|
ประกันภัยแข่งเดือดบีบควบกิจการเมืองไทยฯ ดิ้นปรับตัวรับการแข่งขัน
ผู้จัดการรายวัน(30 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
คาดธุรกิจประกันภัยแข่งเดือด บีบผู้ประกอบการในธุรกิจต้องควบรวมกิจการ เพื่อรองรับการแข่งขันและสร้างความแข็งแกร่งให้สถานะทางการเงิน ขณะที่ "เมืองไทยประกันภัย" เร่งปรับตัวรองรับการแข่งขัน เตรียมเข็นโปรดักต์ใหม่อีก 2 ตัว เข้ามาขย่มตลาด หลังผลักดันเบี้ยประกันภัยรับเพิ่มเป็น 1.7 พันล้านบาท
นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มการแข่งขันธุรกิจประกันภัยในอนาคตคาดว่าจะมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น และคาดว่าจะทำให้บริษัทประกันภัยที่มีอยู่กว่า 78 บริษัทในปัจจุบัน ต้องปรับตัวรองรับการแข่งขันด้วยการควบรวมกิจการกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการเงินรองรับการเปิดเสรีธุรกิจประกันในอนาคต
สำหรับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจประกันของผู้บริโภคในปัจจุบัน เริ่มมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดยังมีโอกาสขยายตัวได้อีก ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้บริษัทแต่ละแห่งต่างเร่งทำตลาด และนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาในตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น
ส่วนพอร์ตการลงทุนของบริษัทเมืองไทยประกันภัย ในปัจจุบันมีประมาณ 1,600 ล้านบาท ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินระยะสั้น หุ้น โดยสัดส่วนการลงทุนในหุ้นบริษัทให้น้ำหนักประมาณ 20% ของพอร์ตการลงทุน
นางสาวนวลพรรณกล่าวว่า หุ้นที่บริษัทให้น้ำหนักการลงทุนในสัดส่วนสูงส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง มีอัตราผลตอบแทน สูง และที่สำคัญต้องมีสภาพคล่อง มีธรรมาภิบาล มีค่าราคาหุ้นต่อกำไร (พี/อี) ต่ำ และมีการจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันบริษัทถือหุ้นอยู่ 35 หลักทรัพย์ และสามารถจ่ายปันผลให้แก่บริษัทได้ทั้งหมด
สำหรับแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลัง เมืองไทยประกันภัยเตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ 2 แบบสู่ตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการ ของลูกค้าที่มีความหลากหลายในปัจจุบัน ซึ่งประกอบด้วยกรมธรรม์แบบ Baby D&O (Director's and Officer's Liability Insurance) ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดชอบสำหรับกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเป็นบริษัทที่มีขนาดสินทรัพย์รวมไม่เกิน 300 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเน้นออกเป็นแพกเกจสำเร็จรูปออกมาเสนอขาย
นางนวลพรรณกล่าวว่า สาเหตุที่ออกกรมธรรม์แบบ Baby D&O เนื่องจากบริษัทมองว่าในอนาคตจะมีบริษัทที่เกิดขึ้นใหม่ที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น อีกทั้งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ประสบความสำเร็จในการขยายงานการประกันภัยความรับผิดชอบสำหรับกรรมการและ เจ้าหน้าที่บริหาร (D&O) ซึ่งลูกค้าที่ทำประกัน D&O กับบริษัท ล้วนแต่เป็นลูกค้าที่เป็นสถาบันการเงิน หรือบริษัทมหาชนที่มีขนาดสินทรัพย์รวมประมาณ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งบริษัทมีช่องทางที่จะขยายตลาดสำหรับการประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหารสำหรับบริษัทเหล่านี้
นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ SME's Comprehensive Shop-owners เป็นการประกันภัยร้านค้าที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ โดยจะคุ้มครองทั้งความเสียหายในทรัพย์สิน ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเสียหาย ตลอดจนชดใช้ค่าเช่าสถานที่ประกอบการชั่วคราว ความรับผิดตามกฎหมายของเจ้าของร้านต่อบุคคลภายนอก และความรับผิดชอบของนายจ้างที่มีต่อลูกจ้าง อย่างไรก็ตามบริษัทคาดว่าจะมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ทั้งสองแบบไม่เกิน 10 ล้านบาท
"ในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายธุรกิจจะขยายตัวประมาณ 17% หรือมีเบี้ยประกันภัยรับ 1,700 ล้าบาท จากในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีกำไรถึง 103.97 ล้านบาท ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นระยะเดียวกันปีก่อนถึง 70% อย่างไรก็ตามบริษัทยังตั้งเป้าหมายจะเพิ่มสำนักงานตัวแทนให้ได้ 115 สาขา จากปัจจุบันที่มีอยู่ 101 สาขา โดยจะเน้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคใต้เป็นหลัก และจะพัฒนาตัวแทนขายของบริษัทร่วมกับบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต ทั้งนี้เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายขึ้น" นางนวลพรรณกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|