S’FARE เปิดคอลเลกชั่นใหม่เสื้อผ้าเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ในยุคที่ผู้คนห่วงใยสุขภาพมากขึ้น นอกจากโรงพยาบาลจะเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดแล้ว สินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพก็ทยอยกันออกมาอวดโฉมเป็นทิวแถว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนอน หมอน เครื่องสำอาง เครื่องอุปโภค บริโภคเช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟันฯลฯ เรียกว่าในชีวิตประจำวันหากจะถนอมรักษาสุขภาพกันสุดๆก็มีสินค้าให้เลือกใช้กันอย่างครบครัน เพียงแต่ว่าเมื่อได้สิ่งที่ดีกว่า ปลอดภัยกว่าราคาก็ย่อมจะสูงกว่าด้วยเป็นธรรมดา

ปัจจุบันแฟชั่นเพื่อสุขภาพจึงเกิดขึ้นอย่างหนาตาและมิได้รอดพ้นไปจากสายตาของ ทวีวัฒน์ ตติยมณีกุล ประธานบริหาร บริษัท เอส.เค.การ์เม้นท์ (1995) จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “S’FARE” เขาได้ออกมาแนะนำคอลเลกชั่นใหม่ภายใต้ชื่อว่า “S’FARE CASUALIST” รุ่น “GREEN-TEX COLLECTION” ซึ่งเป็นเสื้อผ้าเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมรายแรกของไทยที่ได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพสินค้าปลอดสารพิษและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์

“เสื้อผ้าของเราผลิตด้วยกระบวนการผลิตแบบธรรมชาติที่เรียกว่าไบโอพลัส (BIO PLUS) โดยมีแนวคิดสำคัญที่ว่าจะไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษและพยายามจะไม่ใช้สารเคมีใดๆเลย หากจำเป็นต้องใช้ก็จะใช้ในปริมาณที่น้อยที่สุด” ทวีวัฒน์กล่าว

โรคภูมิแพ้ทางผิวหนังและลมหายใจ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากสารฟอร์มัลดีไฮด์และสารโลหะหนัก เช่นสีย้อมอะโซ ซึ่งหากสารเหล่านี้สะสมในร่างกายมากๆอาจมีแนวโน้มเป็นโรคมะเร็งได้ในระยะยาว ซึ่งประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนีให้ความสำคัญค่อนข้างมาก

การทำตลาดในประเทศ S’FARE มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายในระดับกลางถึงบน เนื่องจากสินค้ามีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งในขั้นเปิดตัวนี้ก็มีสินค้าให้เลือกหลากหลายไม่ว่าจะเป็นชุดทำงาน ชุดลำลองหรือกระทั่งชุดกีฬา

แต่หากมองกันดีๆแล้วการปรับตัวของ S’FARE ครั้งนี้มุ่งไปที่การขยายตัวในตลาดโลกด้วย เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยมีต้นทุนค่อนข้างสูง ทั้งวัตถุดิบและค่าแรง ขณะที่สิ่งทอในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะจีน อินโดนีเซีย อินเดียและเวียดนาม ซึ่งมีต้นทุนต่ำได้เข้ามาแย่งตลาดส่งออกจำนวนมากจนผู้ประกอบการสิ่งทอไทยหายใจไม่ทั่วท้องไปตามๆกัน

หนทางที่จะอยู่รอดได้ในยามนี้ นอกจากพยายามลดต้นทุนทุกชนิดแล้ว ผู้ผลิตยังพยายามที่จะยกระดับสินค้าของตนให้มีคุณภาพสูงขึ้นเพื่อให้มีสถานะในการแข่งขันที่ดีขึ้นด้วย

ภายหลังข้อตกลงเรื่องสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภายใต้ GATT เริ่มมีผลบังคับใช้โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดเสรีภายใน 10 ปี (2538-2548) ซึ่งทำให้ประเทศผู้นำเข้าที่เคยมีระบบโควตาต้องค่อยๆยกเลิกระบบดังกล่าวอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เช่น การลดอัตราภาษีนำเข้าและยกเลิกมาตรการกีดกันอื่นๆและดำเนินนโยบายทางการค้าอย่างเป็นธรรมในเรื่องการทุ่มตลาด การอุดหนุนการค้าส่งออกและการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

ข้อตกลงดังกล่าวทำให้ประเทศพัฒนาแล้ว เช่นสหรัฐ เยอรมนี ญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งเป็นตลาดนำเข้ารายใหญ่ของโลกจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากปัญหาเรื่องต้นทุนกรผลิตภายในประเทศและการแข่งขันจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามระบมาตรฐานสินค้าจะกลายเป็นระบบหนึ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการนำเข้าสินค้าในหลายๆอุตสาหกรรม ซึ่งในส่วนของสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเองก็จำเป็นที่จะต้องมี ISO 14000 เป็นตัวรับประกันว่มีระบบการจัดการมาตรฐานสิ่งแวดล้อมแล้ว

มาตรฐาน ISO 14000 นี้มีเงื่อนไขสำคัญ 3 ประการคือ ขบวนการผลิตต่างๆจะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (Production ecology) สินค้านั้นต้องไม่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค (Human ecology) และสินค้าหลังใช้แล้ว เมื่อเป็นขยะจะต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อไป (Disposal ecology)

นี่เองเป็นเหตุผลสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ S’FARE พยายามยกระดับคุณภาพสินค้าดดยเน้นเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

ทวีวัฒน์ กล่าวถึงสินค้าคอลเลกชั่นใหม่ของตนว่าเป็นผ้าที่ผลิตจากใยฝ้าย 100% ซึ่งเป็นใยธรรมชาติผลิตโดยใช้หลักธรรมชาติและปลอดภัยจากสารเคมีเป็นพิษตกค้าง ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดอาการแพ้ และไม่ส่งผลเสียต่อสภาวะแวดล้อม

เขาเชื่อว่า GREEN-TEX COLLECTION นี้จะได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมพอสมควรและจะเป็นผลดีต่อบริษัทในระยะยาวต่อไปเมื่อผู้คนหันมาให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.