ดินเนอร์ ทอค “ร่วมสร้างการเมืองใหม่”


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ในวาระของการครบรอบ “20 ปี 6 ตุลา” เวียนมาบรรจบในปี 2539 นี้กลุ่มผู้เคลื่อนไหวการชุมนุมในครั้งนั้น ซึ่งในเวลานี้เติบโตเป็นนักวิชาการ นักธุรกิจอยู่ในสมาคมองค์กรต่างๆและอาจเรียกพวกเขาว่า “ชาว 6 ตุลา” ได้ร่วมกับตัวแทนนักศึกษาจากสถาบันต่างๆมูลนิธิกลุ่มสมาคมและชมรมต่างๆที่มีเจตนาสืบสาน “ปณิธาน 6 ตุลา” เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยที่สงบ สันติ มีความเป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตยของประชาชน ได้ร่วมกับมูลนิธิสื่อสร้างสรรค์จัดงานดินเนอร์ ทอคขึ้นเมื่อ 3 กันยายนที่ผ่านมา

หัวข้อในการอภิปรายครั้งนี้คือ “ร่วมสร้างการเมืองใหม่” โดยมีผู้ร่วมอภิปรายคือคุณอานันท์ ปันยารชุน ศ.นพ.ประเวศ วะสี และคุณธีรยุทธ บุญมี ผู้ดำเนินการอภิปรายคือ คุณสุทธิชัย หยุ่น

การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือหาทุนเพื่อดำเนินกิจกรรมการตามเจตนารมณ์และใช้ในการจัดงานรำลึก “20 ปี 6 ตุลา” นอกจากนี้ยังมีจุดมุ่งหมายสำคัญ 2 ประการคือเพื่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นเวทีที่จะกระตุ้นให้สังคมได้สนใจและมีส่วนร่วมในการพัฒนากระบวนการเมืองใหม่ที่สอดคล้องเหมาะสมกับสังคมไทย

นอกจากนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนคนหนุ่มสาวได้เติบใหญ่ ด้วยความหวังที่จะช่วยผลักดันสังคมไทยด้วยวิถีทาง “สันติ สามัคคีและสร้างสรรค์” อย่างเป็นรูปธรรม

งานครั้งนี้มีการขายบัตรเพื่อระดมทุนในราคาที่นั่งละ 3,000 บาทซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดีและสามารถหาทุนได้ประมาณ 2 ล้านบาทเพื่อใช้ในกิจกรรมดังกล่าว

งานดินเนอร์ ทอค ครั้งนี้เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของการจัดงานรำลึก “20 ปี 6 ตุลา” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 5-6 ตุลาคมนี้ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์องค์ประกอบของงานมีทั้งด้านพิธีกรรม งานวิชาการและงานวัฒนธรรม

ดร.โคมทม อารียา ประธานกรรมการประสานงาน 20 ปี 6 ตุลากล่าวว่า “งานวันที่ 5 นั้นจะเน้นความหลากหลายและจัดโดยหลายองค์กร แต่รวมศูนย์อยู่ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการอภิปราย ฉายวิดีโอ ดนตรี อ่านบทกวี ละคร แสงสีบอกเล่าเหตุการณ์ 6 ตุลา”

“ส่วนวันที่ 6 ตุลานั้น มีงานที่สนามฟุตบอลในตอนเช้าและที่หอประชุมใหญ่ในช่วงบ่าย วันนี้งานจะมีลักษณะเน้นการรวมศูนย์และความเป็นพิธี”

ในช่วงเช้านั้นจะเป็นการตักบาตรพระจำนวน 106 รูปมีการสวดมนต์ การทอดผ้าบังสุกุล จากนั้นมีการตั้งแถวเดินรอบสนามฟุตบอล ม.ธ. พิธีกรรมจุดนี้คณะผู้จัดประสงค์ จะให้ผู้เข้าร่วมได้ตั้งสติรำลึงถึงผู้ที่จากไประหว่างเดินจะมีการตีกังสดาล เพื่อให้เสียงที่แผ่กังวาลอยู่ในสนามบอลเวลานั้นเป็นเสียงแห่งธรรม แทนที่จะเป็นเสียงกระสุนปืนของเมื่อ 20 ปีก่อนจากนั้นให้นำดอกไม้ไปวางที่สถูปซึ่งจัดไว้

ต่อจากการวางหรีดและดอกไม้แล้ว จะมีการกล่าวไว้อาลัย พระสงฆ์ทำพิธี มีการกรวดน้ำรำลึกลงบนกล้าไม้ที่มีการเตรียมไว้ เพื่อให้ผู้สืบสาน “ปณิธาน 6 ตุลา” นำกล้าไม้เหล่านี้ไปปลูกให้ปณิธานนั้นงอกเงยสืบต่อเนื่องไป

ทั้งนี้ปณิธาน 6 ตุลาเกิดจากการสัมมนาระดมความคิดของคณะทำงานจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลาเมื่อเดือนมกราคม 2539 และได้สรุปนิยามว่าหมายถึง 1) ความใฝ่ฝันถึงสังคมที่สงบสันติ (สังคมทางเลือกใหม่ที่ดีกว่า 2) วิญญาณของการแสวงหาความจริงอย่างเป็นอิสระ

ในภาคบ่ายจะมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการ การมอบรางวัลให้อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (ผ่านบุตรชาย) แสดงธรรมปาฐกถาโดยพระไพศาล วิสาโลกล่าวสุนทรพจน์ประกาศเจตนารมณ์และเปิดภาพอนุสรณ์สถานซึ่งช่วงนี้ถือเป็นไฮไลท์ของงาน ต่อจากนั้นเป็นรายการวัฒนธรรม นาฏศิลป์ ดนตรีเพื่อชีวิต รายการในภาคหลังนี้อยู่ในหอประชุมใหญ่และสุดท้ายเป็นพิธีปิดงาน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.