เศษเหรียญดิจิตอล


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่า เครือข่ายจัดจำหน่ายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ขององค์กรขนาดใหญ่กำลังไขว่คว้าหาช่องทางที่ปลอดภัยในการทำเงินจากเครือข่ายดังกล่าว พูดง่ายๆก็คือ วิธีการที่ลูกค้าจะมั่นใจจนยอมใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์เหมือนกับเวลารูดซื้อของตามห้างนั่นเอง

ไซเบอร์แคชดูจะรู้เรื่องนี้ดี ต้นเดือนที่แล้ว บริษัทดาวเด่นในเรสตัน เวอร์จิเนียแห่งนี้จึงได้ออกผลิตภัณฑ์รุ่นปฏิวัติวงการ โดยอ้างว่าเจ้าระบบ “ไซเบอร์คอยน์” ตัวนี้จะเปลี่ยนเวิลด์ไวด์เว็บให้กลายเป็นตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ

ผู้ที่สนใจไซเบอร์คอยน์สามารถเข้าไปเยี่ยมชมในไซต์ของไซเบอร์แคช จากนั้นจัดการดาวน์โหลดกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์มาไว้ในฮาร์ดไดรฟ์แล้วสมัครเป็นสมาชิกกับทางบริษัทให้เรียบร้อย หลังจากนั้นซอฟต์แวร์ไซเบอร์คอยน์จะแปลงกายทำหน้าที่คล้ายกับตู้เอทีเอ็มให้ลูกค้าโอนเงินจากแบงก์ที่มีสัญญากับบริษัท มาเข้ากระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ของตัวเอง โดยสามารถสั่งโอนเงินได้ตั้งแต่ 20-100 ดอลลาร์

ทีนี้เมื่อเจอไซต์ที่รับไซเบอร์แคช ลูกค้าก็สามารถซื้อสินค้าหรือบริการโดยจ่ายด้วยบัตรเครดิตหรือไซเบอร์คอยน์ก็ได้

ผู้ประกอบการออนไลน์ถึงกับยกให้ “คอยน์” หรือเงินดิจิตอล เป็นเสมือนคาถาวิเศษทำให้การทำธุรกิจในไซเบอร์สเปซเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เพราะในกรณีที่สินค้าหรือบริการราคาจิ๊บจ๊อยแค่ 1 เหรียญหรือบางครั้งน้อยกว่า ลูกค้าคงไม่อยากรูดบัตรเครดิตให้เสียเวลา แต่สำหรับไซเบอร์คอยน์แล้วไม่มีปัญหาสักนิด

ตัวอย่างเช่นเมื่อกลางเดือนที่แล้วเช่นกัน เฮดเกมส์ได้เปิดตัว “วอร์บเบิล” เกมปริศนาหาคำที่หายไป ผู้เล่นสามารถเปิดเข้าไปทดสอบฝีมือได้พร้อมเพรียงกันคราวละ 2,000 คนโดยมีเดิมพันสำหรับผู้ชนะตั้งแต่ 10 ดอลลาร์ต่อ 1 คำ ส่วนค่าธรรมเนียมลงแข่งครั้งละ 1 ดอลลาร์ซึ่งคุณสามารถจ่ายเป็นไซเบอร์คอยน์ได้ทันที

ในส่วนของไซเบอร์แคชนั้นจะได้รายได้จากค่าธรรมเนียมการใช้เหมือนกับกรณีของผู้ออกบัตรเครดิตนั่นเองเช่นถ้าการทำธุรกรรม 1 ครั้งคิดค่าธรรมเนียม 25 เซ็นต์ไซเบอร์แคชจะชักส่วนแบ่งจากทางแบงก์ 6 เซ็นต์ ส่วนธนาคารก็จะไปเรียกเก็บจากผู้ค้า 8 เซ็นต์ซึ่งเท่ากับว่าถ้ามีผู้นิยมใช้ไซเบอร์คอยน์มากเท่าไหร่ กำไรของไซเบอร์แคชก็มีสิทธิ์จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น

แต่ลำพังไซเบอร์แคชคนเดียวคงจะเข็นไซเบอร์คอยน์ให้โตยาก ไซเบอร์แคชจึงชักชวนบริษัทที่เปิดไซต์ให้บริการให้เวิลด์ไวด์เว็บ 30 รายมาร่วมโครงการด้วย คาดว่าจำนวนพันธมิตรจะเพิ่มเป็น 100 รายก่อนสิ้นปี ในส่วนของธนาคารที่เข้าร่วม ขณะนี้มี 6 แห่งที่ตกลงออกกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ให้ เรียกได้ว่าไซเบอร์แคชเป็นเจ้าแรกที่มีขุมกำลังและตลาดเป้าหมายชัดเจนที่สุด ณ ชั่วโมงนี้

อย่างไรก็ตาม ไซเบอร์แคชยังต้องแข่งกับผู้พัฒนาระบบธุรกรรมออนไลน์รายอื่นๆตลอดจนแบงก์ยักษ์ใหญ่อีกหลายราย อาทิ ซิตี้แบงก์ที่กำลังซุ่มพัฒนาซอฟต์แวร์จัดการเงินอิเล็กทรอนิกส์ออกมาให้บริการ เท่ากับว่าค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมจะต่ำลงเรื่อยๆ

สำหรับประเด็นของความปลอดภัยนั้น เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่แล้ว BANK OF INTERNATIONAL SETTLEMENT ได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาตรวจสอบปัญหาความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เงินอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสมาร์ทการ์ดที่ร่ำๆจะออกในเร็วๆนี้และซอฟต์แวร์จัดการเงินดิจิตอล โดยมีอิสราเอล เซนโดรวิก รองประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์กเป็นหัวหน้า ผลการตรวจสอบที่เผยแพร่ออกมาเมื่อต้นเดือนที่แล้วสรุปว่า ระบบเหล่านี้มีความปลอดภัยสูงกว่าบัตรเครดิตเสียอีก แต่มาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดอาจจะไม่รัดกุมพอ จำเป็นต้องประสานมาตรการเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน

สุภาษิต “คนเดียวหัวหายสองคนเพื่อนตาย” จึงยังใช้ได้ในโลกยุคหายใจเข้าออกเป็นอินเตอร์เน็ตด้วยประการฉะนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.