|
แคตาล็อกเมล์-ออร์เดอร์ยั่วน้ำลาย
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคำว่า “โคจิน ยุนยุ” หรือ “การนำเข้าเป็นการส่วนตัว” ถือเป็นคำคู่บ้านคู่เรือนในญี่ปุ่นคำๆนี้หมายถึงการสั่งซื้อสินค้าต่างประเทศทางไปรษณีย์ โดยเลือกซื้อสินค้าจากแคตาล็อกเมล์-ออร์เดอร์ ในช่วงสองปีก่อนตอนที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นจาก 100 เยนต่อหนึ่งดอลลาร์มาอยู่ที่ 90 เยนนั้น ผู้บริโภคในญี่ปุ่นเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการสั่งนำเข้าสินค้าเป็นการส่วนตัวกันมากขึ้นหรือแม้ว่าเงินเยนจะอ่อนค่าลงแล้ว คนญี่ปุ่นก็ยังไม่คิดจะเลิกสั่งนำเข้าสินค้าดีๆจากต่างประเทศแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน องค์การสนับสนุนการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม (เอ็มไอพีโอ) ในสังกัดของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ (มิติ) ยังได้ให้การสนับสนุนแก่ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นด้วยการจัดทำแคตาล็อกสินค้าขึ้นมา 1,500 ชุดเพื่อแจกฟรีพร้อมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับขั้นตอนการสั่งซื้อสินค้าและการส่งสินค้าที่ชำรุดหรือไม่ต้องการกลับคืนไปยังบริษัท ปรากฎว่าในระหว่างเดือนเมษายน 1995 ถึงมีนาคม 1996 มีชาวญี่ปุ่นถึง 40,000 คนเข้าไปรับแคตาล็อกกันถึงสำนักงานใหญ่ในกรุงโตเกียวของเอ็มไอพีโอ
กระแสความนิยมเมล์-ออร์เดอร์ในญี่ปุ่นยังผลทำให้นิตยสารสำหรับผู้หญิงทุกฉบับถึงกับต้องเปิดหน้าพิเศษให้กับบริษัทเมล์-ออร์เดอร์ในต่างประเทศกันแทบทุกฉบับที่ตีพิมพ์ออกมา ในช่วงสองปีที่ผ่านมาหน้าพิเศษดังกล่าวมักจะตีพิมพ์แคตาล็อกของผู้ผลิตสินค้ากลางแจ้งยอดนิยมอย่างเช่น แอล.แอล.บีนและเอ็ดดี้ บาวเออร์ที่กลายเป็นขวัญใจของแม่บ้านในญี่ปุ่นไปแล้ว นับจากวันนั้นถึงวันนี้ แคตาล็อกเมล์-ออร์เดอร์มีสินค้าให้เลือกกันอย่างจุดใจอีกทั้งยังมีการทำแคตาล็อกพิเศษออกมาอย่างต่อเนื่อง
เมล์-ออร์เดอร์ในญี่ปุ่นบูมจริงๆจังๆครั้งแรกในช่วงปี 1986-1987 โดยในครั้งนั้นสินค้าสุดฮิตส่วนใหญ่มักจะเป็นสินค้าหรูยี่ห้อดังของเมืองนอกแม้จะวางขายกันเกลื่อนในญี่ปุ่นแต่ราคาที่จำหน่ายในต่างประเทศกลับถูกกว่าราคาในประเทศเป็นไหนๆแต่แล้ว เมื่อมาถึงยุคบูมครั้งที่สองที่ต่อเนื่องมาถึงในปัจจุบันนี้ สินค้ายอดฮิตกลับกลายเป็นสินค้า คอนซูเมอร์อย่างเช่น เครื่องใช้ภายในครัวเรือน,เครื่องสำอางตามธรรมชาติและเสื้อผ้าเด็กทำจากฝ้าย
เหตุที่เมล์-ออร์เดอร์ได้รับความนิยมอย่างสูงเป็นเพราะปัจจัยหลายประการ อันดับแรกสุดก็คือปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเนื่องจากว่าราคาขายปลีกสินค้าญี่ปุ่นยังสูงลิบ ทั้งนี้จากผลการสำรวจในปี 1995 ของเอ็มไอพีโอระบุว่า 77% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกตนสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศทางไปรษณีย์ก็เพราะราคาสินค้าถูกกว่าราคาสินค้านำเข้าที่วางขายอยู่ตามห้างร้านต่างๆในประเทศ
ตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้บริโภคในญี่ปุ่นเห็นว่าสินค้านำเข้าที่วางขายในญี่ปุ่นมีราคาแพงมาก การจะเปรียบเทียบราคาสินค้าแต่ละชิ้น ทำได้เพียงทางเดียวคือต้องเดินทางออกไปต่างประเทศด้วยตัวเอง แต่ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคทั้งหลายสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าได้ด้วยการดูราคาตามแคตาล็อก ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เห็นราคาที่แพงลิบของสินค้าภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังจะทำให้เกิดการตีราคาสินค้าที่เหมาะสมกับมูลค่าไปด้วยในเวลาเดียวกัน ลูกค้าหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมสินค้าของญี่ปุ่นกับสินค้าจากต่างประเทศถึงมีราคาแตกต่างกันลิบลับและทำไมพวกเขาต้องควักเงินจ่ายกันมากมายในยามต้องซื้อสินค้านำเข้าตามเอาเล็ตท์ค้าปลีกในญี่ปุ่น
การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของคนญี่ปุ่นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่หนุนเนื่องความนิยมของเมล์-ออร์เดอร์สินค้าจากต่างประเทศ โดยขณะนี้คนญี่ปุ่นเริ่มให้ความสำคัญกับชีวิตนอกเวลาทำงานกันมากขึ้น กิจกรรมหลายอย่างเป็นที่นิยมอย่างมาก อย่างเช่นการจัดสวนในบริเวณบ้าน การตกแต่งภายในบ้าน การเดินป่าและพักแรมตลอดจนการพักผ่อนหย่อนใจในรูปแบบต่างๆ ไลฟ์สไตล์ในรูปแบบใหม่นี้จำเป็นต้องมีสินค้ามากมายมาสนับสนุนและคนญี่ปุ่นก็รู้ว่าจะหาสินค้าที่ออกแบบมาอย่างดีและราคาถูกมาไว้ใช้ได้จากต่างประเทศ
แคตาล็อกจากเมืองนอกจะมีสินค้าหลากหลายดีไซน์ให้เลือกและในแต่ละหน้าของแคตาล็อกจะมีแต่ของที่เห็นแล้วลูกค้าต้องน้ำลายสอกันทุกรายเพราะที่ญี่ปุ่นไม่มีขายกัน ในท้ายที่สุดอาจกล่าวได้ว่าทุกวันนี้การสั่งซื้อสินค้าเป็นการส่วนตัวจากต่างประเทศทำให้ลูกค้าสายเลือดซามูไรทั้งหลายพบหนทางใหม่ในการสนุกกับการใช้ชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|