหมาะสมกับวิถึวีวิตของคนในยี่ปุ่นซึ่งมักเดินทางด้วยเท้า

แต่คนไทยส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตบนรถประจำทางหรือรถยนต์ จึงต้องมีการปรับปรุงระบบเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบให้สามารถใช้งานในขณะเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในกรณีของตัวสถานีฐานที่ใช้รับส่งสัญญาณของพีซีที

หากเป็นระบบพีเอชเอสที่ญี่ปุ่นจะมีกำลังส่งให้เพิ่มขึ้นเป็น 200 มิลลิวัตต์ เพื่อให้มีความแรงในการส่งสัญญาณไม่ขาดหายในขณะที่เคลื่อนที่ "ตัวระบบของพีซีทีซึ่งใช้ความถี่ในการส่งสัญญาณต่ำ เพื่อให้มีลูกข่ายขนาดเล็ก ในทางกลับกันก็ต้องติดตั้งสถานีลูกข่าย (Cell Station) จำนวนมาก เพื่อให้สัญญาณครอบคลุมได้มากที่สุดทั้งในและนอกอาคาร ซึ่งเป็นเงินลงทุนที่สูงมาก"

คนในวงการโทรคมนาคมสะท้อน ก่อนหน้าการแจกเครื่องลูกข่ายพีซีทีให้กับลูกค้าที่จองไว้ 1 แสนเครื่องเพียงวันเดียว ทีเอต้องออกมาระงับการจองเครื่องลูกข่ายพีซีที และประกาศเลื่อนเปิดให้บริการไปเป็นต้นปีหน้า ทีเอชี้แจงต่อสาธารณชนว่าเป็นเพราะอุปกรณ์สถานีลูกข่าย (Cell Station) ของเอ็นอีซี ซึ่งเป็น 1 ซัปพลายเออร์หลัก

ที่นำมาติดตั้งมีปัญหามีน้ำซึมเข้าไปเนื่องจากเมืองไทยฝนตกชุก ทำให้เกิดไอน้ำและความชื้นจนทำให้อุปกรณ์เกิดชำรุดเสียหาย ความหมายที่แท้จริงก็คือ

ระบบยังไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะเปิดใช้งานได้เพราะนอกจากปัญหาเรื่องน้ำฝนแล้วพีซีทีก้ยังมีปัญหาสถานีฐานของเอ็นอีซีที่นำมาติดตั้ง มีกำลังส่งเพียงแค่ 20 มิลลิวัตต์ ซึ่งใช้ได้ดีในญี่ปุ่น

แต่สำหรับเมืองไทยต้องการออกแบบให้เคลื่อนที่ได้ในความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นจะต้องเปลี่ยนให้เป็น 200 มิลลิวัตต์ "ผลกระทบในด้านรายได้ของทีเอก็คือ รายได้ที่มาจากบริการพีซีทีที่คาดว่าจะเข้ามาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คงจะต้องถูกเลื่อนออกไปอีกจนถึงปีหน้า" ศุภชัย ชี้แจง ต้นทุนในการดำเนินงานของพีซีทีเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

เมื่อจำนวนสถานีฐานที่คาดว่าจะติดตั้งเพียงแค่ 2 หมื่นเครื่อง ต้องเพิ่มขึ้นอีก 7,000 เครื่อง เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ เมื่อบวกกับค่าเงินบาทลอยตัว ทีเอต้องถมเงินลงทุนไปในโครงการเพิ่มขึ้นจาก 6,286 ล้านบาท เป็น 16,000 ล้านบาท "ตอนแรกเราคาดว่าจะใช้แค่ 6 พันล้านบาท แต่เอาเข้าจริงแล้วมันไม่ได้เมื่อบวกกับค่าเงินบาทอ่อนตัว ต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที 40% ดังนั้นเราต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีกมาก" แหล่งข่าวในบริษัททีเอเล่า ดร.วัลลภ วิมลวณิชย์ กรรมการทีเอกล่าวว่า ทีเอได้ทำสัญญาซื้อขาย MINIMUM CONTRACT PRICE กับซัปพยายเออร์เอาไว้ คือ

ทีเอจะจ่ายเงินค่าระบบไม่เกิน 16,000 ล้านบาท ไม่ว่าระบบจะต้องขยายเครือข่ายเพิ่มเติมอีกหรือไม่ก็ตาม ภาระของพีซีที คือ กำหนดชำระหนี้ให้กับซัปพยายเออร์ ก็คือหลังจากเปิดให้บริการ ทีเอจะต้องจ่าย 10% ของมูลค่าการติดตั้ง คือ 1,600 ล้านบาท และจะต้องชำระส่วนที่เหลือ 14,400 ล้านบาท ถัดจากนี้ไปอีก 540 วัน (ปีครึ่ง)

ปัญหาการเลื่อนเปิดให้บริการพีซีทีที่เกิดจากปัญหาของระบบ ไม่เพียงแต่ส่งผลในด้านของผลการดำเนินงานเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดในการตัดสินใจ

แม้แรงบันดาลใจของผู้บริหารของทีเอยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม แต่ในภาวะที่ไม่เป็นใจเช่นนี้ ธนินท์คงต้องหันมาทบทวนบทบาทของทีเอใหม่อีกครั้ง ยูทีวี เคเบิลทีวี

เป็นบริการเสริมบนเครือข่ายไฟเบอร์ออพติกชิ้นแรกที่ธนินท์ที่นำเสนอสู่ตลาด และจัดเป็นธุรกิจขายอาหารสมองที่ธนินท์ตั้งความหวังไว้อย่างมาก ความโดดเด่นของยูทีวีในช่วงแรกของการออกสู่ตลาด คือ การเป็นเคเบิลทีวีที่ส่งมาตามสายโทรศัพท์ขนานแท้ ไม่ใช่เคเบิลทีวีผ่านระบบไมโครเวฟ สัญญาณของภาพจึงชัดเจน และไม่ต้องเจอปัญหาการลักลอบดู

และด้วยประสิทธิภาพขอวไฟเบอร์ออพตกยูทีวีสามารถนำบริการเลือกดูหนังเรื่องใดได้ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดหรือแม้แต่วีดีโอออนดีมานด์

ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่เพิ่มความสะดวกในชีวิตประจำวัน เพียงแค่สั่งซื้อหนัง หรือ สินค้าและบริการผ่านหน้าจอทีวี การมาของยูทีวี จึงเป็นการจุดพลุของบริการเคเบิลทีวี

และยังเป็นการท้าทายเจ้าเก่าอย่างไอบีซีของกลุ่มชินวัตร การดิ้นรนของไอบีซีจึงเกิดขึ้นมาเป็นระลอกแล้วระลอกเล่า ทั้งการหาพันธมิตรและในด้านของซอฟต์แวร์รายการ

ในระหว่างที่ไอบีซียังต้องวุ่นอยู่กับปัญหาเรื่องเสาเถื่อน ยูทีวีก็อาศัยความโดดเด่นในเรื่องเทคโนโลยี และการตลาดกวาดยอดสมาชิกแซงหน้าไอบีซีไปได้ แต่ไม่ใช่ชัยชนะที่ถาวรของยูทีวี

เมื่อไอบีซีเริ่มตั้งตัวติดและไปคว้าเอาพันธมิตร UIH 1 ใน 3 ยักษ์ใหญ่ด้านเคเบิลทีวีของโลกมา ในสมรภูมิการสู้รบของธุรกิจเคเบิลทีวี

ไม่เหมือนกับธุรกิจอื่นๆที่เมื่อลงทุนถึงจุดหนึ่งก็สามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ในเร็ววัน แต่สำหรับเคเบิลทีวีแล้ว ยิ่งการแข่งขันมากขึ้นก็ยิ่งมีต้นทุนที่สูงขึ้น

โดยเฉพาะในเรื่องของซอฟต์แวร์รายการอันเป็นหัวใจของธุรกิจเคเบิลทีวี และรายการซอฟต์แวร์เหล่านี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงยากจะควบคุมในเรื่องราคา ตัวเลขขาดทุนของไดบีซี

และยูทีวีเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงสภาพธุรกิจเคเบิลทีวีเป็นอย่างดี "ธุรกิจเคเบิลทีวีมันเหมือนกับการขี่หลังเสือ" คำกล่าวของ สมพันธ์ จารุมิลินทท์ กรรมการผู้จัดการบริษัทยูทีวี เคเบิลทีวี

สั้นๆ แต่ได้ใจความ ไม่เพียงแต่ยูทีวีใช้เงินลงทุนไปจำนวนมาก ทั้งในเรื่องของซอฟแวร์รายการ ที่ต้องทุ่มซื้อมาเพื่อต่อกรกับไดบีซีเท่านั้น

ความน่าตื่นตาตื่นใจของเทคโนโลยีเปย์เปอร์วิวก็ไม่ได้ตอบรับจากลูกค้าเท่าที่ควร รายได้ส่วนหนึ่งที่คาดว่าจะมาจากบริการพิเศษเหล่านี้จึงไม่ได้ตามเป้าหมาย สิ่งที่ยูทีวีพบก็คือ

จุดคุ้มทุนของยูทีวีก็ยิ่งห่างไกลออกไปเรื่อยๆ ภายใต้สมรภูมิรบที่เห็นอยู่เพียงภายนอกก็คือการเปิดโต๊ะเจรจาเพื่อรวมธุรกิจระหว่างไอบีซีและยูทีวี อันที่จริงแล้วธนินท์ก็อาจไม่ต้องรีบร้อนตัดสินใจ

หากไม่เป็นเพราะผลพวกจากภาวะเศรษฐกิจ และค่าเงินบาทลอยตัว ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนซอฟต์แวร์รายการ ที่เพิ่มขึ้นมาทันทีอีก 40 % และทำให้ธนินท์ต้องหันมาทบทวนการลงทุน

ในภาวะเช่นนี้ทางเลือกของธนินท์ก็มีไม่มากนัก 9 ตุลาคม 2540 เป็นวันที่ไดบีซี และยูทีวีลงนามบันทึกความเข้าใจ ในการร่วมมือกันดำเนินธุรกิจเคเบิลทีวีหลังจากการเจรจากันมานานนับปี

ซึ่งผู้บริหารทั้งสองค่ายก็ไม่คิดว่าการตกลงร่วมมือกันจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ภายใต้สัญญาฉบับนี้ เท่ากับว่านับจากนี้สงครามการแย่งชิงสมาชิกจะยุติลง การลงทุนเพื่อทุ่มซื้อซอฟต์แวร์ รายการก็จะหมดลง เปลี่ยนมาเป็นการแชร์ค่าใช้จ่ายร่วมกัน และแย่งสรรกันทำตลาดตามศักยภาพของแต่ละคน การผนึกธุรกิจร่วมกันระหว่างไอบีซี และยูทีวีจึงเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีถอยไป 3 ก้าว เพื่อความอยู่รอด ปรัชญาทางธุรกิจของธนินท์ที่ว่ากิจการใดทำไม่สำเร็จหรือไม่ทำกำไรก็ต้องถอยออกมา หรือหาผู้ร่วมทุนหรือหาทางรวมกิจการ (merge) ยังใช้ได้ดีอยู่ทุกสมัย

ดูเหมือนว่าโชคจะไม่เข้าข้างทีเอเท่าใดนัก เพราะไม่เพียงแค่ปัญหาของตัวเองเท่านั้น แต่ยังต้องเจอกับภาวะแวดล้อมภายนอกสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลกระทบต่อบรรดาทุนสื่อสารโดยตรง ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องน้ำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศทั้งสิ้น ผลการดำเนินงานโดยรวมในไตรมาส 3 ของปี 2540

ทีเอขาดทุนสุทธิจำนวน 971 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วจำนวน 85 ล้านบาท โดยการขาดทุนส่วนใหญ่มาจากผลประกอบการของโครงการโทรศัพท์ 2.6 ล้านเลขหมาย

ขณะเดียวกันทีเอต้องเจอกับผลขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน 10,914.9 ล้านบาท เป็นในส่วนของทีเอ 8,814.4 ล้านบาท และบริษัทย่อย 2,100.5 ล้านบาท

ซึ่งจะตัดจ่ายตามอายุของหนี้เป็นเวลา 10 ปี "ตอนแรกผู้บริหารของซี.พี.ก็คาดการณ์ไว้ก่อนแล้วว่า ธุรกิจโทรคมนาคมเป็น LONGTERM PROJECT ที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะคืนทุน

แต่คุณธนินท์เองไม่ได้คาดคิดว่า จะเจอกับเหตุการณ์ภาวะของเศรษฐกิจเช่นนี้และดีมานด์ของตลาดมันก็ไม่ได้มากอย่างที่คิดไว้"แหล่งข่าวในทีเอกล่าว

เป้าหมายเวลานี้ของทีเอไม่ใช่การสร้างแสนยานุภาพทางเครือข่ายอีกต่อไป แต่เป็นความอยู่รอดในภาวะที่เศรษฐกิจไม่เป็นใจเช่นนี้ จากนายทุนกระเป๋าหนัก

ทีเอก็ต้องหันมาเล่นบทนักขายกิจการเพราะในภาวะเช่นนี้ เงินสดคือสิ่งที่จำเป็นที่สุด บริษัทซีนีเพล็กซ์ และไลนส์เซอร์วิส 2 ใน 30 บริษัทในเครือเทเลคอมโฮลดิ้ง ที่ทีเอขายออกไปทำกำไร 499.2 ล้านบาท เป็นเม็ดเงินสดเข้ามาใช้ ตามมาด้วยการขายหุ้นในบริษัทเจียไต๋ อินเตอร์เนชั่นแนล เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่ลงทุนในบริษัท APT Satellite ทำโครงการดาวเทียมแอปสตาร์ในเมืองจีน หนึ่งในโครงการสยายปีกบนน่านฟ้า เพื่อนำเงิน 2,700 ล้านบาท เข้ากระเป็ามาใช้ในยามจำเป็น "เราจำเปนต้องขายออกไปเพราะหากเป็นภาระในการลงทุนระยะยาว และผลตอบแทนที่ได้มา เป็นอคกประมาณ 3 ปีขึ้นไป เราก็ยังไม่น่าที่จะไปลงทุน" ดร.วัลลภ กล่าวถึงสิ่งที่ทีเอต้องทำเมื่อขายหุ้น บริษัท เจียไต๋ฯ ออกไป แต่จากบทเรียนที่ผ่านมา ธนินท์รู้ดีว่าการลงทุนหมดหน้าตัก

หากต้องใช้เวลานานเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนักสำหรับปรัชญาการทำธุรกิจของซีพี ทีเอจึงต้องเลือกมากขึ้น บริการพีซีที และบริการของเอเซียมัลติมีเดีย

เป็นเพียงสองโครงการในเวลานี้ที่ทีเอตัดสินใจดำเนินการต่อ "จริงๆแล้วทีเอแทบไม่มีทางเลือก เพราะเราลงทุนพีซีที และเครือข่ายไฟเบอร์ออพติกมาขนาดนี้แล้ว มีอย่างเดียวเลย หากไม่ทำต่อ ก็เลิกไปเลย" แหล่งข่าวในทีเอกล่าว ทางแก้ปัญหาของทีเอ คือ แยกบริการเสริมพีซีทีออกจากทีเอ จัดตั้งเป็นบริษัทเอเซียไวร์เลส คอมมูนิเคชั่น (AWC) และหาพันธมิตรเข้ามาซื้อหุ้น

วิธีนี้จะช่วยแห่งเบาภาระในเรื่องเงินลงทุน ไม่เป็นภาระหนักในเรื่องเงินลงทุนกับทีเอ และยังมีเงินสดจากการขายหุ้นจากพันธมิตรมาใช้ในโครงการ และหากทีเอโชคดีได้พันธมิตรที่มีประสบการณ์จะมาช่วยในเรื่องเทคโนโลยีและการทำตลาดของพีซีทีได้ ส่วนบริษัทเอเซียมัลติมีเดีย (AM) ให้บริการโครงข่าย Hybrid Fiber-Optic Coaxial

เครือข่ายทางด่วนข้อมูลชิ้นสำคัญที่ใช้ลำเลียงบริการเสริมในรูปแบบต่างๆของในอนาคต ไม่ว่าจะบริการอินเตอร์เน็ต โฮมช้อปปิ้ง วีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เทเลเมดดีซีน ปัจจุบันโครงข่ายของ AM มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 750,000 ครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และอีกประมาณ 54,000 ครัวเรือนใน 4 จังหวัดใหญ่ๆ แต่หลังจากเจอพิษค่าเงินบาททีเอก็ลดการลงทุนจาก 20,000 ล้านบาท เหลือ 14,000 ล้านบาท โดยเน้นวางเครือข่ายเพิ่มเติมเฉพาะในส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดหลักๆเพื่อให้องค์การโทรศัพท์ฯเช่าสำหรับให้ทีเอเช่าช่วงต่อเครือข่าย AM ยังมีไว้สำหรับให้ยูทีวีเช่าโครงข่ายสำหรับการให้บริการเคเบิลทีวี แล้วการขยายงานในปีหน้าของ AM จะสามารถให้บริการเช่าโครงข่ายแก่ทีเอ บริษัท เอเชีย อินโฟเน็ต จำกัด

ซี่งเป็นบริษัทในเครือที่ให้บริการอินเตอร์เน็ต การลงทุนของ AM ก็เหมือนกับการลงทุนของพีซีที ที่ทีเอต้องคลักกระเป๋าอย่างหนัก จึงต้องการหาหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ (STRATIGIC PARTNER) มาร่วมหุ้น

เพื่อแบ่งเบาภาระการลงทุนเช่นเดียวกับในกรณีของพีซีที ในยามนี้แม้ว่าแรงบันดาลใจของธนินท์ยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม แต่ธนินท์ก็เริ่มเรียนรู้แล้วว่า ธุรกิจเทคโนโลยีไม่เหมือนธุรกิจค้าไก่ หรือเกษตรกรรม แต่เป็นหลังเสือที่แม้อยากลงก็ทำไม่ได้ง่ายๆ ธุรกิจโทรคมนาคม จึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดของซี.พี.กรุ๊ปในยามที่ได้รับผลกระทบจากภาวะค่าเงินบาทอย่างหนัก

การเลือกคงกิจการใดไว้เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของธนินท์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.