|
"ปล่อยผี" สินค้าปรับราคา น้ำปลาขอขึ้นพรวด 5 บาท
ผู้จัดการรายวัน(30 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
พาณิชย์ปล่อยผีเอกชนปรับขึ้นราคาสินค้า ไฟเขียวแค่กลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ ย้ำปรับราคาเป็นขั้นบันได ขึ้นราคาหน้าโรงงานและราคาขายส่งได้ แต่ราคาจำหน่ายปลีกคงเดิม ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบหลักในประเทศขอให้ตรึงราคาต่อ 3 เดือน ด้านเอกชนโวยลั่นอั้นไม่ไหวแล้ว หมวดอาหารน้ำปลาขอขึ้น 5 บาท กระดาษขอขึ้น 10% ปูนซีเมนต์อ้างต้นทุนเพิ่ม 30% อาหารสัตว์ กระจก น้ำมันพืช และปลากระป๋องยอมกัดฟันร่วมมือ
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเรียกผู้ผลิตสินค้าเข้าหารือเพื่อขอความร่วมมือในครั้งนี้ก็เพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมือจากผู้ผลิตสินค้าทั่วประเทศที่มีอยู่ 4 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 สินค้าที่รับผลกระทบจากวัตถุดิบนำเข้า อัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง จะใช้มาตรการให้ทยอยปรับราคาได้แบบขั้นบันได 2. สินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก มาตรการขอความร่วมมือตรึงราคาอีก 3 เดือน (1 ก.ค.-30 ก.ย. 48) 3. สินค้าที่ใช้วัตถุดิบทั้งภายในและนำเข้าจากต่างประเทศ มาตรการให้ปรับราคาหน้าโรงงาน/ราคาขายส่งได้ ราคาจำหน่ายปลีกคงเดิม และ 4. กลุ่มสินค้าหมวดอาหารสด และสินค้าที่หน่วยงานอื่นดูแลรับผิดชอบ มาตรการติดตามความเคลื่อนไหวราคา/เข้มงวดปิดป้ายไม่ให้ฉวยโอกาส
สำหรับกลุ่มที่ 1 เป็นสินค้าที่รับผลกระทบจากวัตถุดิบนำเข้า อัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม คือ นมผง แป้งสาลี หมวดของใช้ประจำวัน ได้แก่ ผงซักฟอก น้ำยาซักฟอก แป้งผงโรยตัว ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมสำเร็จรูป น้ำยากำจัดยุงและแมลง น้ำยาชำระล้าง น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยารีดผ้า ยาสีฟัน แชมพู หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุกเล็ก รถจักรยานยนต์ หมวดวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กแผ่น (รวมสเตนเลส) เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ตะปู อลูมิเนียมเส้นหน้าตัด สายไฟฟ้า ไม้อัด ท่อพีวีซี สังกะสี หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันหล่อลื่น แก๊สหุงต้ม เม็ดพลาสติก หมวดยารักษาโรค ได้แก่ ยารักษาโรค หมวดปัจจับทางการเกษตร ได้แก่ ปุ๋ย ยาป้องกันหรือยากำจัดศัตรูพืช รถไถเดินตาม รถแทรกเตอร์ หมวดทั่วไป ได้แก่ รองเท้านักเรียน โทรศัพท์เคลื่อนที่ บัตรเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่
ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ที่ขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าต่อ 3 เดือน คือ สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำส้มสายชู น้ำปลา เส้นหมี่อบแห้ง วุ้นเส้น น้ำดื่มบรรจุภาชนะผนึก น้ำมันพืช (ปาล์ม) น้ำอัดลม ปลากระป๋อง กาแฟผลสำเร็จรูป น้ำแข็ง ชาสำเร็จรูปพร้อมดื่มบรรจุภาชนะผนึก น้ำตาลทราย หมวดของใช้ประจำวัน ได้แก่ สบู่ แปรงสีฟัน หมวด กระดาษและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สมุดนักเรียน หมวดวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ ปูนซีเมนต์ กระเบื้องปูพื้น ปูผนัง กระเบื้องมุงหลังคา อิฐมวลเบา อิฐมอญ กระจก คอนกรีตบล็อก หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ ถุงพลาสติก ตาข่ายกรองแสง หมวดปัจจัยทางการเกษตร ได้แก่ อาหารสัตว์ หมวดอื่นๆ ได้แก่ เครื่องแบบนักเรียน แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ คอมแพกดิสก์ อย่างไรก็ตามหากผู้ประกอบการรายใดได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และต้องการขอปรับราคาให้ยื่นหลักฐานแสดงต้นทุนต่อกรมการค้าภายใน
ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบทั้งในประเทศและนำเข้า ให้ปรับราคาขายส่งได้ แต่ราคาจำหน่ายปลีกคงเดิม ได้แก่ สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม คือ น้ำนมถั่วเหลือง นมเปรี้ยว อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก น้ำซีอิ๊ว ซอสถั่วเหลือง นมข้นหวาน ครีมเทียมข้นหวาน ผงชูรส นมสด น้ำมันพืชถั่วเหลือง หมวดของใช้ประจำวัน ได้แก่ ถ่านไฟฉาย หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษปรู๊ฟ หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า หลอดไฟฟ้า พัดลม หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ตู้เย็น โทรทัศน์ เตารีด กระติกต้มน้ำไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น ไมโครเวฟ หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง รถจักรยาน ฟิล์มกรองแสง ยางรถ แบตเตอรี่ หมวกนิรภัย หมวดวัสดุก่อสร้าง สีทาบ้าน แท็งก์น้ำ-ถังเก็บน้ำ กระดาษเหนียว กระดาษทำลูกฟูก หมวดปัจจัยทางการเกษตร เครื่องสูบน้ำ จอบ หมวดทั่วไป ได้แก่ เครื่องปั๊มน้ำ
ทั้งนี้ ในกลุ่มสินค้ากลุ่ม 1 และ กลุ่ม 3 หากจะขอปรับราคาต้องชี้แจ้งต้นทุนย้อนหลัง 2 ปี จะพิจารณาให้ตามความเหมาะสม และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
เอกชนยันแบกรับภาระไม่ไหว 3 เดือน
ด้านผู้ผลิตสินค้าที่อยู่ในกลุ่ม 2 สินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก ที่กระทรวงพาณิชย์ ขอความร่วมมือตรึงราคา 3 เดือน ที่เข้าร่วมหารือกับกระทรวงพาณิชย์กว่า 120 ราย เช่น นายสันติ สันติเวชวุฒิกุล นายกสมาคมโรงงานผลิตน้ำปลาแห่งประเทศไทย กล่าวว่าทางสมาคมไม่อาจแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ในการขอความร่วมมือของภาครัฐที่จะให้ตรึงราคาสินค้าต่อไปอีก 3 เดือน เพราะต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะวัตถุดิบปลาไส้ตัน ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปี 46 ราคา 5.50 บาท/กก. ปี 47 ราคา 6 บาท/กก. และปีนี้ ราคากลับเพิ่มขึ้น 8 - 10 บาท/กก. เนื่องจากวัตถุดิบขาดแคลน ขณะที่ต้นทุนตัวบรรจุภัณฑ์ เช่น ฝาจุกขวด ขึ้น 50 สต./อัน และขวดบรรจุ ขึ้น 1 บาท/ขวด มีราคาปรับตัวขึ้น ดังนั้นทางสมาคมฯ จึงทำหนังสือขอปรับราคาไปยังกรมฯ โดยขอปรับราคาขึ้น 10-20% เป็นอย่างน้อย หรือหากคิดเป็นราคาขายน้ำปลาต่อขวดคือ 5 บาท/ขวด
"เดือนกว่าแล้วที่ทางสมาคมทำหนังสือถึงกรมการค้าภายในเพื่อขอปรับราคา ชี้แจงโครงสร้างต้นทุน การผลิตย้อนหลัง 2 ปี แต่กรมฯก็พยายามขอข้อมูลจากหลายฝ่าย เพื่อมาเปรียบเทียบ ซึ่งพูดจริงๆ ทางเราก็รู้สึกอึดอัดที่ไม่สามารถปรับราคาได้ เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหวจริงๆ" นายกสมาคมโรงงานผลิตน้ำปลาแห่งประเทศไทยกล่าว
นาวาโทหญิงวรรณพร มาศเกษม นายกสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม กล่าวว่าปัญหาสำคัญของผู้ผลิตที่ต้องแบกภาระต้นทุนสูงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับราคาขายกับห้างสรรพสินค้าต่างๆ ได้ เพราะกระทรวงพาณิชย์กำชับไปกับห้างฯ ว่า หากผู้ผลิตจะขอปรับราคาต้องมีหนังสือจากกระทรวงพาณิชย์ แต่ราคาที่ผู้ผลิตขอปรับขึ้นกับห้างสรรพสินค้าก็อยู่ในเพดานที่ทางกรมการค้าภายในกำหนดแต่ไม่สามารถปรับราคาได้
"ตอนนี้ผู้ผลิตแข่งกันขายสินค้าต่ำกว่าราคาต้นทุน และราคาควบคุมที่ทางกระทรวงพาณิชย์กำหนดเสียอีก แต่พอจะขอปรับราคาบ้างก็ไม่ได้" นายกสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์มกล่าว
ด้านตัวแทนผู้ประกอบการผลิตปูนซีเมนต์รายหนึ่งกล่าวว่า ต้นทุนในการผลิตปูนซีเมนต์กว่า 70% จากค่าพลังงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20% มาจากค่าเชื้อเพลิง เช่น ถ่านหินลิกไนต์ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า(ค่า FT) ที่ต้นทุนสูงขึ้น 8% ของต้นทุนในการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนราคาน้ำมันดีเซลนั้นแม้จะไม่กระทบการผลิตปูนซีเมนต์โดยตรงแต่จะกระทบต่อตัวแทนรับเหมาจัดจำหน่าย และผู้ใช้ที่อยู่ปลายทาง ผู้ผลิตกระดาษจ่อคิวขอขึ้น 5-10%
ขณะที่ผู้ผลิตกระดาษก็เตรียมยื่นหนังสือโครงสร้างต้นทุนย้อนหลัง 2 ปีขอปรับราคาเพิ่มขึ้น 5 -10% ด้านผู้ผลิตกระจก รายหนึ่งกล่าวว่าต้นทุนหลักในการผลิตคือ พลังงานเป็นหลัก และวัตถุดิบที่จำเป็นต้องนำเข้าที่ทางกลุ่มได้รับผลกระทบ แต่ก็ยินดีปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ แต่คงจะไม่ขึ้นราคาได้แค่ 6 เดือนข้างหน้าเท่านั้น พร้อมกับพยายามใช้มาตรการอย่างอื่นเข้ามาช่วยเพื่อให้อยู่รอดทางธุรกิจ ได้ เช่น การขอลดหย่อนภาษีเป็นกลุ่มธุรกิจของบริษัทแม่
"เราเป็นห่วงราคาขายปลายทางมากกว่า ที่ผู้ใช้ผู้จำหน่ายในราคาขนส่ง ทางผู้ใช้และลูกค้าเป็นคนรับภาระตรงนี้ไป" ผู้ผลิตกระจกรายหนึ่งกล่าว
ส่วนตัวแทนอาหารสัตว์ กล่าวว่าแม้ทางกลุ่มจะให้ความร่วมมือแก่ภาครัฐ แต่ถ้าหากสินค้าเกษตร ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น เช่น กากถั่วเหลือง ทางกลุ่มก็อาจจะขอปรับราคาขายตามไปด้วย
ส่วนผู้ผลิตปลากระป๋องรายหนึ่งกล่าวด้วยว่า ต้นทุนเฉลี่ยไม่กระทบมากนัก พร้อมให้ความร่วมมือ แต่หากต้นทุนหลักที่เป็นเหล็กราคาปรับขึ้นก็ต้องพิจารณาและหารือกันอีกครั้ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|