|

45 UP...กับโรคกระดูกพรุน
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
เชื่อว่าผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือนหลายคนคงจะกำลังร้อนๆหนาวๆกับเรื่องราวของโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นโรคที่น่ากลัวและอยู่ใกล้ตัวสตรีกลุ่มนี้มากที่สุดโรคหนึ่ง กิตติศัพท์ความรุนแรงของ “โรคกระดูกพรุน” เริ่มคุ้นหูคนไทยมากขึ้นในแง่ที่มีผลร้ายต่อสุขภาพของผู้ป่วย ทำให้เจ็บปวด ทุกข์ทรมานและต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมากในการรักษา
สตรีวัยใกล้หมดประจำเดือนและหญิงสูงอายุเป็นวัยที่มีความบกพร่องในการสังเคราะห์ไวตามินดีที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างเนื้อกระดูก จากการศึกษาพบว่าสตรีวัยหมดประจำเดือน (48ปี-50ปี) เป็นสภาวะที่ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้เซลล์สลายกระดูกทำงานเพิ่มขึ้นกว่าภาวะปกติ
จากสถิติของผู้ป่วยพบว่า โรคกระดูกพรุนอาจเกิดกับผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่าสี่สิบปีก็ได้ถ้าเธอผู้นั้นต้องสูญเสียอวัยวะสำคัญในการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงไปก่อนวัยหมดประจำเดือน เช่นทดแทนตามคำแนะนำของแพทย์ จะช่วยให้ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุนได้
3 วิธีหนีโรคกระดูกพรุน
1. สำหรับคนที่มีร่างกายแข็งแรงตามปกติ ถ้าไม่อยากให้โรคกระดูกพรุนมากล้ำกรายควรเลือกบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ในภาวะที่ร่างกายอ่อนแอ เช่นมีการติดเชื้อ เจ็บป่วยเรื้อรังหรือมีวัยสูงขึ้น ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมมาก เช่น นม นมผง บางคนไม่ชอบดื่มนมเพราะไม่คุ้นในรสชาติ สามารถเลือกอาหารไทยๆเช่น ปลาร้าผง กะปิ กุ้นแห้งตัวเล็กๆกุ้งฝอยในน้ำจืด งาดำคั่ว ถั่วแดงหลวง ผักคะน้า ตลอดจนเต้าหู้ขาวที่ใช้ใส่แกงจืดก็มีแคลเซียมมาก
2. นอกจากการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้วควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน เช่นการสูบบุหรี่ ดื่มสุราและน้ำชากาแฟ ตลอดจนการบริโภคเนื้อและหมูมากเกินไปและรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัดมากเกินไป
3. การออกกำลังกายโดยให้น้ำหนักของร่างกายลงที่กระดูกแนวยาวเช่นการเต้นแอโรบิก การเดิน-วิ่ง ถ้าทำเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ในระยะเวลาครั้งละประมาณ 15-30 นาทีจะช่วยให้กระดูกแข็งแรง
หมดประจำเดือนก่อนวัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
คนไข้หญิงรายหนึ่ง มีภาวะกระดูกพรุนตั้งแต่ยังไม่หมดประจำเดือน เพราะประจำเดือนของเธอหมดไปก่อนธรรมชาติ เนื่องจากโรคร้ายมาเบียดเบียนทำให้ต้องตัดรังไข่และมดลูกทิ้งเธอแพ้ฮอร์โมนทดแทน และไม่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญกว่าจะรู้ตัวก็สายเกินแก้
คำแนะนำสำหรับหญิงประจำเดือนหมดก่อนวัย
1. ปรึกษาสูตินรีเวชหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกเพื่อขอรับฮอร์โมนทดแทนฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ขาดไปเนื่องจากต้องตัดมดลูกออก สามารถแก้ไขได้โดยรับประทานฮอร์โมนเพศ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาสั่งให้ตามความเหมาะสม ผู้ที่จะใช้ฮอร์โมนได้ ต้องไม่มีประวัติการเจ็บป่วยเกี่ยวกับถุงน้ำดีและมะเร็งเต้านม เนื่องจากการศึกษาวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่ากลุ่มที่ได้รับฮอร์โมนเพศเสริมมีโอกาสเป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูกเพิ่มถึง 4 เท่าตัวทั้งยังมีโอกาสเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 23 เปอร์เซ็นต์ก่อนใช้ฮอร์โมนจึงควรปรึกษาแพทย์
2. รับประทานยาและไวตามินเสริม กรณีผู้ป่วยแพ้ฮอร์โมนทดแทน ไม่สามารถรับประทานได้ แพทย์จะพิจารณาให้ไวตามินดีสังเคราะห์สำเร็จรูปเพื่อนำมาใช้รักษาและป้องกันโรคร่างกายมีภาวะเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
เมื่อเอ่ยถึงวิตามินดี คนทั่วไปมักมีความเข้าใจผิดคิดว่าวิตามินดีมีอยู่ในแสงแดด ร่างกายของเราได้รับโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินสังเคราะห์สำเร็จรูปชดเชยในกรณีที่ร่างกายมีภาวะเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
แท้จริงแล้วแสงแดดเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้างไวตามินดีด้วยสารเริ่มต้นที่ผิวหนังแล้วส่งไปสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงในร่างกายอีกหลายขั้นที่ตับและไตเป็น CALCITRIOL ซึ่งเป็นไวตามินดีที่ออกฤทธิ์ช่วยให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซี่ยมเข้าไปสร้างเนื้อกระดูก
ในภาวะปกติคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ร่างกายจะสามารถสร้างไวตามินดีที่ออกฤทธิ์ได้ แต่ในบางภาวะเช่นผู้เป็นโรคตับ โรตไต โรคทางเดินอาหารเรื้อรังหรือผู้สูงอายุซึ่งมีระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายเสื่อมลง จึงไม่สามารถเปลี่ยนไวตามินธรรมชาติให้เป็นรูปที่ออกฤทธิ์ได้ ต้องรับประทานไวตามินดีสังเคราะห์สำเร็จรูปเพื่อช่วยสร้างเนื้อกระดูก แต่การให้ยานี้ต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์
3. รับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง เช่น นม เนยและเกลือแร่ต่างๆซึ่งหาได้จากไวตามิน ได้แก่...
ไวตามินเอ จากตับไข่แดงและพืชที่มีสีเหลืองเช่น แคร็อท มะเขือเทศ ไวตามินเอมีบทบาทในการเสริมสร้างเซลล์กระดูกให้ทำงานตามปกติ
ไวตามินซีจากผัก ผลไม้
ไวตามินดี จากไข่แดงและน้ำมันตับปลาและพืชผักที่มีสีเหลืองแดง ไวตามินดีนี้มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ลำไส้ดูดซึมแคลเซี่ยมเข้าไปสร้างเนื้อกระดูก แต่ในหญิงวัยหมดประจำเดือนหรือผู้สูงอายุมักมีความบกพร่องในการสังเคราะห์ไวตามินดีเพื่อนำมาใช้ในการส่งเสริมให้การดูดซึมของแคลเซียมเพิ่มขึ้นจึงต้องปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับวิตามินสังเคราะห์สำเร็จรูป โดยแพทย์จะเป็นผู้ควบคุมขนาดของวิตามินที่ร่างกายต้องการได้ถูกต้องจึงไม่ควรขึ้นมารับประทานเอง
4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง กรณีที่มีกระดูกโปร่งบางแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีการออกกำลังกายที่ไม่เป็นอันตรายต่อระบบข้อต่อและกระดูก
5. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้แคลเซี่ยมในกระดูกลดลงเช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา น้ำชากาแฟ รวมทั้งการใช้ยาบางประเภท เช่นยาลดกรด ยากล่อมประสาท ยาสตีรอยด์ ยารักษาโรคต่อมไทรอยด์
ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์
จะเห็นได้ว่าโรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่ป้องกันได้ตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ต้องใช้หลายวิธีร่วมกันจึงจะได้ผล
หญิงวัย 45 ขึ้นไปเป็นวัยที่มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนมากเพราะใกล้หมดประจำเดือน (อาจมีบางรายหมดประจำเดือนแล้ว) ควรเร่งบำรุงร่างกายให้แข็งแรงตาม 5 วิธีดังกล่าวข้างต้น สำหรับผู้ที่หมดประจำเดือนก่อนวัย ไม่ว่าจะหมดโดยธรรมชาติหรือต้องสูญเสียระบบธรรมชาติไปเพราะโรคภัยไข้เจ็บควรรีบปรึกษาแพทย์ขอรับคำแนะนำในการป้องกันตนให้พ้นจากโรคกระดูกพรุน หรือถ้าอยู่ในภาวะเริ่มเป็น แพทย์จะให้การรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคน้อยลง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|