|
สันติ สามัคคี สร้างสรรค์ แนวทางสืบสานเจตนารมณ์ของชาว 6 ตุลา
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2539)
กลับสู่หน้าหลัก
20 ปีถือว่าเป็นตัวเลขที่นานพอสมควรสำหรับการครบรอบเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก่อนหน้านี้มีการจัดงานทำบุญอย่างสม่ำเสมอทุกปีที่ธรรมศาสตร์ คนก็ทราบข่าวบ้างไปบ้างไม่ไปบ้าง อีกอย่างหนึ่งคือยังไม่มีการรำลึกเหตุการณ์นี้อย่างรอบด้าน ทั้งในด้านการศึกษาค้นคว้า การสอบถามว่ามีใครสูญหายตากจากบ้างจากเหตุการณ์นั้น การรวบรวมประวัติศาสตร์บอกเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ การที่จะฟื้นฟูจิตใจของคนหนุ่มสาวเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันก็เป็นคนวัยกลางคนแล้ว ไม่ได้มีการกระทำสิ่งเหล่านี้มาในอดีต เพราะฉะนั้น 20 ปีเป็นโอกาสที่ดี
ความคิดเรื่องการจัดงานรำลึกฯครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้วที่ครบรอบ 19 ปีว่าควรมีการทำอะไรสักอย่างในวาระครบรอบ 20 ปี ดังนั้นการจัดงานปีนี้จึงมีเวลาเตรียมตัวมากเป็นปี ได้มีการพบปะพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ การอภิปราย จดหมายเวียนในหมู่ชาว 6 ตุลา กระทั่งได้ตกผลึกความคิดเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา
การจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลาในปีนี้มีจุดมุ่งหมายตามคำขวัญที่ได้จากการระดมความคิดดังกล่าวว่า ปณิธาน 6 ตุลาคือยากให้สังคมไทยมีความสามัคคีและมีการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี เพื่อที่จะเสนอว่า 20 ปีผ่านไปภาพต้องเป็นตรงกันข้ามกับเมื่อ 20 ปีก่อน
เมื่อ 20 ปีก่อนคนไทยเราแตกความสามัคคีกันมาก เราใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหาทางสังคมทำให้เกิดความสูญเสีย ความโศกเศร้า
20 ปีผ่านไปแล้วเราสรุปบทเรียนว่ารำลึกเดือนตุลานั้นหมายถึงการฟื้นฟูความสมัครสมานสามัคคีและการสนับสนุนส่งเสริมแนวทางสันติวิธี
นอกจากนี้คณะกรรมการฯยังได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อการรำลึกอย่างรอบด้านโดยมีการศึกษาดูประวัติศาสตร์และมองไปข้างหน้า ซึ่งผลงานการศึกษานี้จะมีการนำเสนอในงานรำลึกที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5-6 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผลงานวิชาการที่ศึกษาครั้งนี้มี 3 เรื่องคือ 1. สรุปบทเรียน 6 ตุลาจากคำบอกเล่า 2. ความทรงจำและการหลงลืมกรณี 6 ตุลา 3. บทวิเคราะห์ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในสังคมไทย โดยทีมงานวิจัยจะเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหลัก
นอกจากนี้จะมีการรวบรวมรายละเอียดว่าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกิดอะไรขึ้นบ้าง มีใครเสียชีวิตบ้าง ติดต่อญาติของผู้เสียชีวิต ซึ่งจะมีการจัดงานอุทิศส่วนกุลศลให้พวกเขาเป็นครั้งใหญ่ โดยนิมนต์พระ 106 รูปและมีพิธีกรรม มีการวางดอกไม้ การสร้างโบสถ์จำลองถึงผู้ที่เสียชีวิตเหล่านั้น
งานอีกด้านหนึ่งที่จะเป็นการมองไปสู่อนาคตคือพยายามวางแผนงานสร้างอนุสรณ์สถาน ซึ่งเรื่องนี้ก็มีความยินดีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นด้วยในการที่จะสร้างเป็นอนุสรณ์สถานภายในบริเวณมหาวิทยาลัยได้ แต่งานนี้เป็นงานใหญ่ ซึ่งงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลาในปีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น หลังเสร็จงานนี้เราก็จะหันมาจับงานสร้างอนุสรณ์สถานให้เป็นจริงเป็นจังต่อไป
บทเรียนจาก 6 ตุลาทำให้เราคิดว่าน่าจะมีการสร้างการเมืองใหม่ที่เป็นระบบการเมืองที่ดีและมีผู้นำทางการเมืองที่ดี เพื่อที่จะได้ไม่ให้ซ้ำกับความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสังคมไทย
ผมมองว่าเหตุการณ์ 6 ตุลามีลักษณะต่างจากเหตุการณ์อื่นๆอยู่พอสมควร อย่างน้อยก็ 2 ด้านคือ
1. การใช้สื่อสารมวลชนโหมกระพือความเกลียดชัง ซึ่งผลที่ตามมาคือความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความรุนแรงเฉพาะระหว่างผู้มีอาวุธกับประชาชนที่ชุมนุมประท้วง แต่เป็นความรุนแรงที่เกิดจากฝูงชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไปกระทำต่อผู้ชุมนุมประท้วง เหตุการณ์ครั้งอื่นๆเช่น 14 ตุลาหรือ พฤษภา’35 เกิดระหว่างผู้ถืออาวุธกับผู้ประท้วงมันไม่มีลักษณะที่ว่าไปปลุกความเกลียดชังจนเกิด พูดง่ายๆคือฝูงชนด้วยกันเองใช้ความรุนแรงต่อกัน
2. เหตุการณ์อื่นๆเราพูดถึงได้อย่างเต็มปากเต็มคำ สังคมยอมรับว่า 14 ตุลาและพฤษภา’35 เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ 6 ตุลานั้นสังคงยังสับสนอยู่ว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นดีแล้วที่ถูกปราบหรือว่าเป็นเรื่องที่เกิดความแตกแยกทางความคิดหรือว่าถ้าคิดไปอีกสุดข้างหนึ่งก็คือเป็นเรื่องที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมต้องการจะโค่นล้มทั้งรัฐบาลและนิสิตนักศึกษา เลยวางแผนจะดำเนินการจนประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจรัฐ
เวลาที่ผ่านไป 20 ปีตัวบุคคลที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ก็ไม่ใช่ว่าเสียชีวิตไปทั้งหมด ยังมีชีวิตอยู่ ระยะเวลาได้ช่วยให้เกิดการมองที่อาจจะลดทิฐิลดอารมณ์ความยึดติดอะไรต่างๆลงไปบ้าง ในแง่ของอดีตนักศึกษาก็เป็นโอกาสทบทวนว่าสิ่งที่ผ่านไปนั้นมีอะไรที่เป็นสิ่งดีงาม มีอะไรที่เป็นส่วนผิดพลาดในทำนองเดียวกันผมก็คิดว่าผู้ที่อยู่อีกฝ่ายหนึ่ง ผู้ที่ใช้สื่อสารมวลชนโหมกระหน่ำสร้างความเกลียดชัง ไม่ทราบว่าจะใช้เวลาที่ผ่านไป 20 ปีทบทวนฟื้นฟูความทรงจำ สรุปบทเรียนอย่างที่ฝ่ายนักศึกษาหรือฝ่ายเรากำลังทำอยู่หรือไม่ ควรเป็นวัยที่น่าจะได้ทบทวนดูแล้ว
สังคมยังมองเหตุการณ์ 6 ตุลาด้วยความสับสนและไม่เข้าใจ ถึงเวลาแล้วที่ต้องทำความเข้าใจมันเป็นบทเรียนที่เจ็บปวด แต่หากเราทำความเข้าใจกับบทเรียนที่เจ็บปวด มันก็ดีกว่าทำเป็นไม่รับรู้และดีกว่าแน่ๆกับการที่จะเอาเหตุการณ์นั้นมาบิดเบือนตอกย้ำถึงความเจ็บปวดต่างๆ
ผมยกตัวอย่างกรณีประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งเพิ่งเลิกระบบแบ่งแยกผิวไปเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมาเขาได้ตั้งกรรมาธิการชุดหนึ่งชื่อคณะกรรมาธิการเพื่อความจริงและการคืนดี มีสาธุคุณเอสมอนด์ ตูตูเป็นประธานฯเป็นโอกาสที่ทั้งฝ่ายอดีตรัฐบาลของคนผิวขาวและผู้นำของสภาครองเกรสแห่งชาติแอฟริกันได้มาพูดว่าตนเองได้อะไรผิดพลาดไปบ้างในอดีต ได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทั้ง 2 ฝ่าย แน่นอนฝ่ายรัฐบาลผิวขาวละเมิดมากกว่า แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็มีการละเมิดเหมือนกัน ก็มาพูดกันโดยหวังว่าความขมขื่นต่างๆเมื่อมีการพูดและทำความเข้าใจก็จะยอมรับได้ และชีวิตในอนาคตต่อไปจะดีขึ้น
การจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลาครั้งนี้อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้นอันหนึ่ง ผมไม่ทราบว่าเราจะก้าวไปอย่างแอฟริกาใต้ได้มากน้อยแค่ไหน แต่เท่าที่ผมฟังในเวลานี้ ผมก็รู้สึกว่าคนหนุ่มสาวในอดีตมาถึงตอนนี้เขาก็ค่อนข้างจะมองปัญหาได้ลึกซึ้งมากขึ้น และความรู้สึกขุ่นข้องแค้นเคืองในอดีตก็ลดทอนลงไปมากพอสมควร อีกนิดหนึ่งก็คงสามารถให้อภัยได้ หรือบางคนก็ได้ให้อภัยไปแล้วและก็มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาเหมือนกันและเท่าที่ผมฟังดูมันก็มีข้อผิดพลาดของฝ่ายนิสิตนักศึกอยู่
ผมว่ามันเป็นการก้าวไปในทิศทางที่ผมเห็นด้วย แต่ที่ว่ายังก้าวไปไม่ไกลเหมือนแอฟริกาใต้ เพราะหลายคนที่เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐและใช้สื่อสารมวลชนก็ดี เขาเหล่านั้นอาจจะยังไม่พร้อมและเราไม่มีโอกาสที่จะได้พูดคุยกับเขาเท่าที่ควร ไม่ทราบว่าในปีนี้จะเป็นจุดเริ่มได้หรือไม่ ถ้ามาทำความเข้าใจกันมากขึ้นก็เป็นเรื่องที่ดี แต่มีความจำเป็นก่อนที่ทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับว่าอะไรคือสัจธรรม อะไรคือข้อเท็จจริง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|