|
"สุวิทย์" เชื่ออี-กัฟเวิร์นเมนต์เสร็จ ยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่ม 20 ล้าน
ผู้จัดการรายวัน(30 มิถุนายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"สุวิทย์" ผลักดันให้หน่วยงานราชการมีการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ยันโครงข่ายที่เข้าถึงพร้อมทุกหน่วยงาน แต่ผู้ใช้ขาดทักษะ เชื่อหากโครงการอี-กัฟเวิร์นเมนต์เสร็จสมบูรณ์ ข้าราชการ 20 ล้านคน จะต้องใช้เน็ต ด้านเอชพีและอีเอสอาร์ไอมอบระบบไอทีหนุนโครงการเนชันแนล จีไอเอส พอร์ทัล มูลค่ากว่า 29 ล้านบาท พัฒนาเป็นฐานข้อมูลสำหรับภาครัฐ ขณะที่นายกฯ จี้โครงการสมาร์ทการ์ด
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงแผนการดำเนินการเกี่ยวกับระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-กัฟเวิร์นเมนต์ ว่า ในอีก 1-2 ปี ระบบ อี-กัฟเวิร์นเมนต์เชื่อว่าน่าจะดีขึ้น 100% เพราะไทยเริ่มจากทีละน้อย และหาก ระบบนี้เสร็จสมบูรณ์จะทำให้ข้าราชการที่มีประมาณ 20 ล้านคนใช้อินเทอร์เน็ต เนื่องจากมีระบบบริหารจัดการแบบออนไลน์ ข้าราชการทุกส่วนต้องการใช้ต้องปฏิบัติตาม
ด้านโครงข่ายของระบบไอทีที่เข้าถึงหน่วยงานราชการขณะนี้พร้อม แต่ยังขาดการส่งเสริมให้มีการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลพยายามผลักดันในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝึกอบรม แต่ข้าราชการก็ยังไม่มีการนำมาใช้งานอย่างเต็มที่
เกตส์ สนใจไอซีทีไทยแลนด์อไลอัลซ์
ส่วนการเดินทางมาประเทศไทยของนายบิลล์ เกตส์ ประธาน บริษัท ไมโครซอฟท์นั้น นายสุวิทย์กล่าวว่า การเดินทางมาไทยของบิลล์ เกตส์ถือให้ความสำคัญกับประเทศไทยแล้ว และการเข้ามาของเกตส์เพราะเห็นว่าไทยมีการพัฒนาในเรื่องของอุตสาหกรรมไอซีที มีอี-ไทยแลนด์ และให้ความสนใจในหลายๆ โครงการ เช่น โครงการไอซีที ไทยแลนด์ อไลอัลซ์ หรือพันธมิตรในการร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีที เป็นต้น ซึ่งไมโครซอฟท์ต้องการที่จะเข้ามามีบทบาทในเรื่องดังกล่าว
การพัฒนาไอซีทีจะทำให้ภาครัฐและเอกชนเกิดการขับเคลื่อนองค์กรมากขึ้น จากเดิมต่างฝ่ายต่างทำ ถ้ามีพันธมิตรและมีการเชื่อมต่อระบบจะทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น รัฐบาลมีอี-เซอร์วิสมากขึ้น ซึ่งทางเอกชนซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติเองก็ให้ความสนใจในเรื่องของการพัฒนาไอซีที ไม่ว่าจะเป็นฮิวเลตต์-แพคการ์ด (เอชพี) ไมโครซอฟท์ ซัน ไมโครซิสเต็มส์ หรือออราเคิล
จัดระบบฐานข้อมูลภาครัฐ
พร้อมกันนี้ กระทรวงไอซีทีได้รับมอบระบบไอทีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จากเอชพี (ประเทศไทย) และบริษัท อีเอส อาร์ไอ (ประเทศไทย) มูลค่ากว่า 29 ล้านบาท เพื่อใช้งานในโครงการภูมิสารสนเทศสำหรับศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (เนชันแนล จีไอเอส พอร์ทัล) เพื่อให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลด้านภูมิศาสตร์ประเทศไทยที่ครบถ้วนทันสมัย และทันต่อสถานการณ์ เพื่อใช้ในการวางแผนการวิเคราะห์ และการแสดงผลที่ถูกต้องแม่นยำ โดยสามารถนำเอาผลลัพธ์ไปใช้ในการวางแผนและพัฒนาประเทศต่อไป ส่วนการรักษาระบบเอกชนจะดำเนินการดูแลรักษาให้เป็นระยะเวลา 1 ปี
ระบบดังกล่าวจะให้บริการแบบวันสตอปเชอร์วิสกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสามารถเข้าถึงข้อมูล Geospatial Portal ได้ตลอดเวลาแบบ 24 ชั่วโมง 7 วัน หรือ 24 X 7 ซึ่งทางกระทรวงไอซีทีมีแผนจะพัฒนาระบบนี้ให้เป็นระบบฐานข้อมูลของภาครัฐทั้งหมด เพื่อให้เกิดความง่ายและสะดวกในการนำข้อมูลไปใช้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง ขณะเดียวกันยังสามารถลำดับความสำคัญได้ด้วย เช่น การแก้ปัญหาภัยแล้ง สามารถรู้ได้ว่ามีพื้นที่ไหนบ้าง ต้องใช้งบเท่าไหร่ เป็นต้น
"ระบบนี้เราใช้มาตั้งแต่เดือนม.ค. ที่มีการนำไปใช้งานเกี่ยวกับภัยพิบัติสึนามิ แต่เซิร์ฟเวอร์มีขนาดใหญ่มาก เราจึงมีการพัฒนาให้เป็นระบบฐานข้อมูลของภาครัฐ"
นายกฯ จี้สมาร์ทการ์ด
นายสุวิทย์กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการบัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์หรือสมาร์ทการ์ดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้เร่งดำเนินการโครงการสมาร์ทการ์ด เนื่องจากโครงการมีความล่าช้าทั้งที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเรื่องดังกล่าวทางกระทรวงไอซีทีได้ให้คณะกรรมการตรวจรับบัตรสมาร์ทการ์ดไปดำเนินการตั้งแต่เดือน พ.ค. ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และจะมีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|