เกลียวหวาน


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

แล้วการเมืองไทยก็วนเวียนอยู่ในเกลียวเดิมอีกครั้ง

เป็นเกลียวหวาน !

หมุนได้คล่อง หมุนไปได้เรื่อยๆแต่ไม่เดินหน้าไปทางไหนทั้งนั้นไม่ว่าด้านซ้ายหรือด้านขวา ทำให้ผิดวัตถุประสงค์ของการทำเกลียว

ผมเขียนต้นฉบับชิ้นนี้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2539 เมื่อรู้ข่าวว่าพรรคพลังธรรมถอนตัวออกจากรัฐบาล

เหตุผล ?

ไม่มีอะไรมากหรอกนอกจากหวังคะแนนนิยมในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้

คะแนนนิยมจากคนกรุงเทพฯ

สถานการณ์การเมืองโดยรวมนั้น รัฐบาลภายใต้การนำของคุณบรรหาร ศิลปอาชาเริ่มไร้เสถียรภาพไม่ใช่จากการทำงานของฝ่ายค้าน หากแต่เป็นความแตกแยกกันเองภายในพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะจากความหวาดระแวงกันเองระหว่างคุณบรรหาร ศิลปอาชากับพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ความหงุดหงิดของพรรคนำไทยและคุณอำนวย วีรวรรณ

และโดยเฉพาะเกมรุกจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงกรณีการพิจารณาตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่

แม้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดวันที่ 13 สิงหาคม 2539 จะมีทางออกที่รักษาหน้ากันอยู่

แต่เป็นที่รู้กันว่าเกมรุกจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงจะต้องมีต่อเนื่อง

ในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 211

คุณบรรหาร ศิลปอาชาจะต้องเผชิญกับการถูกประณามหยามเหยียดในสภาผู้แทนราษฎร จากการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้าน ที่เลือกเปิดอภิปรายเฉพาะนายกรัฐมนตรีคนเดียว

การยุบสภาเห็นรำไรอยู่ข้างหน้า

ถ้าพรรคพลังธรรมร่วมหัวจมท้ายกับรัฐบาลต่อไป ถึงอย่างไรก็ต้องลงไปเลือกตั้งใหม่อยู่แล้ว แต่จะเสียเปรียบพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านมาก พรรคประชาธิปัตย์จะได้คะแนนนิยมจากคนกรุงเทพฯ ในฐานะที่ด่ารัฐบาลได้เจ็บได้สะใจ พรรคพลังธรรมซึ่งมีแต่ฐานอยู่ในกรุงเทพฯมีโอกาสจะสูญเสียฐานนั้นจนอาจเป็นพรรคต่ำสิบได้

ชิงถอนตัวรักษาคะแนนนิยมไว้ดีกว่า

เรื่องมีอยู่เท่านี้ !

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงนั้นไม่ได้เสียดายเก้าอี้ หวงตำแหน่งการที่ขัดแย้งกับรัฐบาลแล้วไม่ถอนตัวในทันทีก็เป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่ง ยุทธวิธีที่จะสร้างคะแนนนิยมในหมู่ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

พรรคนำไทยก็เช่นกัน

ร่ำๆจะถอนตัวตั้งแต่วันประชุมพรรคร่วมรัฐบาลวันที่ 11 สิงหาคม 2539 แล้วแต่ชั้นเชิงการฉวยโอกาสยังเป็นรองพรรคพลังธรรม

ในที่สุดบ้านเราก็คงจะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง

เป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีอะไรใหม่ เพราะยังคงอยู่ในกรอบเดิม กติกาเดิม นักการเมืองหน้าเดิมๆ ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเดิมบ้าง ย้ายพรรคบ้าง แต่หาได้มีนโยบายใหม่ที่สร้างสรรค์อะไรไม่ เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วเราก็จะมีการจัดตั้งรัฐบาลในรูปแบบเดิม

ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็เห็นๆกันอยู่

อาจเป็นพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

หรือกลับไปเป็นคุณชวน หลีกภัย

มีใครบอกความแตกต่างในการบริหารงานของแผ่นภายใต้ 2 ท่านนี้ได้บ้าง

มิไยที่จะมีข้อเรียกร้องให้ดำเนินการปฏิรูปการเมือง แต่รัฐบาลหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ทั้ง 2 ชุดไม่ได้ทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราวเลย นอกจากพูดแล้วก็ทะเลาะกัน ในการเลือกตั้งคราวนี้ก็หาได้มีพรรคการเมืองไหนกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมถึงการปฏิรูปการเมืองไม่ ในความคิดของพวกเขามีแต่ต้องการทำจำนวนที่นั่งให้ได้มากที่สุด คบคิดหารือจับกลุ่มกันเพื่อร่วมเป็นรัฐบาล แบ่งแยกจับจองกระทรวงทบวงกรมกันไว้ล่วงหน้า

แล้วเราก็จะเผชิญสถานการณ์อย่างเดิม

ทุกอย่างหมุนไป...หมุนไป...หมุนไป...

แต่สุดท้ายก็อยู่ที่เดิม

เพราะเกลียวมันหวาน !

ยังจะคงเป็นเช่นนี้เรื่อยไป...

หากเกลียวยังไม่ถูกทำลาย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.