ชาร์ลส์ แฮนดี้ บรมครูด้านบริหารเมืองผู้ดี


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

สหรัฐฯนั้นอาจจะได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมบรมครูด้านการบริหารระดับมันสมองด้วยเหตุว่ามีมหาวิทยาลัยเปิดสอนวิทยายุทธ์ด้านการบริหารมาก่อนมหาวิทยาลัยในเอเชียหรือยุโรปเป็นเวลาประมาณ 50 ปีทั้งยังมีเจ้าทฤษฎีด้านการบริหารชื่อก้องโลกมากหน้าหลายตา อาทิ ปีเตอร์ ดรักเกอร์,

ไมเคิล พอร์เทอร์, โรซาเบธ มอสส์ แคนเตอร์และทอม ปีเตอร์ส ซึ่งล้วนแล้วแต่ถือกำเนิดในสหรัฐฯหรือไม่ก็ซึมซับเอาวัฒนธรรมและประเพณีอเมริกันไว้เต็มตัว

แต่สำหรับชาร์ลส์ แฮนดี้แล้วเขาเป็นชาวอังกฤษ เป็นหนึ่งในบรมครูด้านการบริหารที่เลื่องชื่อของยุโรปที่มีเพียงไม่กี่คน ในอดีตนั้นเคยเป็นถึงผู้บริหารในบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลกคือเชลล์ และเป็นอาจารย์ประจำ LONDON BUSINESS SCHOOL ความรู้ความสามารถที่เขาถ่ายทอดสู่ผู้คนนั้นหาได้มาจากการวิจัยไม่ แต่เกิดจากการวิเคราะห์และการไตร่ตรองทั้งหมด

ในความคิดที่มีต่อปาฏิหาริย์ของเศรษฐกิจในเอเชียนั้นแฮนดี้มองว่ามีลักษณะพิเศษและยังมีความต่อเนื่อง ทว่าในวันหนึ่งข้างหน้าเสือเศรษฐกิจในเอเชียทั้งหลายก็จะต้องติดกับกับภาวะอิ่มตัว ความจริงและภาวะตกต่ำเหมือนกับที่เศรษฐกิจของประเทศตะวันตกเคยเจอมาก่อน “ผมคิดว่าเอเชียกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างเดียวกับที่ตะวันตกเคยเจอมา แต่จะต่างกันก็ตรงที่ว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วกว่า”

เมื่อครั้งที่เดินทางมาเยือนสิงคโปร์และจีนตอนใต้ แฮนดี้ได้แสดงความวิตกในลักษณะเดียวกับนักธุรกิจชั้นนำผู้มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลในภูมิภาคที่ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในเอเชียในช่วงต่อไปจะซับซ้อนขึ้นกว่าเดิมและจะได้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูกน้อยลง แต่จะต้องหันไปพึ่งพาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความจงรักภักดีและความผูกพันต่อองค์กรจากพนักงานที่ได้รับการศึกษามาอย่างดี

UNDERSTANDING ORGANISATION, THE GODS OF MANAGEMENT และ THE FUTURE OF WORK เป็นหนังสือสามเล่มแรกของแฮนดี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับหน้าที่การงานและโครงสร้างองค์กรในประเทศตะวันตกในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทต่างๆริเริ่มการให้บุคคลนอกบริษัทมาทำงานสำคัญๆให้ (CONTRACTING OUT) เพื่อคงฐานะความได้เปรียบในการแข่งขันไว้

ส่วนในหนังสืออีกสองเล่มที่พิมพ์ออกมาในช่วงหลังชื่อว่า THE AGE OF UNREASONS และ THE EMPTY RAINCOAT นั้น แฮนดี้บรรยายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในตะวันตกในช่วงทศวรรษ 1990 ภายหลังจากที่กระบวนการ CONTRACTING OUT ของตะวันตกพัฒนาไปไกลมากแล้ว

ปรากฏว่าประชากรส่วนใหญ่ในอังกฤษและสหรัฐฯมักจะทำงานนอกเวลากัน แต่สำหรับผู้ที่ได้ชื่อว่า “เป็นพนักงานประจำ” กลับตกอยู่ในอาการหวาดผวาหรือไม่ก็คำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้งในระบบเศรษฐกิจของหลายประเทศที่แยกความเป็นเจ้าของกิจการออกไปจากทีมบริหารอย่างชัดเจนนั้น บริษัททั้งหลายต้องหันไปพึ่งพาทีมผู้บริหารมืออาชีพประเภทอิสระกันมากขึ้น

แฮนดี้ยอมรับว่า “เป็นข่าวร้ายมาก เพราะพนักงานไม่ต้องเกี่ยวข้องกับอนาคตขององค์กรและอดีตที่ผ่านมาด้วย ผลก็คือกลายเป็นองค์กรที่ไม่ค่อยจะคิดถึงเรื่องระยะยาว ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะขาดการลงทุนระยะยาว แต่สาเหตุหลักน่าจะเกิดมาจากจิตวิญญาณของผู้บริหาร บริษัทต่างๆจึงสูญเสียความทรงจำแห่งอดีตร่วมกัน สูญเสียค่านิยมแห่งความสำเร็จในหน้าที่การงานและสูญเสียความจงรักภักดีในหมู่นักลงทุน ลูกค้าและผู้ถือหุ้น”

แฮนดี้ชี้ทางออกของปัญหาเหล่านี้ว่า ต้องถือว่าพนักงานเสมือนหนึ่งสมาชิกของสมาคมมืออาชีพที่ทรงคุณค่ามากกว่าจะเป็นร่างกายและจิตวิญญาณที่เป็นเพียงสินทรัพย์ของบริษัทเท่านั้น อย่างไรก็ดีบรมครูผู้นี้ย้ำว่าบริษัทในประเทศเอเชียที่พัฒนาแล้วอย่างเช่นญี่ปุ่น ที่ยกเลิกนโยบายการจ้างงานตลอดชีพจะต้องมีค่าใช้จ่ายทางสังคมเพื่อแลกกับการเพิ่มประสิทธิภาพและการทำกำไรท่ามกลางกระแสการแข่งขันทั่วโลก

ในสายตาของแฮนดี้เอเชียยังสามารถหลีกเลี่ยงความหายนะจากการหย่าขาดจากกันระหว่างการเป็นเจ้าของกิจการกับทีมบริหารดังที่เคยเกิดขึ้นในโลกตะวันตก “ผมคิดว่าค่านิยมและสมรรถนะของบริษัทที่ผู้ก่อตั้งวางเอาไว้จะได้รับการสานต่อ หากผู้สืบทอดกิจการไม่ปล่อยให้บริษัทตกไปอยู่ในมือของผู้ถือหุ้นที่มีแต่ความสนใจในผลตอบแทนทางด้านการเงินในระยะสั้น”

นอกจากนี้ แฮนดี้ยังมีความเห็นว่าบริษัทต้องหาจุดสมดุลระหว่างการคงประสิทธิภาพในการทำกำไรกับการคงคุณค่าความเป็นมนุษย์ในหน้าที่การงานให้ได้ ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งของความขัดแย้งในรูปแบบใหม่ของกิจการทั่วโลก “ทุกวันนี้ผมเลิกเชื่อใน “ ทฤษฎีแห่งทุกสรรพสิ่ง” และความเป็นไปได้ของความสมบูรณ์แบบผมมองเห็นความขัดแย้งในตัวเองว่าเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลาและเป็นสิ่งที่จีรัง” ประโยคสุดท้ายที่แฮนดี้ฝากมาให้คิดกันเล่นๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.