|
“สิว” ลุกลามรักษาได้
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
“สิว” ศัตรูหัวใจของชายและหญิงมาตั้งแต่วัยรุ่น หนุ่มสาวประมาณ 80% เคยเป็นสิวมาแล้วแทบทั้งสิ้น บางคนอาจจะเคยเป็นแบบรุนแรงจนฝากรอยแผลเป็นไว้ให้ดูเป็นที่ระลึกจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่หลายคนโชคดีเป็นสิวแบบไม่รุนแรง
มีคำถามที่ว่าหลังจากผ่านพ้นช่วงวัยหนุ่มสาวแล้ว ยังมีโอกาสเป็นสิวอีกหรือไม่ ตอบได้เลยว่าในขณะที่บางคนกำลังอ่านบทความนี้อยู่ก็ยังถูกสิวตามรังควาน จึงสรุปได้ว่าแม้ผ่านพ้นช่วงวัยหนุ่มสาวมาแล้ว ก็ยังมีโอกาสเป็นสิวอีกเช่นกัน
สาเหตุของการเกิดสิว เกิดจากหลายสาเหตุเช่นเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย P. ACNES อยู่บนผิวหนังหรือฮอร์โมนเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมไขมันโตขึ้น ร่วมกับการอุดตันของต่อมไขมันหรือเกิดจากสาเหตุภายนอกร่างกายได้แก่การใช้เครื่องสำอางชนิดที่ทำให้เกิดสิวได้ เช่นการใช้ออยล์หรือครีมบำรุงผิว
การใช้ครีมทาผิวที่มีส่วนผสมตัวยาสตรีรอยด์ การแพ้ความร้อนหรือต้องสัมผัสน้ำมันหรือฝุ่นละอองตลอดเวลา นอกจากนี้แล้วการรับประทานยาบางประเภทสามารถทำให้เกิดสิวได้เช่น ฮอร์โมนส่วนบางคนกลัวเรื่องของการรับประทานอาหารว่าจะเป็นสาเหตุของการเกิดสิวนั้นอาหารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำให้เกิดสิวแต่อย่างใด
จากการประชุมทางวิชาการ 12 TH REGIONAL CONFERENC OF DERMATOLOGY ที่จัดโดยสมาคมแพทย์โรคผิวหนังแห่งประเทศไทยที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรีเมื่อเร็วๆนี้ว่า มีการนำเสนอบทความทางวิชาการ เรื่อง “RETINOIDS IN ACNE : STATUS AND PERSPECTIVE” โดยเน้นว่าเมื่อเป็นสิวแล้วจะต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง เพราะ “สิว” จัดเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์นายแพทย์ HENRI LEFRANCO หัวหน้าแผนกวิจัยทางคลินิกด้านโรคผิวหนังบริษัท เอฟ ฮอฟมันน์ ลาโรซ จำกัด ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้ร่วมพัฒนากลุ่มยาเรตินอยด์มานานกว่า 20 ปีแล้วเปิดเผยว่า เรตินอยด์ได้เริ่มพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ. 2503 บริษัท เอฟ ฮอฟมันน์ สาโรซ จำกัดได้สังเคราะห์เรตินอยด์ หรืออนุพันธ์ของไวตามิน เอ ประมาณ 2,500 ชนิดแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆคือ
1. ACIDIC RETINOIDS เช่น ROACCUTANE ใช้สำหรับรักษาสิว
2. AROMATIC RETINIODS เช่น TIGASON และ NEOTIGASON ซึ่งใช้สำหรับรักษาเรื้อนกวาง
ROACCUTANE ได้ถูกนำมาใช้ในการบำบัดสิวลุกลามชนิดรุนแรง แต่ในภาวะสิวที่รุนแรงน้อยลงการใช้ยาก็ยังได้ผลดีจึงอาจกล่าวได้ว่าสามารถใช้รักษาสิวได้ทุกระยะด้วยประสิทธิภาพที่ดี ในทางปฏิบัติแพทย์จะเป็นผู้คำนวณยาให้ผู้ป่วยว่ารับหรือให้ยาสะสม (TOTAL CUMULATIVE DOSE) 120 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมซึ่งจุดนี้เป็นประเด็นสำคัญในการใช้ยา เพราะมีผลทำให้อัตราการกำเริบของสิวต่ำที่สุด
นายแพทย์ HENRI LEFRANCO ได้ยกตัวอย่างผู้ป่วยหญิงที่เป็นสิวรุนแรงเรื้อรังมาหลายปี โดยใช้วิธีสารพัด แต่อาการยังไม่ดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษาด้วยยา ROACCUTANE วันละ 1 มิลลิกรัมสิ้นสุดการรักษา สิวหายไปหมด มีรอยแผลเป็นปรากฎอยู่บ้างเนื่องจากเธอมารับการรักษาด้วย ROACCUTANE หลังจากสิวลุกลามเป็นเวลานานแล้ว หากมาเร็วกว่านี้ จะมีแผลเป็นน้อยกว่านี้แต่อย่างไรก็ตามแผลเป็นนี้ก็สามารถรักษาด้วยศัลยกรรม
นายแพทย์ W.A.D. GRIFFITHS อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญสถาบันโรคผิวหนังเซนต์จอห์น โรงพยาบาลเซนต์โทมัส ลอนดอนประเทศอังกฤษ กล่าวในระหว่างการประชุมว่า สิวเป็นผลต่อสุขภาพจิต สร้างความรำคาญและกังวลแก่ผู้คนจำนวนมากมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต บางรายงานแสดงถึงผลกระทบทางจิตใจของผู้เป็นสิว เช่น กลายเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ หลายคนไม่ผ่านการสอบสัมภาษณ์เวลาไปสมัครงาน เพราะใบหน้าเต็มไปด้วยสิว แม้บางคนเป็นสิวน้อยแต่ผู้เป็นกลับวิตกกังวลมาก ดังนั้น การรักษาสิวจะต้องรักษาให้หายโดยเร็ว เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วย
ส่วนในเรื่องของราคา หากมองผิวเผินอาจรู้สึกว่า ROACCUTANE แพง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาติดต่อกันในเวลาถึง 54 สัปดาห์เนื่องจากความเรื้อรังและการกำเริบของสิวผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายคิดเป็นเงิน 3.244 เหรียญนิวซีแลนด์ในขณะที่รับประทานยา ROACCUTANE ขนาด 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 4-5 เดือนก็ทำให้สิวหายขาด ซึ่งถือเป็นตำรับยาที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับการค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานถึง 54 สัปดาห์โดยสรุปแล้ว ISOTRETINOIN หรือ RETINOIDS เป็นยาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพถ้าใช้ด้วยความระมัดระวัง
ในเรื่องเดียวกัน LEE และ COOPER จากประเทศออสเตรเลียได้ศึกษาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการใช้ ROACCUTANE ซึ่งรักษาสิวหายภายใน 20 สัปดาห์ คิดเป็นเงินเหรียญ 1,800 เหรียญแต่ถ้าให้ยาปฏิชีวนะและทายาเฉพาะที่หมุนเวียนกันไปในช่วง 3 ปีคิดเป็นเงิน 2,500 เหรียญดังจะเห็นได้ว่าถูกกว่ากัน 26% การที่เภสัชกรจะมาบอกว่ายาปฏิชีวนะถูกกว่านั้นไม่เป็นความจริง
ในที่ประชุมมีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ ISOTRETINION หรือ RETINOIDS ในรูปของยาทาเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพของยากินที่ประชุมลงความเห็นว่ายาทาได้ผลน้อยกว่ายากินเพราะเรตินอยด์ในรูปของยาทาจะไวต่อแสงมาก และจะเปลี่ยนเป็นกรดวิตามินเอ ภายใน 10 นาทีหลังจากโดนแสงผลคือแทนที่ผู้ป่วยจะได้รับ ISOTRETINOIN ก็จะได้รับเกรดวิตามินเอแทน ประสิทธิภาพในการรักษาจึงต่ำกว่าการใช้ยากิน
ในบางประเทศมีการให้ ROACCUTANE 1-2 เม็ดต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันสิวกลับมาเป็นอีก ซึ่ง DR. GRIFFITHS ชี้แจงว่าถ้าหากมีการกลับมาเป็นสิวจริงก็ควรให้มีการรักษาอีก 1 COURSE ในขณะเดียวกับพบว่าดาราบางคนใช้เพื่อทำให้ผิวหน้าดูสดใสอ่อนเยาว์ซึ่งเป็นการใช้ยานอกจากข้อบ่งใช้ ในความเป็นจริงแล้วหากอาการสิวกำเริบน้อยอาจจะให้ยาทาเท่านั้น
สิวบนใบหน้าบางตำแหน่งอาจเป็นอันตราย โดยเกิดการอักเสบรุนแรงและลุกลามมากขึ้นจนกลายเป็น “แผลเป็น” ได้บางคนเป็นสิวอักเสบมากๆ นอกจากจะเจ็บปวดเพราะฝีหนองแล้วยังเกิดปมด้อย บางคนซึมเศร้าและสูญเสียความมั่นใจ
แพทย์หญิง ปรียา กุลละวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ROACCUTANE เป็นยาในกลุ่มวิตามินเอมีฤทธิ์ลดไขมันที่ผิว ลดการอุดตันและอักเสบของสิว และทำให้สิวแห้งแต่การใช้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังและระหว่างใช้ยาถ้าเป็นหญิงวัยเจริญพันธุ์ต้องคุมกำเนิด การรักษาสิวอาจต้องใช้เวลา สำหรับคนที่เป็นเพียงเล็กน้อยใช้แค่ยาทาเฉพาะที่ก็เพียงพอ ส่วนผู้ที่เป็นสิวมากอาจต้องรักษาด้วยยารับประทานติดต่อกันนานกว่าจะหาย ทั้งนี้เห็นได้ว่า ROACCUTANE ไม่ใช่ยาตัวใหม่ แต่เป็นยาที่แพร่หลายในหลายประเทศผลข้างเคียงของยาอาจทำให้ผู้ใช้ริมฝีปากแห้งซึ่งแก้ไขได้โดยใช้วาสลินทาริมฝีปากเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและเมื่อหยุดยา อาการข้างเคียงก็จะหายไปเอง อย่างไรก็ตามการใช้ยาตัวนี้ควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ไม่ควรซื้อมารับประทานเอง การใช้ยานี้อย่างถูกวิธีจะทำให้ได้ประโยชน์จากยานี้อย่างคุ้มค่า
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|