เตรียมตะลุยพักร้อนแบบหายห่วง


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

คงเป็นเรื่องน่ารำคาญไม่น้อย หากวันพักร้อนของคุณกับยอดยาหยีมีอันต้องสะดุดหรือถูกรบกวนไม่ว่าจะเป็นจากเพื่อนร่วมงานหรือเลขาคนสนิทที่คอยโทรมาถามเรื่องงานอยู่เรื่อย แต่หากคุณสามารถทำตามกฎทั้ง 6 ข้อนี้ได้ละก้อ เชื่อขนมกินได้เลยว่าพักร้อนของคุณคราวนี้ต้องเปี่ยมไปด้วยความสดชื่น มีชีวิตชีวาแถมคุณยังเหลือกำลังวังชากลับมาลุยงานต่อได้อย่างสบายๆ

เริ่มจากกฎข้อที่หนึ่งจำไว้ว่าอย่าพยายามทำให้พักร้อนของคุณมีอันต้องสะดุดเว้นเสียแต่ว่าเกิดเหตุการณ์พลิกผันขึ้นมากะทันหันจริงๆเกี่ยวกับการงานของคุณและคุณก็เป็นคนที่สามารถที่จะจัดการอะไรบางอย่างกับมันได้ แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นบ่อยนัก

กฎข้อที่สอง เดินตรงเข้าไปหาเจ้านายของคุณและบอกแผนตารางวันพักร้อนที่ตระเตรียมไว้ล่วงหน้าจากนี้ไปอีก 2 ปี และถ้าจะให้ดีกว่านั้นตารางพักร้อนของคุณไม่ควรจะกำหนดเพียงช่วงเดียว แต่ควรเผื่อไว้เป็น 3 ช่วงในปี 1998 ฟังดูอาจจะพิลึกๆชอบกล แต่นอร์ม ออกัสตินเคยทำอย่างนั้นมาแล้วเมื่อตอนที่เขามีตำแหน่งเป็นผู้จัดการในช่วงทศวรรษที่ 1970 และตอนนี้เขาก็ก้าวหน้าจนถึงขั้นมีตำแหน่งเป็นถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหารของล็อกฮีด มาร์ติน บริษัทผลิตเครื่องบินรบรายยักษ์ของสหรัฐฯออกัสตินกล่าวว่า หากคุณเตรียมการพักร้อนล่วงหน้า 2 ปีเจ้านายของคุณคงไม่สามารถพูดได้ว่า “เสียใจด้วย ผมคาดว่าคงจะเกิดเหตุวิกฤตในช่วงนั้น” แต่หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นจริงๆในตอนนั้น คุณก็ยังมีเวลาที่เหลือที่กันไว้อีก 2 ช่วงตามที่วางแผนไว้

ข้อที่สาม วางแผนว่าคุณต้องการไปเที่ยวที่ไหนและทำสิ่งที่คุณต้องการทำจริงๆ ริชาร์ด ฟรายด์แมนนักจิตวิทยาจากฮาร์วาร์ด เมดิคัล สกูลกล่าวว่าเป็นเรื่องน่าสังเกตที่มีคนจำนวนหนึ่งซึ่งกลับจากพักร้อนแต่กลับมีความรู้สึกเป็นทุกข์และจิตใจบอบช้ำมากกว่าตอนก่อนไป เขาแนะนำว่าให้คุณวางแผนการพักร้อนและคิดไว้ว่าคุณต้องการได้อะไรบ้างจากการไปพักผ่อนสมองครั้งนี้

กฎข้อต่อมาเลือกคุณภาพมากกว่าปริมาณ ฟรายด์แมนกล่าวว่า “การพักร้อนที่เยี่ยมที่สุด 7 วันย่อมดีกว่าที่คุณมีเวลาพักร้อนถึง 14 วันแต่ต้องเที่ยวแบบรัดเข็มขัด” และอันที่จริงระยะเวลาการเดินทางเพื่อการพักร้อนเริ่มมีแนวโน้มลดจำนวนวันลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนจำนวนมากเริ่มมีแนวโน้มชอบการเดินทางในระยะสั้นและปลอดภัยและอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะคู่สามีภรรยาที่ต่างอาชีพกันพบว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะจัดตารางการพักร้อนที่กินเวลาหลายวันให้ตรงกันได้

เวนดีย์ เพอร์ริน บรรณาธิการนิตยสารกงเด้ แนสต์แทรเวอเลอร์แสดงทัศนะว่าตอนนี้มีแนวโน้มที่คนจะไปพักร้อนเพื่อผจญภัยและเรียนรู้จากการพักร้อนเพิ่มมากขึ้นโดยพวกผู้ใหญ่จะชอบไปเที่ยวต่างประเทศ ขณะที่คนหนุ่มสาวชอบไปเที่ยวแบบลุยกันเอง

กฎข้อที่ห้า จงไปพักร้อนจริงๆอย่ามัวห่วงทำคะแนน ผู้จัดการหรือผู้บริหารจำนวนมากคิดแบบโง่ๆว่าพวกเขาคงทำแต้มได้บ้างหากอยู่ที่ออฟฟิศ เพราะบรรดาผู้จัดการที่ไม่มีความมั่นคงในตัวเองจำนวนมากเหล่านี้วิตกว่างานของเขาอาจจถูกเขี่ยหรือทำลายในตอนที่ตัวเองไม่อยู่

จงตระหนักว่า คุณจำเป็นต้องพักร้อนสแตนเลย์ พล็อก ผู้เขียนหนังสือ “VACATION PLACES RATED” ได้ทำการสำรวจนักท่องเที่ยว 13,500 คนต่อปีและได้ข้อสรุปว่า “การดขนาดของบริษัทอนาคตที่ไม่แน่นอนและการที่คนคนหนึ่ง ต้องรับมือกับงานที่ต้องใช้คน 2-3 คนหมายความว่าเวลาของคุณที่เสียไปเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงมิได้ ไม่ใช่เป็นเวลาที่ฟุ่มเฟือย”

สุดท้ายคือ ติดต่อกับที่ทำงานแต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขข้อกำหนดของคุณ กำหนดเวลาไว้เลยว่าเมื่อไหร่คุณจะโทรศัพท์เข้าออฟฟิศ ทุกวันหรือ ทุกๆ 2 วันเพื่อติดตามข่าวสารที่สำคัญจริงๆบอกให้เพื่อนร่วมงานรู้ว่า เขาสามารถพูดคุยกับคุณได้ตอนนั้น และให้จำไว้ว่าเป็นช่วงเวลาที่คุณกำหนดไว้เท่านั้น นอกจากนี้คุณต้องจำกัดเวลาในการคุยโทรศัพท์ หากต้องทำงานก็ให้กินช่วงเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมงต่อวันอย่าลืมสั่งเลขาหรือผู้ช่วยให้โทรหาคุณเวลาอื่นๆได้ แต่ต้องเป็นกรณีเร่งด่วนจริงๆเท่านั้น

มาร์ติน เพย์สันที่ปรึกษาด้านธุรกิจจากแมนฮัตตันกล่าวว่า “คนของคุณจะต้องหัดให้เคยชินกับการทำงานโดยที่ไม่มีคุณ เวลาพักร้อนเป็นช่วงที่คุณกำลังแสดงสัญญาณของความเชื่อมั่นในตัวพวกเขารวมทั้งตัวเองว่ แม้จะขาดใครคนใดคนหนึ่งไปงานก็ยังคงเดินหน้าต่อไปได้”


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.