สถานะตลาดโลหะลอนดอนในอนาคตกาล


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

LONDON METAL EXCHANGE (LME) ตลาดโลหะแห่งลอนดอน ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อ 120 ปีที่แล้วและเป็นตลาดศูนย์กลางการซื้อขายโลหะที่ไม่มีส่วนผสมของเหล็ก (NON-FEROUS METAL) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หนึ่งในโลหะประเภทนี้ที่ซื้อขายกันที่นี่ก็คือทองแดง

เมื่อปีที่แล้ว มูลค่าการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า (FUTURE CONTRACTS) ทั้งโลหะประเภททองแดงและอื่นๆอีก 5 ชนิดคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 62.5 ล้านล้านบาท

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาเริ่มปรากฎการเก็งกำไรให้เห็นมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะในช่วงเวลานั้นตลาด LME ได้ยกฐานะตัวเองขึ้นเป็นตลาดระหว่างประเทศอย่างเต็มตัว ซึ่งจะเห็นได้จากสัดส่วนสมาชิกของตลาดที่เป็นบริษัทนอกเกาะอังกฤษถึง 9 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมด

ในปี 1985 ตลาดเริ่มสั่นคลอน เมื่อสมาชิกตลาดประสบภาวะขาดทุนจากการซื้อขายดีบุกเป็นเงินรวมกันถึง 780 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 19,500 ล้านบาท) โดยราคาดีบุกดิ่งลงอย่างรุนแรง จนเป็นผลให้ตลาดดีบุกต้องปิดตายลงจนถึงปี 1989

และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตลาดถูกเขย่าอีกรอบแต่ครั้งนี้เป็นทองแดง โดยเทรดเดอร์อาวุโสรายหนึ่งของบริษัทผู้ผลิตทองแดงยักษ์ใหญ่ของโลก โคเดลโค (CODELCO) เกิดขาดทุนจากการซื้อขายทองแดงที่ไม่ถูกต้องตามครรลอง (UNAUTHORIZED TRADE) เป็นเงินถึง 170 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4,250 ล้านบาท)

ในช่วงปี 1991 และ 1993 ตลาดได้ตรวจพบการทำธุรกรรมที่เข้าข่ายน่าสงสัยของเทรดเดอร์ของบริษัทซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ทว่า ไม่มีการดำเนินการใดๆเกิดขึ้น โดยทางการ LME กล่าวอ้างว่าได้ส่งเรื่องไปยังเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงแล้วซึ่งหลายฝ่ายได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการปัดความรับผิดชอบและยังเป็นการสร้างรอยด่างให้แก่ตลาดอีกด้วย

หลังเกิดเรื่องทาง LME ได้ปรับเพิ่ม INITIAL MARGIN พร้อมทั้งอนุญาตให้โบรกเกอร์รักษา POSITION ของตนเองด้วยการเรียก CALL MARGIN เพิ่มขึ้นได้ ขณะเดียวกันก็พุ่งเป้าไปที่สถาบันการเงิน เพื่อดูแลและควบคุมให้ตลาดทำงานไปได้อย่างราบรื่น ดังที่ ราจ บากรี (RAJ BAGRI) ประธานตลาด LME กล่าวไว้ว่า การหลีกเลี่ยงการหลอมละลายของตลาดเป็นเจตจำนงที่ต้องการให้ตลาดมีความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

ความพยายามนี้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เล่นในตลาดได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะมีหลายฝ่ายที่ยังเคลือบแคลงถึงอำนาจหน้าที่ของ LME ในการดูแลสอดส่องการซื้อขายในตลาดอย่างเมื่อไม่นานมานี้ ทางผู้บริหารระดับสูงของโคเดลโคได้ร้องเรียนว่า การที่ตลาดมีโครงสร้างหละหลวมได้กลายเป็นแรงจูงใจให้เทรดเดอร์คิดไม่ซื้อขึ้น แม้แต่บริษัทชิลีที่มีระบบการควบคุมภายในที่แน่นหนา ก็อาจจะมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเพราะมันอาจให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ามากกว่าด้านผู้ใช้อะลูมิเนียมก็หันมาพนันขันต่อราคาในตลาดโลหะที่มีผู้เล่นใหญ่ๆเพียงไม่กี่รายครอบงำตลาดอยู่ทำให้การสร้างราคาทำได้ง่ายยิ่งขึ้น

ตลาด LME ถึงคราวสั่นสะเทือนอีกครั้งเมื่อราคาทองแดงดิ่งลงอย่างไม่ลืมหูลืมตาหลังการเปิดโปงพฤติกรรมของยาสุโอะ ฮามานากะ หัวหน้าเทรดเดอร์ผู้ทรงอิทธิพลของซูมิโตโมที่ขาดทุนจากการซื้อขายทองแดงถึง 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 45,000 ล้านบาท) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาและเหตุการณ์ครั้งนี้ดูเหมือนจะรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาจนหลายฝ่ายวิตกว่า สถานะความเป็นสากลของตลาด LME อาจจะถึงกาลอวสานแล้ว

ปัจจุบัน LME กำลังค้นหาตัวเองภายใต้ขอบเขนกฎระเบียบที่มีอยู่อย่างจำกัด ในวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการการลงทุนและหลักทรัพย์ (SIB) ของอังกฤษ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลตลาดการเงินลอนดอน กล่าวว่าคณะกรรมการมีความตั้งใจที่จะทบทวนบทบาทของตลาด LME และตลาดโลหะทั่วไปตามคำเรียกร้องของประธานตลาด LME โดยจะมีการตรวจสอบในเรื่องกฎระเบียบและกระบวนการของตลาด ตลอดจนถึงวิธีการดูแลติดตามการซื้อขายในแต่ละวันของตลาด นอกจากนี้ยังจะเข้าไปดูเรื่องของกฎระเบียบการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าและสัญญาสิทธิโลหะ (METAL FUTURES & OPTIONS) รวมถึงการซื้อขายที่เกิดขึ้นนอกตลาดหรือตลาดโอทีซีด้วย และผลของการทบทวนนี้จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยตัดสินว่าตลาด LME จะรักษาสถานภาพความเป็นศูนย์กลางการซื้อขายโลหะของโลกไว้ได้ต่อไปหรือไม่

การดำเนินการครั้งนี้ SIB คาดว่าจะใช้ระยะเวลาเพียง 6 เดือนโดยจะมุ่งประเด็นไปที่คำถาม 2 ข้อด้วยกันคือ 1. ทำอย่างไรจึงจะให้การซื้อขายโปร่งใสมากขึ้น หนทางหนึ่งที่อาจจะเป็นไปได้ก็คือ อาจจะยกเลิกกฎระเบียบที่ให้มูลค่าของสัญญาเพิ่มขึ้นจากมูลค่าในอดีต แทนที่จะอิงมูลค่าตลาดปัจจุบันภายใต้เงื่อนไขบางประการ หรืออีกวิธีหนึ่งอาจจะบังคับให้สมาชิกของตลาดให้ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าของบริษัทให้มากขึ้น นอกเหนือจากนี้ LME ยังต้องพยายามเอาชนะด้วยการดึงธุรกิจที่กำลังออกนอกลู่นอกทางให้กลับเข้าสู่กรอบของตลาด เพราะนั่นจะทำให้การสอดส่องดูแลตลาดโดยรวมทำได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้สำเร็จได้ยาก

ส่วนคำถามที่ 2 นั้นจะมุ่งไปที่วิธีการพิจารณาพิพากษาของ LME ต่อบริษัทที่มิใช่สมาชิก เพราะหากมิใช่ LME แล้วใครจะเป็นผู้จับตาดูบริษัทที่ซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ซึ่งจดทะเบียนในตลาดและบริษัทเหล่านั้นยังมีพลังผลักดันให้ราคาเคลื่อนไหวได้ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นสมาชิกจดทะเบียนของตลาด? ซึ่งคำถามนี้ตอบได้ไม่ง่ายนัก

ในท้ายที่สุดแล้ว SIB จะต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นโดยจะต้องปรับปรุงความน่าเชื่อถือในตลาด ทว่ากฎระเบียบที่มากเกินไปอาจจะทำให้ธุรกิจหายไปจากตลาดลอนดอน “สิ่งที่เรากำลังมองอยู่ไม่ใช่การปฏิรูปแต่เป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้น” เดวิด คิง ผู้บริหารระดับสูงของ LME กล่าวสรุปปิดท้าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.