ช่วยด้วย!! ที่นี่ขาดแคลนขยะ


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ปัญหาปวดขมองของเมืองเบียร์ตอนนี้เห็นทีจะหนีไม่พ้นการขาดแคลนขยะเพราะหลังจากมีการคาดการณ์กันมาหลายทศวรรษว่าไม่ช้าไม่นาน ขยะจะกองท่วมหัวท่วมหูคนเยอรมัน แต่มาถึงวันนี้ปรากฎว่ารัฐบาลต้องอิมพอร์ตขยะจากแดนไกลถึงบราซิล เนื่องจากโรงงานแปรรูปขยะที่ตั้งขึ้นทั่วประเทศเกิดอาการตกงานกันเป็นแถว ขณะที่โครงการถมที่ดินที่วางเอาไว้ก็ต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนีเมื่อไม่นานมานี้พบว่า ปริมาณขยะในประเทศลดจำนวนลงจนน่าตกใจ โดยในไตรมาสแรกของทศวรรษนี้ ขยะจากทุกแหล่งลดลง 16%

เหลือเพียง 252 ล้านตัน ขยะตามบ้านที่เคยมีถึง 43.3 ล้านตันตอนนี้เหลือแค่ครึ่งเท่านั้น

อย่างนี้ต้องเรียกว่า ฝันหวานของนักนิเวศวิทยากลายมาเป็นฝันสยองของเศรษฐศาสตร์ระดับจุลภาค นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 มีการโหมโปรโมตแคมเปญเรียกร้องให้ชาวเยอรมันลดแยกประเภทและรีไซเคิลขยะ ชนิดที่ว่าไม่มีการหยุดพักโฆษณากันเลย ขณะเดียวกัน ทางภาคอุตสาหกรรมก็ริเริ่มแยกประเภทขยะต่างๆออกจากกันและกัน พลาสติก กระดาษ เศษแก้วและวัตถุออกมารีไซเคิล

ขยะที่ไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้อีกถูกนำไปจำกัดในเตาหลอมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความร้อนที่ได้ถูกนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าอีกทอด ผลลัพธ์ก็คือ ขยะทั้งจากครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมกลายเป็นที่ต้องการอย่างหนัก จนเมื่อถึงจุดหนึ่งก็เกิดสภาพขาดแคลนขยะขึ้นมา ส่งผลให้ต้นทุนของขยะถีบตัวสูงขึ้นทันที

ประเทศเพื่อนบ้านของเยอรมนีที่มีจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมแรงกล้าล้วนแล้วแต่ประสบปัญหานี้กันทั้งนั้น แต่ไม่มีประเทศไหนที่ขาดแคลนขยะรุนแรงเท่าเมืองเบียร์ ถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นปัญหาระดับชาติก็ไม่ผิด เพราะเมื่อไม่นานมานี้ สภาเมืองดุสเซลดอร์ฟได้สั่งให้โรงงานกระดาษในท้องถิ่นหยุดส่งกากการผลิตไปให้โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในเบลเยียม (เพื่อแลกกับเงิน 162 ดอลลาร์ต่อ 1 ตัน) เป็นการชั่วคราว แต่ว่าให้ขนมาให้โรงงานรีไซเคิลขยะของเมืองแทน (เสนอราคาน่าสนใจกว่าคือตันละ 324 ดอลลาร์

ร้อนถึงบริษัทปูนเบลเยียมต้องวิ่งเต้นขอความยุติธรรมจากสหภาพยุโรป (อียู) โดยฟ้องว่าการกระทำของดุสเซลดอร์ฟเป็นการละเมิดกฎตลาดเดียวของอียู ซึ่งจนถึงวันนี้ คดีดังกล่าวยังคงอยู่ในดุลพินิจของศาล

ขณะเดียวกัน วิกฤติการณ์ขาดแคลนขยะก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นในเมืองเบียร์ ส่วนหนึ่งนั้นมาจากโรคกลัวขยะในทศวรรษที่แล้วที่ส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นเร่งมือสร้างโรงงานกำจัดขยะขึ้นมา แต่วันนี้เมื่อเทบจะไม่มีขยะให้กำจัด รัฐบาลจึงเหมือนถูกกดดันให้ทำทุกวิถีทางเพื่อให้โรงงานขยะยังเดินเครื่องอยู่ได้ ค่าที่เอาเงินภาษีของประชาชนไปทุ่มให้โรงงานที่ว่าไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่นโรงงานขยะที่ใช้เทคโนโลยีนำสมัยตลอดกาลในออกซ์เบิร์กนั้นทุ่มทุนสร้างกันถึง 520 ล้านดอลลาร์ ว่ากันว่าขณะนี้รัฐบาลเยอรมนีต้องกันเงินภาษีไปสร้างและจ่ายค่าต้นทุนตายตัวของโรงงานขยะทั่วประเทศเพิ่มขึ้นถึง 84%

จนแม้แต่รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของรัฐนอร์ธ ไรน์เวสต์ฟาเลีย ยังออกปากว่า “ตลาดขยะสับสนอลหม่านเหลือเกินแล้วตอนนี้”

ไม่รู้เหมือนกันว่า ถ้ารัฐบาลเยอรมนีมาเห็นสภาพขยะล้นเมืองในบ้านเราจะหัวเราะหรือร้องไห้กันแน่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.