|
อินเตอร์เน็ตจุดประกายนักธุรกิจเดินหน้าการค้าผ่านคอมพิวเตอร์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
นับเป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่นักธุรกิจต่างเฝ้าฝันถึงตลาดโลกที่ได้รับการย่นย่อลงมาเหลืออยู่แค่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนสร้างความสะดวกรวดเร็วสามารถติดต่อตอบโต้กันไปมาและยังสร้างเกราะป้องกันทางธุรกิจให้ทั้งกับผู้ประกอบการและลูกค้าอีกด้วย
บรรดานักธุรกิจต่างให้ทัศนะว่า การดำเนินธุรกิจโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือนี้นอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนแล้ว ยังช่วยลดงานเอกสารปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างที่ลูกค้าต้องการและยังช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้กับบริษัทอีกด้วย
ปัจจุบันหลายต่อหลายบริษัทได้ดำเนินการส่งใบสั่งซื้อ ใบส่งของและข้อมูลอื่นๆรวมทั้งโอนเงินผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า EDI (ELECTRONIC DATA INTER-CHANGE) เป็นกิจวัตรอยู่แล้ว
การดำเนินการค้าผ่านคอมพิวเตอร์เป็นการทำการค้าที่นักธุรกิจทั้งหลายไม่อาจจะปฏิเสธได้ ดังจะเห็นได้ว่าในแต่ละปีมีเช็คเงินผ่านเข้าออกในธุรกิจประเภทนี้มากกว่า 60 พันล้านดอลลาร์ในสหรัฐฯและไกก้า อินฟอร์เมชั่น บริษัทที่ปรึกษาและทำวิจัยการตลาดได้ประมาณไว้ว่า บริษัทสหรัฐต้องเสียเงินมากถึงประมาณ 250 พันล้านดอลลาร์หรือประมาณ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไปกับกระบวนการเอกสารทางการค้าทีเดียว
EDI เริ่มใช้มาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 แล้วและปัจจุบันก็ยังคงเป็นตอม่อหลักในธุรกิจผ่านระบบคอมพิวเตอร์อินพุท บริษัทวิจัยการตลาดระบุว่า ปีที่แล้วมีการใช้จ่ายเงินมากถึง 130 พันล้านดอลลาร์ทำธุรกิจผ่าน EDI และขณะนี้มีบริษัทมากกว่า 100,000 แห่งที่ใช้ EDI จัดการธุรกิจของตน
ทว่า การจะทำให้ EDI เติบโตไปมากกว่าเดิมยังติดขัดในหลายๆเรื่องไม่ว่าจะเป็นระบบที่ไปด้วยกันไม่ได้ การขาดมาตรฐานร่วมทั่วโลก ต้นทุนการบำรุงรักษาและการให้เช่าเครือข่ายส่วนบุคคลที่จัดทำขึ้นเพื่อผลด้านความปลอดภัยทางธุรกิจ
อย่างไรก็ตามขณะนี้การปรากฏตัวของอินเตอร์เน็ตและการยอมรับมาตรฐานของอินเตอร์เน็ตอย่างกว้างขวางประกอบกับการลดระเบียบและต้นทุนที่ดิ่งลงในภาคโทรคมนาคมได้กลายเป็นตัวจุดประกายความสนใจในการดำเนินธุรกิจผ่านอิเล็กทรอนิกส์ให้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง
การ์ตเนอร์ กรุ๊ป บริษัทให้คำปรึกษาด้านข้อมูลชี้ว่าขณะนี้ บรรดานักบริหารต่างมองการทำการค้าผ่านคอมพิวเตอร์เป็นหนทางในการขยายหรือหนทางใหม่ๆทางการตลาดการจัดจำหน่ายและช่องทางการจัดจำหน่าย
คิลเลน แอสโซซิเอตส์บริษัทให้คำปรึกษาและทำวิจัยในสหรัฐฯประเมินว่าการค้าผ่านคอมพิวเตอร์เติบโตประมาณ 16% ต่อปี และภายใน 5 ปีจะมีเงินหมุนเวียนในระบบนี้มากถึง 800 พันล้านดอลลาร์ทีเดียว
ส่วนในตลาดผู้บริโภคนั้นแม้ว่าการค้าผ่านคอมพิวเตอร์จะยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่การจับจ่ายสิ่งของในแบบเดิมๆและการสั่งซื้อทางจดหมายในระยะสั้นนี้ก็ตาม แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าการชอปปิ้งผ่านอินเตอร์เน็ตจะเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับการดำเนินการด้านอื่นๆทางอินเตอร์เน็ต
ดาตา มอนิเตอร์ บริษัทวิจัยในยุโรปชี้ถึงแนวโน้มที่ดีเมื่อไม่นานมานี้ว่า ภายในสิ้นทศวรรษนี้ เฉพาะชาวอังกฤษมากกว่า 800,000 ครัวเรือนจะควักกระเป๋าจับจ่ายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตมากถึง
332 ล้านฟรังก์ทั้งนี้ตลาดโฮมชอปปิ้งผ่านอินเตอร์เน็ตในยุโรป ซึ่งเพิ่งจะเกิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีเงินหมุนเวียน 1.25 พันล้านฟรังก์
เป็นที่น่าสังเกตว่าการเติบโตของการทำธุรกิจผ่านคอมพิวเตอร์นี้ เอื้อทั้งโอกาสและความเสี่ยงให้กับองค์กรหรือสถาบันที่ให้บริการด้านการเงินอินเตอร์เน็ตไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้แข่งขันเสนอบริการผ่านธนาคารให้ลูกค้าเท่านั้น แต่สถาบันการเงินเองก็สามารถเสนอบริการทางการเงินที่สะดวกสบายให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าต่างๆเองอีกด้วย
และปรากฏการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นก็เริ่มมีให้เห็นแล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถ บริษัทขายรถได้ยื่นข้อเสนอการให้บริการไฟแนนซ์แก่ลูกค้าเป็นจุดขายเพิ่มมากขึ้น
ในทางกลับกัน ธนาคารหลายแห่งก็เสนอให้บริการเสียเอง แทนที่จะเป็นบริษัทจำหน่ายรถหรือผู้ประกอบการอาทิ อินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนส แมชีนส์ในสหรัฐฯได้เปิดให้บริการใหม่โดยร่วมกับธนาคารเชส แมนฮัตตันในนิวยอร์ก
การให้บริการดังกล่าวใช้ระบบของไอบีเอ็ม โดยผู้ค้าและผู้ซื้อรถสามารถส่งแบบฟอร์มขอกู้เงินเพื่อซื้อรถยนต์ที่หาได้ตามโชว์รูมรถผ่านอินเตอร์เน็ตไปยังเชส ซึ่งเชสจะดำเนินการรับและส่งแบบฟอร์มกลับมาทางอินเตอร์เน็ตเช่นกัน โดยเสียเวลาเพียงไม่กี่นาที
ถ้าธนาคารอนุมัติเงินกู้ทางบริษัทขายรถก็สามารถตกลงลงนามและเสนอต่อธนาคารผ่านอินเตอร์เน็ตเช่นกันแล้วเงินกู้ก็จะได้รับการโอนผ่านคอมพิวเตอร์มายังบริษัทขายรถทันที แต่เดิมนั้นการดำเนินการตั้งแต่ยื่นแบบฟอร์มจนจบขั้นตอนการโอนเงินจะต้องเสียเวลาร่วม 10 วัน แต่บริการใหม่ที่อินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนสแมชีนส์ร่วมกับเชสแมนฮัตตันนี้ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|