|
ช็อกโกแลต-กัญชา
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
ความเหมือนที่แตกต่าง
แม้ขณะนี้จะยังไม่มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ใดพิสูจน์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์จะมีก็แต่เพียงความรู้สึกเท่านั้นที่เป็นมิเตอร์วัด แต่สำหรับผู้คนจำนวนเป็นล้านๆที่หลงใหลในรสชาติของช็อกโกแลตนั้นเสียงเรียกร้องต้องการ “โกดิว่า” หรือ “เฮอร์ซีย์’ส คิส” ดูจะดังกึกก้องโสตประสาทไม่ผิดอะไรกับไซเรนเตือนว่าจะมีการโจมตีทางอากาศปานนั้นไม่ใช่เพราะว่ารสชาติของ
ช็อกโกแลตเลิศเลอจนหาใดเสมอเหมือนได้ เพราะสำหรับคอป็อปคอร์นหรือแม้แต่คอพิซซ่าต่างยกย่องว่าอาหารทั้งสองตำรับล้วนอร่อยสุดๆแล้วสำหรับพวกเขา แต่สิ่งที่ต้องการจะบอกก็คือ ช็อกโกแลตไม่ได้ทำให้คนกินรู้สึกดีเฉพาะที่ปลายลิ้นสัมผัสเท่านั้น
จึงไม่น่าประหลาดใจแต่อย่างใดที่ปรากฏรายงานในหนังสือ “NATURE” ระบุว่าสารเคมีในช็อกโกแลตเป็นชนิดเดียวกับสารที่ไปกระตุ้นเซลล์ประสาทรับความรู้สึกที่พบในกัญชาในทางทฤษฎีแล้ว คุณจึงมีโอกาสที่จะเคลิบเคลิ้มได้หลังจากกินช็อกโกแลต เพียงแต่โอกาสที่ว่ามีน้อยกว่าการสูบกัญชาหลายเปอร์เซ็นต์อยู่ เนื่องจากสารในช็อกโกแลตจะทำปฏิกิริยาเพียงในบริเวณเล็กๆในสมองไม่เหมือน THC (TETRAHYDROCANNABINOL) ในกัญชา ฉะนั้นหากต้องการฝันหวานเหมือนการเสพกัญชา คุณจะต้องกินช็อกโกแลตรวดเดียวจบ 11 กิโลกรัมสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม
อย่างไรก็ดี การกระหายใคร่ได้กินช็อกโกแลตถือเป็นปรากฏการณ์ทางกายภาพอย่างชัดเจน ทว่ายังเร็วเกินไปที่จะอธิบายได้แน่ชัดว่ากระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างไร นักวิจัยของ NEUROSCIENCES INSTITUTE ในซานดิเอโก แคลิฟอร์เนีย กล่าวว่าบางทีอาจมีสารที่ไปกระตุ้นให้เกิดความอยากบริโภคช็อกโกแลตหรืออาจไปกระตุ้นอารณ์โดยตรงซึ่งอาจอธิบายได้ว่าเหตุใดคนที่กำลังว้าวุ่นในจิตใจจึงกระหน่ำกินช็อกโกแลตเป็นบ้าเป็นหลังขณะเดียวกันเราอาจตั้งความหวังในแง่ดีว่าอีกไม่นานอาจมีตัวยาใหม่รักษาอาการหดหู่ใจได้เป็นปลิดทิ้ง แต่ที่แน่ๆต่อนี้ไปผู้ที่คลั่งไคล้เหนียวแน่นในช็อกโกแลตคงสบายใจกันได้แล้วว่าอาการที่ว่าไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังจะเป็นประโยชน์ต่อจิตใจของตัวเองด้วยซ้ำ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|