อุตฯ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ต้องให้ R&D นำ


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

เพราะบทเรียนจากอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยที่ตอกย้ำสัจธรรม “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” ได้ชัดเจน จึงทำให้อุตสาหกรรมหลายประเภทที่เป็น “ดาวรุ่ง” อยู่ในขณะนี้ หวั่นใจว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยกลายเป็น “ดาวร่วง” ได้ในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกลนี้ เช่นเดียวกับที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเคยเผชิญมาแล้ว การตื่นตัวเพื่อหาแนวทางป้องกันเพื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตจึงมีให้เห็นอยู่บ่อยๆ

ผู้เกี่ยวข้องในแวดวงอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ก็เช่นกัน ไม่ได้นิ่งนอนใจกับภาวะ “ดาวรุ่ง” ของอุตสาหกรรมในปัจจุบัน แต่พยายามเมียงมองหาแนวทางรับมือความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น โดยเมื่อเร็วๆนี้ได้ระดมความคิดจากตัวแทนทั้งภาครัฐและเอกชนผ่านการสัมมนา “ศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย” งานนี้มีบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักและได้รับความสนอกสนใจจากผู้เข้าฟังหลายร้อยคน ทั้งบริษัทผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐบาลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนักวิเคราะห์วิจัยจากสถาบันการเงินต่างๆ

การสัมมนาแบ่งออกเป็น 3 ช่วงจากวิทยากร 3 คนซึ่งมีผลสรุปตรงกันว่าเห็นทีอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ว่าสดใสอาจจะสดใสไม่จริงเสียแล้วในอีก 5-10 ปีข้างหน้าเพราะความอ่อนด้อยของการพัฒนางานด้านวิจัยและพัฒนาของไทย

ช่วงที่ดึงความสนใจผู้ฟังได้มากที่สุดเป็นช่วงของ สมพงศ์ นครศรี ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนของภาคเอกชน เพราะนอกจากจะย้ำว่าสิ่งที่จะทำให้อุตสาหกรรมในประเทศมีขีดความสามารถแข่งขันเพิ่มขึ้นก็คือการพัฒนางานวิจัยและพัฒนาซึ่งต้องมีการทำกันอย่างจริงจังแล้ว เขายังอัดภาครัฐบาลเข้าไปเต็มๆ ว่าไม่มีนโยบายชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง เห็นได้จากปัญหาเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานซึ่งจะเป็นตัวเอื้อให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นและโครงสร้างทางภาษีศุลกากร

“ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมใดเป็นพิเศษ อาจจะมีบ้างเป็นช่วงๆแต่ปีไหนที่ปิดหีบไม่ลงก็จะเพิ่มภาษี” ฉะนั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ที่ผ่านมาจึงเป็นการริเริ่มของฝ่ายเอกชนทั้งสิ้น

ขณะที่ประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทยอย่างมาเลเซียมีการพัฒนางานด้านนี้ล้ำหน้ากว่าไทย สาเหตุก็เพราะว่ารัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้เริ่มต้นและผลักดันอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะในเรื่องภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่มีการปรับลดจนอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก ทำให้ผู้ผลิตในประเทศมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะแข่งขันกับสินค้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ

“แต่ภาษีนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปของเราต่ำกว่าอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งทำให้ผู้ผลิตในประเทศแข่งขันไม่ได้ เพราะสินค้านำเข้ามีราคาถูกกว่า”

แน่นอนว่าภาระเรื่องภาษียังเป็นปัญหาที่ยังคงต้องฝากเป็นการบ้านให้กับรัฐบาลใหม่ “ผมทำเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วและทำทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดก็ตามและคิดว่าจะทำต่อไปให้รัฐบาลใหม่พิจารณา”

ส่วนศิริกุล จงธนสารสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจากบรรษัทเงินทุนฯ กล่าวเปิดประเด็นเรื่องภาวะอุตสาหกรรมเธอชี้ชัดว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียไทยเรามีศักยภาพในการแข่งขันน้อยกว่า เพราะทำได้ดีเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีต่ำและแรงงานสูง ขณะที่สินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงกว่า กลับเป็นรองมาเลเซีย สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นก็คือประเทศที่ไล่หลังไทยในปัจจุบันอย่างจีนและเวียดนามก็เร่งปรับตัวตามมา และอาจจะแย่งชิงตลาดนี้ไปจากไทยเนื่องจากค่าแรงงานที่ต่ำกว่า ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือจะต้องพัฒนาไปสู่การผลิตสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น

ขณะที่ตัวแทนจากภาครัฐบาล สุดา ศิริกุลวัฒนาผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมก็เห็นดีเห็นงามว่าการพัฒนาทางด้านงานวิจัยและพัฒนาจะเป็นอาวุธสำคัญของการแข่งขันในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย เธอย้ำว่าภาครัฐบาลให้การส่งเสริมเรื่องนี้ ทั้งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 และฉบับที่ 8 เริ่มตั้งแต่การมีทุนการศึกษา สำหรับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาและสูงกว่า ไปจนถึงการให้เงินทุนกู้ยืมสำหรับบริษัทต่างๆที่ต้องการทำงานวิจัยและพัฒนา

อย่างไรก็ดี แม้ทุกฝ่ายจะเห็นพ้องต้องกันในหลักการว่าจะต้องสนับสนุนให้มีการทำ R&D อย่างจริงจัง ทว่าในทางปฏิบัติแล้วยังดูจะไกลเกินฝัน เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการต่างยังตื่นตัวค่อนข้างน้อย ตัวอย่างชัดเจนจากการที่มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้มาขอทุนกู้ยืมเพื่อการทำวิจัยในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์น้อยมากและเกือบจะน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆอีกกว่า 10 ประเภท

สาเหตุสำคัญมาจากความไม่ชัดเจนเรื่องภาษี ซึ่งในหลักการแล้วรัฐบาลยอมให้นำค่าใช้จ่ายงานทางด้าน R&D มาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีประจำปีได้ประมาณ 1.5-2 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง ทว่าในทางปฏิบัติแล้ว กฎเกณฑ์ต่างๆยังเป็นปัญหา โดยเฉพาะการตีความว่ากิจกรรมใดบ้างที่เข้าข่าย R&D ซึ่งยังต้องใช้เวลาในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆอีกมาก

ยิ่งไปกว่านั้น อุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุนกับต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา ไต้หวันทำให้ผู้ร่วมทุนไทยไม่มีความคิดว่าจะต้องพัฒนางานด้านนี้ขึ้นมาเองเพราะต้องใช้เงินทุนมาก

จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ R&D ไทยยังคงย่ำอยู่กับที่และมีทีท่าว่าจะย่ำไปอีกนาน เพราะการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาก็ยังไม่สามารถกระตุ้นความคิดของผู้เกี่ยวข้องให้สนใจมากขึ้น เห็นได้ชัดจากผู้เข้าฟังสัมมนาในวันนั้นที่เหลือจำนวนผู้เข้าฟังเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่อยู่ฟังการกล่าวถึงประเด็นนี้จนจบโดยไม่ลุกหนีหายไปไหน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.