เยือนพระที่นั่งวิมานเมฆ


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

“รอบภาษาอังกฤษรออีก 15 นาทีครับ” คนเฝ้าประตูพิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆเอ่ยกับเพื่อนคนหนึ่งทำเอาเรา 3 คนฮาตึงก็จะอะไรซะอีก เขานึกว่าเพื่อนคนนั้นคือไกด์คนไทย ขณะที่เราอีก 2 คนหน้าตาบอกยี่ห้อว่าเชื้อสายจีนสนิทดังนั้นฟังคำบรรยายภาคภาษาอังกฤษอาจจะสะดวกกว่า

แต่ทันทีที่พวกเรากล่าวขอบคุณเขาพร้อมๆกัน เขาก็ถึงกับหัวเราะอย่างเก้อเขิน

“ที่นี่ไม่ค่อยมีคนไทยมาชมหรือคะ” เราเปิดฉากสนทนา “ครับมีบ้างแต่ชาวต่างประเทศก็เยอะ” เขาตอบรับ

ชาวต่างประเทศหลั่งไหลกันมาเที่ยวประเทศไทยปีละ 7-8 ล้านคนด้วยความชื่นชมในศิลปวัฒนธรรม โบราณสถานวัดวาอารามและธรรมชาติของประเทศเราหากมาถึงกรุงเทพฯแล้ว วัดพระศรีรัตนศาสดารามคงจะหนีไม่พ้นเพราะได้รับการยกย่องไปทั่วโลกว่ามีความสวยงามมาก หลังจบจากการเที่ยวชมวัดพระแก้วแล้ว พระที่นั่งวิมานเมฆจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่คนให้ความนิยมกันไม่น้อย

พระที่นั่งวิมานเมฆสร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราชที่ 2443 และใช้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวระหว่างปี พ.ศ.2444-2449

ด้วยความเป็นพระที่นั่งไม้สักทองหลังใหญ่ที่สุดในโลกมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ประณีตงดงามทั้งยังมีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์และศิลปวัตถุส่วนพระองค์อยู่จำนวนมากจึงได้มีการบูรณะซ่อมแซมขึ้นมาเพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ชมจำนวน 30 ห้องอันได้แก่ ห้องท้องพระโรง ห้องพระบรรทม ห้องสรงและห้องเครื่องเงินเป็นต้น

การเข้าชมจะมีรอบบรรยายภาษาไทยและภาษาอังกฤษสลับกันไป กล่าวคือรอบภาษาไทยจะมีขึ้นทุก ๆ 30 นาทีเริ่มตั้งแต่เวลา 9.30 จนถึง 15.00 น.ขณะที่รอบภาษาอังกฤษก็มีทุก ๆ 30 นาทีเช่นกันแต่จะเริ่มเวลา 9.45 น.ถึง 15.15 น.โดยเสียค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญท่านละ 50 บาทและเด็ก 20 บาท

หลังจากได้รับความรู้และชื่นชมความงามภายในพิพิธภัณฑ์เรียบร้อยแล้ว ทุกวันเวลา 10.30 น.และ 14.00 น.ที่บริเวณลานริมน้ำจะมีการแสดงรำไทยและกระบี่กระบอง เพื่อแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมไทยๆอีกด้วย

บริเวณรอบๆพระที่นั่งวิมานเมฆ นอกจากจะร่มรื่นเหมาะแก่การหย่อนใจแล้วยังมีตำหนักอีกหลายแห่งที่จัดแสดงศิลปวัตถุที่ได้รับทูลเกล้าฯ และจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ ภาพฝีพระหัตถ์ พระบรมฉายาลักษณ์ของ ร.5 พระรูปของพระบรมวงศานุวงศ์และพระสหาย คือตำหนักพระองค์เจ้าหญิงพวงสร้อยสอางค์ ตำหนักพระองค์เจ้าหญิงอรไทยเทพกัญญา ตำหนักกรมหลวงวรเสรฐสุดา ตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระตำหนักสวนหงส์และพิพิธภัณฑ์รถม้าพระที่นั่ง

ปัจจุบันพระที่นั่งแห่งนี้รองรับผู้เข้าชมในวันหยุดราชการวันละประมาณ 2,000 คนแต่สำหรับวันธรรมดาจะมีไม่ถึง 1,000 คนอย่างไรก็ตามผู้ที่มาเข้าชมส่วนใหญ่มักจะมาเป็นหมู่คณะและเป็นในลักษณะทัวร์มากกว่า

ในขณะที่ชาวต่างประเทศเข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อันทรงคุณค่าแห่งนี้มากมายอย่างสม่ำเสมอ คนไทยอย่างเราๆท่านๆยิ่งไม่ควรพลาด ใกล้ๆแค่นี้บนถนนราชวิถี หลังพระที่นั่นอนันตสมาคม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.